สติมืดไป ใจก็มืดมัว

...คนเราถ้าควบคุมสติไว้ได้ เมื่อจะพูดจะทำอะไรก็อยู่ในร่องในรอย ไม่ผิดพลาดบกพร่อง ทำให้สำรวมระวังตัว ประพฤติตนได้สมฐานะ หากขาดสติ มีสติมืดบอดไป ก็หลงใหลเพ้อไปตามอารมณ์ เพราะใจขาดการควบคุม ใจจึงมืดมัว ... http://winne.ws/n25921

1.7 พัน ผู้เข้าชม

     สติ  เป็นคุณธรรมสำหรับรักษาตัว ช่วยให้รอดพ้นจากภัยอันตราย และความวิบัติทั้งปวง  ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า  สติเป็นธรรมมีอุปการะมาก

      สติ  หมายถึง  ความระลึกได้ ไม่เผลอไผล  ไม่หลงลืม  เป็นอาการที่ฉุกคิดขึ้นมาได้  ถึงสิ่งที่ทำถึงคำที่พูดไว้ก่อน  และสิ่งที่จะทำจะพูดต่อไป ตรงกันข้ามกับอาการที่เรียกว่าลืมนึกหรือเผลอไผล  เป็นธรรมสนับสนุนให้เกิดความตื่นตัว  กระตือรือร้น กระฉับกระเฉง  คอยกระตุ้นให้ไม่หลง  ไม่มัวเมา ไม่ยึดติด

สติมืดไป  ใจก็มืดมัว

สตินี้มีลักษณะที่สำคัญ  3 ประการ คือ

   -  ระลึกได้ก่อนที่จะทำ ก่อนที่จะพูด

   -  รู้จักยั้งคิด ไม่ผลีผลามทำหรือพูดไปโดยไม่ระวัง

   -  จดจำสิ่งที่ทำ คำที่พูดไว้แม้นานมาแล้วได้

     ดังนั้น  ท่านจึงกล่าวว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก  เป็นเหตุให้คนเราไม่เผอเรอ  ไม่หลงลืม และเป็นเหตุให้ทำอะไรไม่ผิดพลาด บกพร่อง  แม้จะผิดพลาดบกพร่องไปบ้างก็กลับได้สติ รู้ตัวว่าผิดพลาดไป ก็สามารถกลับตัวกลับใจเลิกละไม่ทำต่อได้

สติมืดไป  ใจก็มืดมัว

     คนเราถ้าควบคุมสติไว้ได้ เมื่อจะพูดจะทำอะไรก็อยู่ในร่องในรอย ไม่ผิดพลาดบกพร่อง ทำให้สำรวมระวังตัว ประพฤติตนได้สมฐานะ  หากขาดสติมีสติมืดบอดไป  ก็หลงใหลเพ้อไปตามอารมณ์  เพราะใจขาดการควบคุม  ใจจึงมืดมัว คิดอะไรก็ขัดสนไม่เป็นไปตามปกติ ทำอะไรพูดอะไรก็ผิดเพี้ยนจากปกติ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องโลกีย์  หากคุมสติไม่อยู่  ใจก็เตลิดมืดบอดไปตามครรลองโลกีย์  มืดมนไปตามครรลอง

                 ทำให้เสียงานเสียการ  เสียเวลา  เสียผู้เสียคนกันมามากแล้ว

       ยิ่งในเรื่องของกาม  เรื่องของกามารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจอ่อนไหวคล้อยตามได้ง่าย  หากขาดสติควบคุม  ปล่อยใจไปตามความต้องการ  ก็จะทำให้เสียหานถึงขั้นร้ายแรงได้

       ความมักมากในกามคุณ  ความไม่อิ่มในกามสังวาส  ไม่เลือกแม้ว่าผู้ที่ตนต้องการจะมีคู่ครองแล้ว  ถ้าเป็นไปด้วยขาดสติ  เป็นไปตามใจปรารถนา  ย่อมทำให้เร่าร้อนดิ้นรน  หาทางให้สมปรารถนา แม้จะต้องทำบาปกรรมรุนแรงอย่างไรก็ยอมทำอย่างหลงลืมสติ  ขอให้ตนสำเร็จสมหวังเป็นพอ....


-------------------------------

ส่วนหนึ่งของธรรมเทศนา พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี)

จากหนังสือ : อันเหลือเชื่อ

แชร์