ปิดเทอมแล้ว !!! เชิญชวนเด็กชายไทยไปบวชสามเณรด้วยกัน

ขอเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศมาร่วมกิจกรรมบวชทำความดีเป็นพุทธบูชาในโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี http://winne.ws/n854

1.8 พัน ผู้เข้าชม
ปิดเทอมแล้ว !!! เชิญชวนเด็กชายไทยไปบวชสามเณรด้วยกัน

จากหนังสือ “ด้วยรักและศรัทธา จากเด็กและเยาวชน” ของกรมการศาสนา ได้ระบุไว้ว่า พุทธศาสนิกชนถือว่า การบรรพชาอุปสมบทเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบุพการีและผู้มีพระคุณอย่างสูง และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน จนกลายเป็นวิถีชีวิตและประเพณีอันดีงามของชนชาติไทย ผู้ที่เข้าบรรพชาอุปสมบทจะได้รับการศึกษาและฝึกฝนอบรมตนเองตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม เพิ่มพูนสติปัญญา สร้างจิตสำนึกค่านิยมที่ถูกต้อง ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม นำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ยั่งยืนสืบไป

            การบรรพชา เป็นสามเณรมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสให้พระสารีบุตรบรรพชาให้แก่สามเณร “ราหุล” ผู้เป็นพุทธบุตร นับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และถือเป็นประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่บิดามารดานำบุตรหลานที่เป็นชายและมีอายุยังไม่ถึงเบญจเพส คือ 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปรับการบรรพชาเป็นสามเณร เพื่อเล่าเรียนเขียนอ่านตำรับตำราจากวัดมาแต่โบราณ ดังนั้นวัดจึงเป็นทั้งบ้าน โรงเรียน และศูนย์ฝึกหัดฝีมือทุกแขนง ส่วนการอุปสมบท การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะอุปสมบทคือ ต้องเป็นชายมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

            การบวชศีลจาริณี คือ การที่สุภาพสตรีปฏิบัติธรรม รักษากาย วาจา ใจ ให้ทำดี พูดดี คิดดี ชำระจิตใจให้แช่มชื่นเบิกบาน ด้วยการรักษาศีล 8 โดยต้องมีความพร้อมทั้งภายนอก คือ การวางภาระความรับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว หมดความห่วง ลดความวิตกอันเป็นอุปสรรคต่อการถือศีล และการพร้อมภายใน คือ สภาพจิตใจควรประกอบด้วยกุศลฉันทะหรือเจตนาอันเป็นมหากุศลเพื่อบำเพ็ญบุญหนุนชีวิตให้พบกับความสงบสุข

            ในช่วงปิดเทอมนี้ จึงขอเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศมาร่วมกิจกรรมบวชทำความดีเป็นพุทธบูชา สืบทอดพระพุทธศาสนา ในโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม โทร.0-2422 8793 หรือสำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด

ขอบคุณแหล่งข่าว คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160324/224634.html

แชร์