กาลเวลา สงไขย อสงไขย มหากัปป์

พระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาถึง ๒๐ อสงไขย์ หนึ่งแสนมหากัป จำเดิมแต่ดำริเป็นพระพุทธเจ้า จนถึง ๔ อสงไขย หนึ่งแสนมหากัปสุดท้ายที่เป็นสุเมธดาบส ความคิดในเรื่องกาลเวลาของโลกได้มีกล่าวในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นแรก ก็มี http://winne.ws/n12230

4.9 พัน ผู้เข้าชม
กาลเวลา สงไขย อสงไขย มหากัปป์

         เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ และพระโพธิสัตว์ ก็ควรกล่าวถึงเรื่องกาลเวลา      กัปหรือกัลป์ เพราะพระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาถึง ๒๐ อสงไขย์ หนึ่งแสนมหากัป จำเดิมแต่ดำริเป็นพระพุทธเจ้า จนถึง ๔ อสงไขย หนึ่งแสนมหากัปสุดท้ายที่เป็นสุเมธดาบส ความคิดในเรื่องกาลเวลาของโลกได้มีกล่าวในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นแรก ก็มี ชั้นหลังก็มี ซึ่งความคิดในเรื่องวิธีหมายรู้ในเรื่องกาลเวลานี้น่าจะสรุปได้เป็น ๒ วีธี คือ

๑. นับด้วยจำนวนสังขยา หรือนับด้วยตัวเลข เช่น ๑..๒..๓...

๒. กำหนดด้วยอุปมา หรือด้วยเครื่องกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งในเมื่อมากเกินไปที่จะนับด้วยสังขยาหรือตัวเลข

        การกำหนดดังกล่าวดังวิธีที่ ๒ นี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า กัป หรือ กัปปะ ในภาษามคธ หรือ กัลป์ ในภาษาสันสกฤต เพราะคำนี้แปลอย่างหนึ่งว่า กำหนด หรือ สมควร ดังนั้นในความหมายนี้ กัป หรือ กัลป์ คือ กำหนดอายุของโลก หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่กำเนิดของโลกจนโลกสลาย ซึ่งกัปหรือกัลป์ที่ยาวจนนับจำนวนไม่ได้นี้เรียกว่า มหากัป และอายุของกัปแต่ละกัปที่ล่วงไปจนนับไม่ได้ว่าเวลาล่วงเลยมาแล้วกี่กัปนี้รวมเรียกกัปที่นับไม่ได้นั้นว่า อสงไขย ซึ่งแปลว่า นับไม่ถ้วน

เรื่องอสงไขย

        กาลเวลาที่เรียกว่า “อสงไขย” แปลว่า นับไม่ได้ คือ ไม่สามารถที่จะนับเวลานั้นออกมาเป็นจำนวนกี่เดือน กี่ปี จึงจะเรียกได้ว่า อสงไขย โดยได้มีคำอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า

         “ฝนตกใหญ่มโหฬารทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลานานถึง ๓ ปีติดต่อกันมิได้หยุด มิได้ขาดสายเม็ดฝนจนน้ำฝนเจิ่งนองท่วมท้นเต็มขอบเขาจักรวาล อันมีระดับความสูงได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ และถ้าสามารถนับเม็ดฝน และหยาดแห่งเม็ดฝน ที่กระจายเป็นฟองฝอยใหญ่น้อย ในขณะที่ฝนตกใหญ่ ๓ ปีติดต่อกันนั้น นับได้จำนวนเท่าใด อสงไขยหนึ่งเป็นจำนวนปีเท่ากับเม็ดฝนและหยาดแห่งเม็ดฝนที่นับได้นั้น”

เรื่องมหากัป

        กาลเวลาที่เรียกว่า “มหากัป” คือ ไม่สามารถที่จะนับเวลานั้นออกมาเป็นจำนวนกี่เดือน กี่ปี โดยได้มีคำอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า

          “มีกล่องแก้วอยู่กล่องหนึ่ง มีความกว้าง ความยาว ความสูงหรือความลึกประมาณ ๑ โยชน์ ซึ่ง ๑ โยชน์ ยาวเท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร และพอถึงกำหนด ๑๐๐ ปี ปรากฏว่ามีเทพยดาองค์หนึ่ง  นำเมล็ดถั่วเขียวมาหยอดวางลงในกล่องแก้วนี้หนึ่งเมล็ดแล้วก็กลับไปเสวยทิพยสมบัติอยู่บนสวรรค์อีก ๑๐๐ ปี และเมื่อครบกำหนด ๑๐๐ ปีนั้นก็กลับลงมาเพื่อวางเมล็ดถั่วเขียวลงในกล่องแก้วนั้นอีกหนึ่งเมล็ด เวียนไปมาอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบจนเมื่อสามารถวางเมล็ดถั่วเขียวให้เต็มกล่องแก้วนั้นแล้ว ใช้เวลาในการวางเมล็ดถั่วเขียวจนกว่าจะเต็มนั้นนานเท่าใดนั่นจึงเป็นเวลาเท่ากับหนึ่งมหากัป”

อันตรกัป

         เวลาที่เรียกว่า "อันตรกัป" นี้ เป็นเวลาที่ใช้เรียกอายุของมนุษย์ในหนึ่งรอบอสงไขยปี ซึ่งพอจะอธิบายได้ดังนี้คือ

        เมื่อเริ่มแรกกาลนานนั้น อายุของมนุษย์บนโลกนี้มิได้มีอายุเพียงแค่ ๗๐-๘๐ ปีดังที่เข้าใจกัน แต่มนุษย์มีอายุยาวนานนับเป็น “อสงไขยปี” ซึ่งจำนวนอสงไขยปีนี้นั้น ท่านให้เอาเลข ๑ นำหน้า แล้วนำเลข - 0 - ใส่ตามหลังเลขหนึ่งนั้นจำนวนทั้งสิ้น ๑๔๐ ตัว เช่น :- ๑,๐๐๐, ๐๐๐,๐๐ ไปเรื่อย ๆ จนครบจำนวนศูนย์ ๑๔๐ ตัว จำนวนเท่าที่ได้นั้นนับเป็น “อสงไขยปี”

          “อสงไขยปี” เป็นอายุของมนุษย์โดยอนุมานเป็นสมัยเริ่มแรก และอายุที่ยืนยาวมากมายนี้ก็ค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย โดยหนึ่งร้อยปีจะลดลงหนึ่งปีเรื่อยมา ดังจะเห็นตัวอย่าง เช่น ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น อายุของมนุษย์มีประมาณ ๑๐๐ ปี             (ดูข้อมูลที่หัวข้อ ๕ “ปัญจมหาวิโลกนะ” ได้แก่การพิจารณาถึงสิ่งสำคัญ ๕ ประการ หรือ กาลสมัยอันสมควรทั้ง ๕ ประการ ที่ทรงเลือกก่อนการเสด็จลงมาตรัสรู้ หนึ่งในประการที่ทรงเลือกคือ อายุของมนุษย์ที่มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี) และตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตราบเท่ามาถึงปัจจุบันนี้ ระยะเวลาล่วงมาได้เป็นปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ พรรษา หรือประมาณ ๒,๕๐๐ ปีล่วงมานี้ หนึ่งร้อยปีลดลงหนึ่งปี จำนวนสองพันห้าร้อยปีก็ลดลงเท่ากับ ๒๕ ปี ในปัจจุบันอายุของมนุษย์จึงเฉลี่ยโดยประมาณที่ ๑๐๐ หักออกเสีย ๒๕ เท่ากับ ๗๕ ปี อายุของมนุษย์จะลดลงจนที่สุดอยู่ที่ ๑๐ ปี และหลังจากนั้นอายุมนุษย์ก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยหนึ่งร้อยปีเพิ่มขึ้นหนึ่งปีดังที่ลดลง จนกระทั่งมนุษย์มีอายุยืนนานถึง “อสงไขยปี” อีกตามเดิม เวลาหนึ่งรอบอสงไขยปีนี้ เรียกว่าเป็น “หนึ่งอันตรกัป”

อสงไขยกัป

       เมื่อนับจำนวนอันตรกัปตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จนครบ ๖๔ อันตรกัปแล้ว จึงเรียกว่าเป็น     หนึ่ง “อสงไขย” ซึ่งอสงไขยกัปนี้มีอยู่ ๔ ชนิดอสงไขยกัป ดังนี้คือ

๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเสื่อม คือเป็นอสงไขยกัปที่เกิดขึ้นในขณะที่โลกถูกทำลาย ดังคำว่า สงฺวฏฺฏตีติ สงฺวฏโฏ หมายถึงกัปที่กำลังพินาศอยู่เรียกว่า สังวัฏฏอสงไขยกัป

๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปที่ตั้งอยู่เนื่องด้วยกัปเสื่อม คือเป็นอสงไขยกัปที่เกิดขึ้นเมื่อโลกถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว ดังคำว่า สงฺวฏฺโฎ หุตวา ติฎฺฐตีติ สงฺวฏฺฐายี หมายถึงกัปที่มีแต่ความพินาศตั้งอยู่ เรียกว่า สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป

๓. วิวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเจริญ คือเป็นอสงไขยกัปที่เกิดขึ้นในเวลาที่โลกพัฒนาเข้าสู่ภาวะปกติ ดังคำว่า วิวฏฺฏตีติ วิวฏฏฺโฏ หมายถึง กัปที่กำลังเริ่มเจริญขึ้นเรียกว่า “วิวัฏฏอสงไขยกัป”

๔. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปที่ตั้งอยู่เนื่องด้วยความเจริญ คือเป็นอสงไขยกัปที่ปรากฏขึ้นในเวลาที่โลกเจริญขึ้นพัฒนาเรียบร้อยเป็นปกติตามเดิมแล้ว ดังคำว่า วิวฏฺโฏ หุตฺวา ติฎฺฐตีติ วิวฏฺฏฐายี หมายถึงกัปที่เจริญขึ้นพร้อมแล้วทุกอย่างตั้งอยู่ตามปกติ เรียกว่า “วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป”

ในกัปย่อยทั้ง ๔ กัปนี้จะกล่าวถึงกัปเสื่อมก่อน หมายความว่าเป็นระยะเวลาที่ โลกวินาศ คือ สลายหรือดับ ความวินาศของโลกมี ๓ อย่าง คือ

-  อาโปสังวัฏฏะ วินาศเพราะน้ำ

-  เตโชสังวัฏฏะ วินาศเพราะไฟ

-  วาโยสังวัฏฏะ วินาศเพราะลม

        อธิบายตามคติเก่าแก่นั้นว่า เมื่อโลกวินาศเพราะไฟ จะเกิด มหาเมฆกัปวิลาศ คือ ฝนตกใหญ่ทั่วโลกก่อน ครั้นฝนนั้นหยุดแล้วจะไม่มีฝนตกอีก จะเกิดความแห้งแล้งไปโดยลำดับ จะมีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏขึ้น จนถึงดวงที่ ๗ จึงจะเกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น อากาศเบื้องบนจะเป็นอันเดียวกับอากาศเบื้องล่าง หมายความว่า เหลือแต่อากาศว่างเปล่า มีความืดมิดทั่วไป ครั้นแล้ว มหาเมฆกัปสมบัติ (การก่อเกิดกัปใหม่) จะตั้งขึ้น ฝนจะตกลงทั่วในที่เกิดไฟไหม้ ลมจะประคองรวมน้ำฝนให้รวมกันเป็นก้อนกลม เหมือนหยาดน้ำบนใบบัวแล้วก็แห้งขอดลงไป ปรากฏโลกขึ้นใหม่ จึงถึงวาระที่เรียกว่ากัปเจริญ สัตว์ที่บังเกิดขึ้นเป็นพวกแรกนั้นเป็นพวกพรหมในพรหมโลกชั้นที่ไฟไหม้ขึ้นไปไม่ถึง ลงมาจุติหรือเกิดเป็นพวก อุปปาติกะ แปลว่า ลอยเกิด ผุดเกิด มิได้เกิดจากครรภ์หรือในครรภ์ แต่ว่าผุดเกิดขึ้นมาในอากาศ เป็นตัวตนใหญ่โตปรากฏขึ้น แล้วพากันบริโภคง้วนดิน หรือ ปฐวิรส คือ เมื่อน้ำแห้งขอด ก็เกิดเป็นแผ่นฟ้าขึ้นในเบื้องบน มีสีงาม มีรสหอมหวาน,สะเก็ดดิน หรือ ปฐวีปัปปฏก, เครือดิน หรือ ปทาลตา หมดไปโดยลำดับ จากนั้นจึงบริโภคธัญชาติ เป็นต้นว่า ข้าวสาลีสืบต่อมา สัตว์โลกจำพวกแรกจึงมีร่างกายหยายขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏเป็นบุรุษสตรีสร้างบ้านเรือนสืบพันธุ์กันมา ในชั้นแรกมีอายุยืนยาวเป็นอสงไขย ต่อมาพากันประพฤติอกุศลกรรม ด้วยอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ มากขึ้น อายุก็ลดน้อยถอยลงโดยลำดับจนถึง ๑๐ ปี ก็พากันถึงความพินาศเป็นส่วนมาก เพราะภัย ๓ อย่าง คือ ศัสตราวุธ โรค ทุพภิกขภัยคือความขาดแคลนอาหาร เรียกว่าถึงสมัย มิคสัญญี แปลว่า มีความสำคัญในกันและกันเหมือนอย่างเนื้อ คือ เห็นกันฆ่ากันเหมือนอย่างเนื้อถึก แต่ก็ยังไม่พินาศกันหมดทั้งโลก ยังมีสัตว์ที่เหลือตายหลบหลีกไปและกลับได้รับความสังเวชสลดทางจิต พากันประพฤติกุศลกรรมมากขึ้น ก็พากันเจริญอายุมากขึ้นด้วยอำนาจกุศลโดยลำดับจนถึงอสงไขย แล้วกลับอายุถอยลงมาด้วยอำนาจกุศลกรรมอีกครั้งหนึ่ง

         เมื่อเป็นดังนี้จะเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน จะมีชีวิตอยู่ได้ก็เฉพาะตอนที่เป็นกัปสุดท้าย คือ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป หรือ กัปที่ปกติ เจริญแล้วเท่านั้น เพราะกัปอื่น ๆ นั้น สรรพสัตว์ทั้งมวลไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งนี้ก็เนื่องด้วย เป็นกัปที่โลกถูกทำลาย และยังคุกกรุ่นอยู่ด้วยความไม่ปกติ เช่น มีความร้อน มีอุณหภูมิสูง น้ำท่วม หรือแห้งแล้งหนัก

         กล่าวถึงการกำหนดนับในพุทธวงศ์ (ขุ.พุทฺธ.๓๓/๕๔๖/๒๗.) พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑ ถึง ๔ อุบัติในกัปหนึ่ง องค์ที่ ๕ อุบัติในอีกกัปหนึ่ง แต่ในระหว่างองค์ที่ ๔ ถึงองค์ที่ ๕ มีระยะห่างกันมากจนนับกัปไม่ถ้วน(เป็นอสงไขยที่ ๑) พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๖-๗-๘-๙ อุบัติอีกกัปหนึ่ง แต่ระหว่างองค์ที่ ๕ ต่อองค์ที่ ๖ นี้มีระยะห่างเป็นอสงไขที่ ๒ องค์ที่ ๑๐-๑๑-๑๒ อุบัติอีกกัปหนึ่ง ระยะเวลาห่างระหว่างองค์ที่ ๙ ต่อองค์ที่ ๑๐ เป็นอสงไขยที่ ๓ องค์ที่ ๑๓ อุบัติอีกกัปหนึ่ง ระยะเวลาห่างระหว่างองค์ที่ ๑๒ ต่อองค์ที่ ๑๓ เป็นอสงไขที่ ๔

         นับตั้งแต่องค์ที่ ๑๓ นั้น มาจนถึงปัจจุบัน หรือว่านับตั้งแต่ภัททกัปในปุจจุบันนี้ย้อนไปจนถึงองค์ที่ ๑๓ อุบัติรวมได้แสนกัป องค์ที่ ๑๓ องค์เดียวอุบัติในกัปนั้น ย้อนกลับไปสามหมื่นกัปองค์ที่ ๑๔-๑๕ อุบัติ ย้อนไปหนึ่งหมื่นแปดพันกัปองค์ที่ ๑๖-๑๗-๑๘ อุบัติ ย้อนไปอีกเก้าสิบสี่กัปองค์ที่ ๑๙ อุบัติ ย้อนไปเก้าสิบสองกัปองค์ที่ ๒๐-๒๑ อุบัติ ย้อนไปเก้าสิบเอ็ดกัป องค์ที่ ๒๒ อุบัติคือพระพุทธเจ้าวิปัสสี ย้อนกลับไปสามสิบเอ็ดกัปองค์ที่ ๒๓-๒๔ อุบัติ

          ต่อจากนั้นก็มาถึง ภัทรกัป หรือ กัปปัจจุบัน คือ กัปที่เจริญที่สุด เพราะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติจำนวน ๕ พระองค์ ตั้งแต่องค์ที่ ๒๕-๒๖-๒๗-๒๘ ได้อุบัติขึ้นโดยลำดับ และองค์ที่ ๒๙ คือพระศรีอริยเมตไตย ที่จะอุบัติขึ้นในอนาคตเบื้องหน้านั้น รวมเป็นพระเจ้า ๕ พระองค์ ในกัปนี้ เพราะกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมากกว่ากัปอื่น ๆ ในอดีตที่ท่านระลึกไปถึง จึงเรียกว่า ภัททกัป หรือ ภัทรกัป แปลว่า กัปเจริญ

อสงไขยกัปหนึ่ง ๆ นั้น กินเวลายาวนานดังนี้ คือ

·        สังวัฏฏอสงไขยกัปกินเวลานานถึง ๖๔ อันตรกัป

·        สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัปกินเวลานานถึง ๖๔ อันตรกัป

·        วิวัฏฏอสงไขยกัปกินเวลานานถึง ๖๔ อันตรกัป

·        วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัปกินเวลานานถึง ๖๔ อันตรกัป

 รวมทั้ง ๔ อสงไขยกัป กินเวลารวม ๒๕๖ อันตรกัป

มหากัป

         เมื่อนับจำนวนทั้ง ๔ อสงไขยกัป หรือ ๒๕๖ อันตรกัป จึงเป็น ๑ “มหากัป” ดังนั้น เวลาที่         เรียกว่า “มหากัป” จึงเป็นเวลาที่ยาวนาน ดังจะสรุปให้เห็นดังนี้ คือ

·        ๑ รอบอสงไขยปีเป็น ๑ อันตรกัป

·        ๖๔ อันตรกัป เป็น๑ อสงไขยปี

·        ๔ อสงไขยปี เป็น๑ มหากัป

          ดังนี้จะเห็นว่าการสร้างพระบารมีของพระพุทธเจ้าต้องทรงสร้างพระบารมีตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งได้ตรัสรู้นับเป็นเวลานานตามประเภทของพระพุทธเจ้า คือ

·        ๑.พระปัญญาธิกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ ทรงสร้างพระบารมีรวมทั้งหมด เป็นเวลา๒๐ อสงไขย กับอีก หนึ่งแสนมหากัป

·        ๒.พระสัทธาธิกะพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าประเภทสัทธาธิกะ ทรงสร้างพระบารมีรวมทั้งหมดเป็นเวลา ๔๐ อสงไขย กับอีก หนึ่งแสนมหากัป

·        ๓.พระวิริยาธิกะพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าประเภทวิริยาธิกะทรงสร้างพระบารมีรวมทั้งหมด เป็นเวลา ๘๐ อสงไขย กับอีก หนึ่งแสนมหากัป

แชร์