กรมควบคุมโรคแนะ 4 วิธีง่ายๆ ไม่ให้โดนฟ้าผ่า

ขณะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่ ป้ายโฆษณา อาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิตได้ และไม่ควรออกจากบ้านขณะฝนตกฟ้าคะนอง อาจเสี่ยงโดนฟ้าผ่า http://winne.ws/n25870

1.8 พัน ผู้เข้าชม
กรมควบคุมโรคแนะ 4 วิธีง่ายๆ ไม่ให้โดนฟ้าผ่าภาพจาก www.pexels.com

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังขณะเกิดฝนตกและลมกระโชกแรง ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิตได้  นอกจากนี้  ขณะฝนตกฟ้าคะนอง ไม่ควรออกนอกบ้าน ซึ่งอาจเสี่ยงโดนฟ้าผ่าได้

          กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนสำหรับการป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า ดังนี้ 1.ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร และโทรศัพท์สาธารณะ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ ซึ่งเป็นสื่อนำไฟฟ้า

 2.ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ และไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรืออยู่ใกล้ประตู หน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า 

3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย และเกิดอันตรายขึ้นได้ 

 4.กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง ที่สำคัญอย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ

          สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าและผู้ประสบอุบัติเหตุ ต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุ และสถานที่เกิดเหตุ ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบช่วยชีวิตทันทีโดยการกดหน้าอกในตำแหน่งตรงกลางให้ได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ลึกลงไปอย่างน้อย 2 นิ้ว จนกว่าหัวใจจะเต้น คลำชีพจรได้ หรือจนกว่าจะมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาช่วย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ขอบคุณเนื้อหาจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

แชร์