คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ขอน้อมอาราธนาคำสอนจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าหรือพุทธโอษฐ์ อันล้ำค่าที่เป็นความจริงต่อสรรพสัตว์ทุกชีวิตในโลกนี้ ไม่ว่าจะท่านจะมีความเชื่อใด ก็สามารถศึกษาได้ http://winne.ws/n3230

4.8 พัน ผู้เข้าชม
คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำสอนจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า

การบูชาอันสูงสุด

      ๑. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง,ปฏิบัติ ตามธรรมอยู่;ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือบูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด. 

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘.

ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้คนนับถือ

         ๒. ภิกษุทั้งหลาย !  พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ มิใช่เพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือเพื่อค้านลัทธิอื่นใดให้ล้มลงไป และมิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้  ก็หามิได้. ภิกษุทั้งหลาย !  ที่แท้  พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสำรวม เพื่อละเพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทซึ่งทุกข์ แล.ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้คนนับถือ

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๓/๒๕.

คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คติ ๕ และอุปมาการไปเกิด

สารีบุตร ! คติ ๕ ประการเหล่านี้ มีอยู่. ๕ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-

         (๑) นรก                                     (๒) กำเนิดเดรัจฉาน

         (๓) เปรตวิสัย                          (๔) มนุษย์

         (๕) เทวดา

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งนรก ทางยังสัตว์ให้ถึงนรกและปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนรก

อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งกำเนิดเดรัจฉาน ทางยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดเดรัจฉาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดเดรัจฉาน

อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉานเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเปรตวิสัย ทางยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัยและปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย

อนึ่ง สัตว์ผู้ ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเหล่ามนุษย์ ทางยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก

อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมบังเกิดในหมู่มนุษย์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเทวดาทั้งหลาย ทางยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก

อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตกย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งนิพพาน ทางยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน

อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้า ถึงแล้ว แลอยู่ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้า:อุปมาการเห็นคติการไปเกิด

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่หลุมถ่านเพลิงนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้ทีเดียว”

โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โดยสมัยต่อมา เราได้เห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนหลุมคูถ ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อน แผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว กระหาย มุ่งมาสู่หลุมคูถนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมคูถนี้ทีเดียว” โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน โดยสมัยต่อมาเราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้ว ซึ่งกำเนิดเดรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันไม่เสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงาอันโปร่ง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียว” โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด

คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงเปรตวิสัย โดยสมัยต่อมาเราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่ง เปรตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันเสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงาหนาทึบลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผาเหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละโดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนี้ จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียว” โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด.

สารีบุตร !  เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักบังเกิดในหมู่มนุษย์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก บังเกิดแล้วในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนปราสาท ในปราสาทนั้นมีเรือนยอด ซึ่งฉาบทาแล้ว ทั้งภายในและภายนอก หาช่องลมมิได้ มีวงกรอบอันสนิท มีบานประตู และหน้าต่างอันปิดสนิทดี ในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาว ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยขนเจียมเป็นแผ่นทึบ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นในเบื้องบน มีหมอนแดงวาง ณ ข้างทั้งสอง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่ปราสาทนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงปราสาทนี้ทีเดียว” โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนบนบัลลังก์ในเรือนยอด ณ ปราสาทนั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.

สารีบุตร !  เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งสุคติโลกสวรรค์  เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนสระโบกขรณี มีน้ำอันเย็น ใสสะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้น มีแนวป่าอันทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่สระโบกขรณีนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึง สระโบกขรณี นี้ทีเดียว” โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาลงสู่สระโบกขรณีนั้น อาบและดื่ม ระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความร้อนหมดแล้ว ขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนว ป่านั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.

สารีบุตร !  เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุรุษนั้น กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว.

มู. ม. ๑๒/๑๔๗-๑๕๓/๑๗๐-๑๗๖.

คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทางนำไปสู่การเกิดในภพภูมิต่าง ๆ

1. คติ : ทางไปของสัตว์. (ที่นำไปสู่ภพ)

2. อบาย ทุคติ วินิบาต นรก : ที่เกิดของสัตว์ตํ่ากว่ามนุษย์.

        ท่านจงดูโลกนี้เถิด(จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลาย อันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว; และว่าสัตว์ผู้ยินดีในภพ อันเป็นแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้.ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง;ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.

        เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง อย่างนี้อยู่;เขาย่อมละภวตัณหาได้และไม่เพลิดเพลินซึ่งวิภวตัณหาด้วย.

        ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง นั้นคือ นิพพาน. ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น. 

ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำมารได้แล้วชนะสงครามแล้วก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้วเป็นผู้คงที่ ดังนี้แล.

บาลี อุ. ขุ. ๒๕/๑๒๑/๘๔.

คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นิวรณ์เป็นเครื่องทำกระแสจิตไม่ให้รวมกำลัง

         ภิกษุทั้งหลาย !  นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้วทำปัญญาให้ถอยกำลัง มีอยู่.  ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ?  ๕ อย่าง คือ: -

๑. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

๒. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

๓. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาซึมเซา) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

๔. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

๕. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา (ความลังเล, สงสัย) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ ถอยกำลัง.

ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่างๆ ไปได้ มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสกลางแม่น้ำนั้น ก็ซัดส่าย ไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆ ไปได้, นี้ฉันใด;

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑.

คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สิ่งที่ไม่ควรคิด

ภิกษุทั้งหลาย !  อจินไตย ๔ อย่างนี้ไม่ควรคิด
ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า 
ได้รับความลำบากเปล่า.

อจินไตย ๔ คืออะไรบ้างเล่า ?  คือ :-

๑. พุทธวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เป็นอจินไตยไม่ควรคิด 

ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า

ได้รับความลำบากเปล่า.

๒. ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า

ได้รับความลำบากเปล่า.

๓. วิบากแห่งกรรม เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า.

๔. โลกจินดา (ความคิดในเรื่องของโลก) เป็นอจินไตยไม่ควรคิดผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้าได้รับความลำบากเปล่า.

ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล อจินไตย ๔ ไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐๔/๗๗.

คำสอนล้ำค่าจากพระโอษฐ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สิ่งที่ใคร ๆ ในโลกไม่ได้ตามปรารถนา

ภิกษุทั้งหลาย !  ฐานะ ๕ ประการเหล่านี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้ตามปรารถนา ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ไม่อาจได้ตามปรารถนาว่า

(๑) สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่เลย 
(๒) สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้เลย 
(๓) สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตายเลย 
(๔) สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าสิ้นไปเลย 
(๕) สิ่งที่มีความวินาศเป็นธรรมดา อย่าวินาศเลย

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๙/๔๘.


อ้างอิงข้อมูลจาก:http://buddhaoat.blogspot.com/

ขอบคุณภาพจากwww.google.com

แชร์