"ธิดาช่างหูก" คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย

คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย ความพิสดารว่า "ท่านทั้งหลาย จงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า 'ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้, ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง, ความตายเที่ยง’ http://winne.ws/n5544

784 ผู้เข้าชม
"ธิดาช่างหูก" คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย

"ธิดาช่างหูก" คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในเจดีย์ชื่อว่าอัคคาฬวะ ทรงปรารภธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อนฺธภูโต อยํ โลโก" เป็นต้น.

               คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย ความพิสดารว่า วันหนึ่ง พวกชาวเมืองอาฬวี เมื่อพระศาสดาเสด็จถึงเมืองอาฬวีแล้ว ได้ทูลนิมนต์ถวายทานแล้ว.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตกิจ จึงตรัสว่า

              "ท่านทั้งหลาย จงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า 'ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้, ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง, ความตายเที่ยง’

               ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว, ในกาลที่สุด ชนทั้งหลายนั้นย่อมถึงความสะดุ้ง ร้องอย่างขลาดกลัวอยู่ทำกาละ เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัว ฉะนั้น.

               ส่วนมรณะอันชนทั้งหลายใดเจริญแล้ว ชนทั้งหลายนั้นย่อมไม่สะดุ้งในกาลที่สุด ดุจบุรุษเห็นอสรพิษแต่ไกลเทียว แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้น มรณสติอันท่านทั้งหลายพึงเจริญ."

               พระศาสดาเสด็จประทานโอวาทธิดาช่างหูก พวกชนที่เหลือฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ได้เป็นผู้ขวนขวายในกิจของตนอย่างเดียว. ส่วนธิดาของนายช่างหูกอายุ ๑๖ ปีคนหนึ่ง คิดว่า "โอ ธรรมดาถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอัศจรรย์, เราเจริญมรณสติจึงควร" ดังนี้แล้ว ก็เจริญมรณสติอย่างเดียวตลอดทั้งกลางวันกลางคืน.

               ฝ่ายพระศาสดาเสด็จออกจากเมืองอาฬวีแล้ว ก็ได้เสด็จไปพระเชตวัน.

               นางกุมาริกาแม้นั้น ก็เจริญมรณสติสิ้น ๓ ปีทีเดียว.

               ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ในเวลาใกล้รุ่งทรงเห็นนางกุมาริกานั้น เข้าไปในภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า "เหตุอะไรหนอ? จักมี" ทรงทราบว่า "นางกุมาริกานี้เจริญมรณสติแล้วสิ้น ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ฟังธรรมเทศนาของเรา บัดนี้ เราไปในที่นั้นแล้ว ถามปัญหา ๔ ข้อกะนางกุมาริกานี้ เมื่อนางแก้ปัญหาอยู่ จักให้สาธุการในฐานะ ๔ แล้วภาษิตคาถานี้ ในเวลาจบคาถา นางกุมาริกานั้นจักตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เพราะอาศัยนางกุมาริกานั้น เทศนาจักมีประโยชน์แม้แก่มหาชน"

               ดังนี้แล้ว มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร ได้เสด็จออกจากพระเชตวัน ไปสู่อัคคาฬววิหารโดยลำดับ. ชาวเมืองอาฬวีทราบว่า "พระศาสดาเสด็จมาแล้ว" จึงไปวิหาร ทูลนิมนต์แล้ว. แม้นางกุมาริกานั้นทราบการเสด็จมาของพระศาสดา มีใจยินดีว่า "ข่าวว่า พระมหาโคดมพุทธเจ้าผู้พระบิดา ผู้เป็นใหญ่ เป็นพระอาจารย์ ผู้มีพระพักตร์ดังพระจันทร์เพ็ญของเราเสด็จมาแล้ว" จึงคิดว่า "พระศาสดาผู้มีวรรณะดังทองคำ อันเราเคยเห็น ในที่สุด ๓ ปี แต่วันนี้ บัดนี้ เราจักได้เห็นพระสรีระซึ่งมีวรรณะดังทองคำ และฟังธรรมอันเป็นโอวาท ซึ่งมีโอชะอันไพเราะ (จับใจ) ของพระศาสดานั้น."             

"ธิดาช่างหูก" คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย

พระศาสดาตรัสถามปัญหากะธิดาช่างหูก ในขณะที่นางกุมาริกานั้นถวายบังคมพระศาสดาผู้ประทับนั่งนิ่งในท่ามกลางบริษัทเห็นปานนั้นแล้ว ยืนอยู่นั่นแล พระศาสดาตรัสกะนางว่า "กุมาริกา เธอมาจากไหน?"

               กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

               พระศาสดา. เธอจักไป ณ ที่ไหน?

               กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

               พระศาสดา. เธอไม่ทราบหรือ?

               กุมาริกา. ทราบ พระเจ้าข้า.

               พระศาสดา. เธอทราบหรือ?

               กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

               พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อกะนางกุมาริกานั้น ด้วยประการฉะนี้.

               มหาชนโพนทะนาว่า "ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดู ธิดาของช่างหูกนี้พูดคำอันตนปรารถนาแล้วๆ กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ‘เธอมาจากไหน?’ ธิดาของช่างหูกนี้ควรพูดว่า ‘จากเรือนของช่างหูก’ เมื่อตรัสว่า ‘เธอจะไปไหน ?’ ก็ควรกล่าวว่า ‘ไปโรงของช่างหูก’ มิใช่หรือ?"

               พระศาสดาทรงกระทำมหาชนให้เงียบเสียงแล้ว ตรัสถามว่า "กุมาริกา เธอ เมื่อเรากล่าวว่า ‘มาจากไหน?’ เพราะเหตุไร เธอจึงตอบว่า ‘ไม่ทราบ’".

               กุมาริกา. "พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบความที่หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก แต่พระองค์ เมื่อตรัสถามว่า ‘เธอมาจากไหน?’ ย่อมตรัสถามว่า ‘เธอมาจากที่ไหน จึงเกิดแล้วในที่นี้?’ แต่หม่อมฉันย่อมไม่ทราบว่า ‘ก็เรามาแล้วจากไหน จึงเกิดในที่นี้?"

               ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการเป็นครั้งแรกแก่นางกุมาริกานั้นว่า "ดีละ ดีละ กุมาริกา ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล อันเธอแก้ได้แล้ว" แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เธอ อันเราถามแล้วว่า ‘เธอจะไป ณ ที่ไหน?’ เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า ‘ไม่ทราบ?’"

               กุมาริกา. "พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบหม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอดเดินไปยังโรงของช่างหูก, พระองค์ย่อมตรัสถามว่า ‘ก็เธอไปจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในที่ไหน?’ ก็หม่อมฉันจุติจากโลกนี้แล้วย่อมไม่ทราบว่า ‘จักไปเกิดในที่ไหน?’"

               ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๒ ว่า "ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว" แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เมื่อเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘ไม่ทราบหรือ?’ เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า ‘ทราบ?’"

               กุมาริกา. พระเจ้าข้า หม่อมฉันย่อมทราบภาวะคือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น เหตุนั้น จึงกราบทูลอย่างนั้น.

               ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๓ ว่า "ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว" แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘เธอย่อมทราบหรือ?’ เพราะเหตุไร จึงพูดว่า ‘ไม่ทราบ?’"

               กุมาริกา. หม่อมฉันย่อมทราบแต่ภาวะ คือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น พระเจ้าข้า แต่ย่อมไม่ทราบว่า "จักตายในเวลากลางคืน กลางวันหรือเวลาเช้าเป็นต้น ในกาลชื่อโน้น เพราะเหตุนั้น จึงพูดอย่างนั้น."

               คนมีปัญญาชื่อว่ามีจักษุ ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการครั้งที่ ๔ แก่นางว่า

               "ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว" แล้วตรัสเตือนบริษัทว่า "พวกท่านย่อมไม่ทราบถ้อยคำชื่อมีประมาณเท่านี้ ที่นางกุมาริกานี้กล่าวแล้ว ย่อมโพนทะนาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจักษุ คือปัญญาของชนเหล่าใดไม่มี ชนเหล่านั้นเป็น (ดุจ) คนบอดทีเดียว จักษุ คือปัญญาของชนเหล่าใดมีอยู่ ชนเหล่านั้นนั่นแล เป็นผู้มีจักษุ"

               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

                         อนฺธภูโต อยํ โลโก    ตนุเกตฺถ วิปสฺสติ
                         สกุนฺโต๑- ชาลมุตฺโตว   อปฺโป สคฺคาย คจฺฉติ.

                         สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนตาบอด ในโลกนี้
                         น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง, น้อยคนนักจะไปสวรรค์
                         เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (มีน้อย) ฉะนั้น.

ที่มา:http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=23&p=7

ขอบคุณภาพจากgoogle.com

แชร์