เป็นหัวหน้าให้ได้ใจลูกน้องทำอย่างไร? หัวหน้า คือไคร ? ลูกน้อง คือใคร?

เป็นหัวหน้าให้ได้ใจลูกน้องทำอย่างไร? อยากรู้จัก.. หัวหน้ากับลูกน้อง นั้นสำคัญไฉน? หัวหน้า คือไคร ? ลูกน้อง คือใคร? http://winne.ws/n4715

3.9 พัน ผู้เข้าชม
เป็นหัวหน้าให้ได้ใจลูกน้องทำอย่างไร?  หัวหน้า คือไคร ? ลูกน้อง คือใคร?

หัวหน้าคืออะไร ลูกน้องคืออะไร เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็พูดได้และมักจะได้ยินการพูดถึงอยู่เสมอ เพราะที่ไหนมีองค์กร ที่ไหนมีบุคลากรประจำองค์กรแล้ว ที่นั่นก็จะมีหัวหน้า มีลูกน้อง ทั้งหัวหน้าและลูกน้องก็จะดำรงอยู่ประดุจดังเป็นเลือดเนื้อขององค์กร แต่ทว่าความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของหัวหน้าคืออะไร และลูกน้องคืออะไร ยังมีความลึกซึ้งและกว้างขวางอันควรแก่การทำความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติอยู่เป็นอันมาก

หัวหน้าก็คือ "หัว" กับ "หน้า"

              หัวคือการออกความคิด ใช้ความคิดสติปัญญาประกอบกับข้อมูลทั้งภายนอก ภายใน บรรดาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกลั่นกรองสังเคราะห์ วิเคราะห์เป็นระบบความคิด กำหนดเป็นเรื่องราวที่จะต้องมอบหมายให้คนอื่นทำหรือที่จะต้องทำเอง คนที่เป็นหัวหน้าจึงต้องใช้หัวและความสำคัญก็อยู่ที่การใช้หัวนี่เอง ดังนั้นจึงต้องทำให้หัวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความรู้ ข้อมูล และระบบการสังเคราะห์ วิเคราะห์ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน คนที่เป็นหัวหน้าไม่ว่าระดับไหน ๆ ก็ตามหากไม่มีหัวหรือใช้หัวไม่เป็นแล้ว คุณค่าที่แท้จริงก็ไม่ต่างอันใดกับหัวตอเท่านั้น

                 หน้าก็คือการนำหน้า การออกหน้า การก้าวออกไปยืนอยู่ในแนวหน้าสุดเพื่อนำพาผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้องให้ก้าวเดินไปพร้อมกัน หรือปฏิบัติการทั้งปวงไปตามจังหวะก้าวและท่วงทำนองตามภารกิจที่รับผิดชอบอย่างพร้อมเพรียงกัน มีความเป็นเอกภาพสอดคล้องรองรับกัน การออกหน้า การนำหน้า จึงต้องเปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบ เรื่องราวทุกเรื่อง การงานทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบแล้ว คนที่เป็นหัวหน้าต้องออกหน้า ต้องนำหน้า และต้องแสดงความรับผิดชอบ ทั้งต้องสำนึกว่าเป็นผู้รับผิดชอบเป็นคนที่หนึ่ง นำหน้าผู้ใต้บังคับบัญชาและลูกน้องในหน่วยงาน ไม่เกี่ยงหรือโบ้ยความผิดหรือความรับผิดชอบไปให้คนอื่น ไม่เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ลูกน้อง ทั้งต้องนำหน้าในชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องด้วย หัวหน้าที่ดีต้องนำพาลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาไปสู่ความอยู่ดีกินดีมีความสุข มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพพร้อม ๆ กัน เพราะคนนั้นมีใจ และใจคนก็ต้องการความมั่นคงในชีวิตการงาน หัวหน้าต้องเป็นหลักแห่งความมั่นคงและความมั่นใจของลูกน้อง ต้องรับผิดชอบในความมั่นคงในชีวิตการงานของลูกน้องอย่างเต็มเปี่ยมด้วย

ลูกน้องก็คือ "ลูก" กับ "น้อง"

                มีลูกก็ต้องทะนุถนอมกล่อมเลี้ยง ทำนุบำรุง เอาใจใส่อบรมบ่มเพาะ แนะนำหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องทำ มอบหมายอำนาจต่าง ๆ ที่พึงต้องมี อบรมสั่งสอนให้มีคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียรพยายามและมานะบากบั่นในการทำการทั้งปวงให้สำเร็จ อบรมบ่มเพาะให้มีน้ำจิตน้ำใจที่โอบอ้อมอารีแก่คนทั้งปวง มีความสง่าเปิดเผยพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นหัวหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งยังต้องติดตามตรวจสอบความประพฤติ ความเป็นอยู่ การปฏิบัติ ผลของการปฏิบัติ การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและประสบการณ์อย่างถูกต้องเป็นธรรมด้วย

               น้องก็คือผู้ที่ตามมา ผู้ที่ต้องได้รับมอบหมายหน้าที่ มีน้องก็ต้องมอบหมายสั่งงานและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนว่ามีหน้าที่อย่างไร เป้าหมายของภาระหน้าที่นั้นคืออะไร มีขอบเขตของการใช้อำนาจหน้าที่อย่างไร และต้องบรรลุภาระหน้าที่ในระยะเวลาและด้วยค่าใช้จ่ายอย่างไร ต้องกล้าลงโทษที่เที่ยงธรรม ต้องกล้าสั่ง กล้าสอน กล้าตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา อย่างเปิดเผย

                คนเป็นพ่อคนแม่คนต้องเอาใจใส่ทำนุบำรุงเลี้ยงลูกอย่างไร คนเป็นหัวหน้าก็ต้องดูแลเอาใจใส่ทำนุบำรุงลูกน้องอย่างนั้น

                คนเป็นพี่คนต้องมอบหมายนำพาน้องอย่างไร คนเป็นหัวหน้าก็ต้องเอาใจใส่มอบหมายหน้าที่และนำพาน้องอย่างนั้น

เป็นหัวหน้าให้ได้ใจลูกน้องทำอย่างไร?  หัวหน้า คือไคร ? ลูกน้อง คือใคร?

ปราชญ์ซุนหวู่กล่าวไว้ว่ามีลูกน้องที่เอาใจใส่ดูแลทำนุบำรุงเลี้ยงอย่างเต็มที่แล้วแต่ใช้ไม่ได้ก็ดี ใช้แล้วไม่เชื่อฟังก็ดี บิดเบือนขัดคำสั่งเป็นอาจิณก็ดี ลูกน้องเช่นนี้ต้องขจัดออกไปเสีย เพราะหากขืนเห็นแก่หน้าค่าตา เห็นแก่ความสัมพันธ์ส่วนตัว ปล่อยให้ดื้อรั้นขัดคำสั่งไม่เชื่อฟังก็ประดุจดั่งการบ่มเพาะสนิมขึ้นในเนื้อในเหล็ก ในที่สุดเหล็กก็จะผุทั้งอัน เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่นเอาเยี่ยงเอาอย่างตาม ในที่สุดการปกครองบังคับบัญชาดูแลก็จะเสื่อมสลายไป กลายเป็นอนาธิปไตย กลายเป็นไร้ประสิทธิภาพ และไม่มีพลานุภาพในการปฏิบัติตามภารกิจให้บรรลุผลได้เลย

                ลูกน้องที่เป็นทั้งลูกและน้องก็มีอยู่ ลูกน้องที่เป็นดังปราชญ์ซุนหวู่กล่าวก็มีอยู่ ดังนั้นคนเป็นหัวหน้าจึงต้องหมั่นใคร่ครวญ ตรวจสอบพินิจพิจารณาว่าลูกน้องคนใดเป็นคนแบบไหน

                คนเราทำผิดได้และดื้อรั้นได้ในบางครั้ง อาจบิดเบือนได้ในบางเรื่อง หรือขัดคำสั่งได้เป็นบางกรณี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติเป็นธรรมดาของการทำการงานร่วมกัน

                ดังนั้นผู้เป็นหัวหน้าจึงต้องตรึกพิจารณาให้ดีว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะครั้งเฉพาะคราวหรือเป็นอาจิณหรือเป็นอุปนิสัยถาวร ซึ่งเรียกว่าสันดานของคนผู้นั้น ดังนี้ก็จะจำแนกได้ว่าลูกน้องคนใดจะต้องรักษาพัฒนาต่อไป คนใดจะต้องกำจัดออกไป

                บางครั้งบางคราวคนเราอาจกระทำความผิด หรือขัดคำสั่ง หรือบิดเบือน หรือดื้อรั้น เหล่านี้ล้วนมีสาเหตุเป็นบ่อเกิดทั้งสิ้น จึงต้องดูที่สาเหตุว่าเป็นอย่างไร บางครั้งเมื่อทราบสาเหตุแล้วอาจเป็นเรื่องที่ต้องน่าเห็นใจและต้องให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือด้วยซ้ำไป หัวหน้าที่ปรีชาสามารถจึงต้องสันทัดในการค้นคว้าหาสาเหตุในกรณีมีปรากฏการณ์ทำความผิด ขัดคำสั่ง บิดเบือน หรือดื้อรั้นเกิดขึ้นกับลูกน้องของตน

                 ทั้งต้องเอาใจใส่ ช่วยเหลือขจัดต้นเหตุเหล่านั้น ต้องใช้ท่าทีรักษาโรคเพื่อช่วยคน ไม่ใช่ค้นคว้าหาเหตุเพื่อจับผิดหรือเพื่อการลงโทษทัณฑ์อย่างเดียว คนเราหากผ่านความผิดมาแล้ว กระจ่างแจ้งในสาเหตุแล้ว สำนึกผิดแล้ว ก็จะเป็นภูมิต้านทานไม่ให้เกิดความผิดซ้ำอีก นี่เป็นข้อดี และจะเป็นที่มาของการพัฒนาให้ก้าวรุดหน้าต่อไปอีกขั้นหนึ่ง

                หัวหน้าต้องทำความเข้าใจในภาระหน้าที่ ตลอดจนเป้าหมายของภาระหน้าที่และกรอบเวลาให้ลูกน้องเข้าใจอย่างชัดเจน หากมอบหมายชัดเจนแล้วแต่ทำไม่ได้หรือไม่ทำ เป็นความผิดของลูกน้อง ที่ต้องพิจารณาใคร่ครวญจัดการแก้ไขหรือขจัดออกไป แต่ก็ต้องมีความเป็นธรรมเที่ยงตรงต่อตนเอง เพราะหากการมอบหมายหน้าที่ไม่มีความชัดเจน มีความคลุมเครือ หรือพ้นวิสัยที่จะทำได้ย่อมเป็นความผิดของหัวหน้าที่หัวหน้าต้องปรับปรุงแก้ไข

                ดังนั้นเรื่องไหนเป็นความผิดของหัวหน้า หัวหน้าต้องแก้ไข เรื่องไหนเป็นความผิดของลูกน้อง ลูกน้องต้องปรับปรุง และหัวหน้าต้องนำพาในการปรับปรุงแก้ไขนั้น

ที่มา http://www.dst.co.th/หัวหน้ากับลูกน้อง

ขอบคุณภาพ จากwww.google.com

แชร์