ผีตาโขน!!! ศิลปวัฒนธรรมชนชาติพันธุ์ไท-ลาว

เป็นการละเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม เพื่อบวงสรวงบูชาวิญญาณผีบรรพชน ที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ไท-ลาว เชื่อถือร่วมกันว่าบรรพชน คือ ต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ผู้ที่สร้างบ้านแปงเมือง บรรพชนเมื่อตายเป็นผี จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าเกรงขาม http://winne.ws/n12436

1.9 พัน ผู้เข้าชม
ผีตาโขน!!!  ศิลปวัฒนธรรมชนชาติพันธุ์ไท-ลาว

ประวัติและความเป็นมา 

         ปราชญ์ท้องถิ่น ครูภูมิปัญญาและนักการศึกษาหลายท่านที่ศึกษาวิจัยเรื่องราวของผีตาโขนในแง่มุมต่างๆ ล้วนมีข้อสรุปตรงกันว่าประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม เพื่อบวงสรวงบูชาติดต่อกับผู้ชมดูการละเล่น คือ วิญญาณผีบรรพชน ที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ไท-ลาว เชื่อถือร่วมกันว่าบรรพชน คือ ต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ผู้ที่สร้างบ้านแปงเมือง บรรพชนเมื่อตายเป็นผี จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าเกรงขาม มีอำนาจที่จะดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะแก่บ้านเมืองได้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ เพื่อความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมือง เมื่อถึงงานบุญประเพณีสำคัญ ๆ ตามฮีตประเพณี จึงจะต้องทำการละเล่นเต้นฟ้อนผีตาโขนเพื่อเซ่นสรวงบูชาให้เป็นที่ ถูกอกถูกใจแก่ผีบรรพชน การละเล่นผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณ และผ่านการ สืบทอดทางพิธีกรรมเป็นสายยาวจากรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นส่วนหนึ่งในงานบุญหลวงของอำเภอด่านซ้าย หรือเมืองด่านซ้ายในอดีต นับเป็นการละเล่นที่นำพาให้เกิดความสนุกสนานและความบันเทิงเป็นหลัก เช่นกันกับการเล่นทอดแห ขายยา และทั่งบั้ง อันเป็นสีสันแห่งการเฉลิมฉลองในงานบุญหลวงและโดยเฉพาะในพิธีอันเชิญพระเวสสันดร และนางมัทรีเข้าเมือง ตามฮีตเดือนสี่ (บุญเผวส) ของชาวอีสาน ซึ่งชาวด่านซ้าย 

         ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือนสี่(บุญเผวส) ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนเจ็ดของทุกปี ซึ่งมักจะอยู่ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ทั้งนี้เจ้าพ่อกวน (ผู้นำทางจิตวิญญาณของท้องถิ่น)จะเป็นผู้กำหนดวันโดยผ่านพิธีการเข้าทรงล่วงหน้า คำว่า ผีตาโขน ตามความเห็นของเจ้ากวน (ถาวร เชื้อบุญมี) น่าจะมาจากการที่บรรดาผีเหล่านั้น สวมหน้ากากคล้ายลักษณะของโขนละคร แต่เดิมบางคนเรียกว่าผีตาขน แต่ก็หาความหมายไม่ได้ชัดแจ้ง และจากคำบอกเล่าของเจ้าพ่อกวนในขณะเข้าทรงว่า ผีตามคนมาในงานบุญพระเวส จึงเรียกผีตามคนต่อมาจึงเพี้ยนเป็นผีตาโขน จากการศึกษาวิจัยเรื่องพัฒนาการประเพณีผีตาโขน ของ สนอง อุปลาพบว่าประเพณีผีตาโขนเป็นการละเล่นที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณของผีบรรพชน สืบสานมาจากการละเล่นปู่เยอ ย่าเยอของชาวหลวงพระบาง แต่เนื่องจากการละเล่น ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย ต้องผ่านพ้นกับกาลเวลาอันยาวนาน และฟันฝ่ากับระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับคนหลากหลายกลุ่มชน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในชุมชน จึงมีการปรับเปลี่ยนผสมผสานให้เป็นการละเล่นที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

พัฒนาการของผีตาโขน

  •         ยุคดั้งเดิม (ก่อนปี พ.ศ.2500) สืบเนื่องมาจากการละเล่น ปู่เยอย่าเยอ ความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างพุทธ พราหมณ์ ผี ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก อาณาจักรล้านช้างโบราณ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพวิถีชุมชน ในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองของชาวด่านซ้ายเอง 

  •           ยุคแสวงหา (ระหว่างปีพ.ศ.2500-2530) ซึ่งพัฒนาการของงานประเพณีผีตาโขนในยุคนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเข้ามามีส่วนบริหารงานประเพณีของทางราชการ ตลอดจนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ และกระแสตอบรับการท่องเที่ยว ได้ทำให้เกิดการช่วงชิงและขัดแย้งทางความคิด ในการที่จะกำหนดทิศทางพัฒนาการละเล่นผีตาโขน โดยมีแนวความคิด แยกออกเป็น 3 ทิศทางคือ ฝ่ายที่ต้องการให้เป็นไปแบบดั้งเดิม ฝ่ายต้องการรูปแบบใหม่เพื่อผลทางเศรษฐกิจ และฝ่ายที่ต้องการผสมผสาน แต่ในที่สุดแนวคิดทั้งหมดก็สามารถตกผลึกเกิดเป็นประเพณีผีตาโขนยุคนี้ และจากแรงหนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง จากการนำการละเล่นผีตาโขนออกไปแสดงเผยแพร่ยังทุกหนทุกแห่งเพื่อการประชาสัมพันธ์ ทำให้ประเพณีผีตาโขนอำเภอด่านซ้าย มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว

          ขบวนแห่การแสดงผีตาโขนจึงเกิดขึ้นเพิ่มเติมจากประเพณีดั้งเดิม มีการจัดประกวดขบวนแห่ การประกวดหน้ากากผีตาโขน การประกวดท่าเต้นที่สวยงาม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ ความคิดความเชื่อข้อห้ามข้อปฏิบัติในการละเล่นผีตาโขนเปลี่ยนแปลงไป ผู้เล่นผีตาโขนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี การจัดทำหน้ากากผีตาโขนจากรูปแบบดั้งเดิมถูกปรับประยุกต์เป็นผีตาโขนแนวใหม่ ตามหลักวิชาการศิลปะกับเทคโนโลยี สมัยใหม่ และกลไกของตลาด ชาวอำเภอด่านซ้ายทั่วไปปรับตัวในลักษณะยอมรับการท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นต้นเค้าแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต่อมาผีตาโขนก็กลายเป็นประเพณีเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลักในยุคปัจจุบัน ระหว่างปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้บรรจุประเพณีผีตาโขนลงในแผนส่งเสริมการท่องเที่ยว นับจากปี พ.ศ.2531 เพื่อยกระดับการละเล่นผีตาโขนให้ถูกใจตลาดจึงมีการเพิ่มสีสันให้มีความหลากหลาย ในที่สุดผีตาโขนจึงพัฒนาจากการละเล่นตามระบบความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากิน และพิธีกรรมเพื่อส่วนรวม ปรับเปลี่ยนเป็นการแสดงเพื่อความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์เป็นด้านหลัก จนมีเสียงเรียกร้องและมีการตั้งคำถามถึงเป้าประสงค์ของการจัดงานมากขึ้น 

  •           ยุคปัจจุบัน (ระหว่างปีพ.ศ.2530–2546) เป็นยุคที่เกิดการปรับเปลี่ยนไปในลักษณะก้าวกระโดดก้าวใหญ่ เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยบรรจุให้ประเพณีผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย อยู่ในแผนการท่องเที่ยว และชาวบ้านอำเภอด่านซ้ายทั่วไปก็มีการปรับตัวในลักษณะตอบสนองและยอมรับการท่องเที่ยว การละเล่นผีตาโขนที่ใช้ประกอบพิธีกรรมจึงถูกปรับแนวให้เป็นการแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูชม มีการจัดฉากแสดงการพูด การแข่งขัน ตลอดจนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบสำคัญๆ ทั้งคน อุปกรณ์ กิจกรรม สถานที่ แต่อย่างไรก็ตามพิธีกรรมที่เคยมีแต่โบราณไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้ละเล่นผีตาโขนจึงมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม ผู้ละเล่นตามพิธีกรรม และกลุ่มผู้ละเล่นเพื่อการแสดง

ประเพณีผีตาโขนกับวิถีชุมชน 

        จากพัฒนาการประเพณีผีตาโขนที่กล่าวมา ซึ่งเริ่มต้นจากการละเล่นที่เป็นองค์ประกอบของขนบธรรมเนียม ประเพณี มาบัดนี้การละเล่นผีตาโขน เป็นได้ทั้ง วิถีชีวิต อัตลักษณ์บ่งบอกชาติพันธุ์ สินค้า และกลไกของอำนาจ ที่จะส่งผลกำหนดทิศทางของวิถีชุมชนได้อีกด้วย ดังนี้

  •           ประเพณีผีตาโขนกับขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา จากการที่ชาวอำเภอด่านซ้ายจะต้องกระทำพิธีกรรมเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรัก และพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณผี เจ้านาย ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามฮีต 12 อันได้แก่ ฮีตเดือน 4 บุญพระเวส ฮีตเดือน 5 บุญแห่พระวันสงกรานต์ ฮีตเดือน 6 บุญบั้งไฟ และฮีตเดือน 7 บุญซำฮะ การละเล่นผีตาโขนจึงมีส่วนส่งเสริมให้นำฮีตที่ขาดไป มาจัดหลอมรวมเป็นบุญเดียวกันเรียกว่า บุญหลวง โดยอาศัย ความสนุกสนานช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด จึงทำให้บุญที่เกิดจากการรวมกันนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ส่วนผลที่เกิดกับศาสนา มีส่วนส่งเสริมให้ศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชน ในแง่ทางธรรมะและการปฏิบัติทางศาสนา เสริมสร้างให้มีการผสมผสานการนับถือพุทธศาสนากับความเชื่อในวิญญาณของบรรพชนให้เกิดการบูรณาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ชุมชนไม่มีความขัดแย้ง ทั้งยังเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยควบคุมสังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อย 

  •         ประเพณีผีตาโขนกับสังคมวัฒนธรรม จากการละเล่นผีตาโขน ที่เกิดจากความเชื่อในวิญญาณผีเจ้านายอันเป็นความเชื่อโดยการสั่งสมมาแต่สังคมบุพกาล ได้ก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมอำเภอด่านซ้ายในทุกๆ ด้าน เช่น ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกัน ทำให้ชุมชนมีบรรทัดฐานและ ค่านิยมร่วมกัน รู้ว่าคนในสังคมมีสถานภาพและบทบาทที่แตกต่างกัน และมีส่วนในการอบรม ขัดเกลาจิตใจคนในสังคม ส่งผลให้วัฒนธรรมไทด่านซ้าย เช่น ภาษาท้องถิ่น จารีตประเพณี วิถีชีวิต ไม่เปลี่ยนแปลงสูญหายไป ทำให้รู้จักรากเหง้าและวัฒนธรรมของตนเอง และก่อให้เกิดความภูมิใจและผูกพันกับท้องถิ่น

  •           ประเพณีผีตาโขนกับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังจากที่ได้รับการบรรจุให้เข้าในแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การละเล่นผีตาโขน ได้ส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างสูงต่อชาวอำเภอด่านซ้าย โดยทำให้เกิดรายได้จากการจ้างงาน การบริการอาหารที่พักอาศัย การบริการขนส่ง และการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง แต่ก็มีข้อเสีย คือทำให้สินค้าและบริการต่างๆ ในเวลาต่อมามีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนในด้านการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ โฮมสเตย์ขึ้น และยังสนับสนุนการท่องเที่ยวในด้านอื่นๆ ทั่วทั้งจังหวัดเลย เช่น ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ ภูเรือ ภูหลวง ภูกระดึง การท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม เช่น จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดโพธิ์ชัย พระธาตุดินแทนอำเภอนาแห้ว พระธาตุสัจจะอำเภอท่าลี่ เป็นต้น ประเพณีผีตาโขน เมื่อเป็นการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้จะมีประโยชน์นานัปการ แต่ก็มีผลเสียคือก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมีความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมการท่องเที่ยว ทำให้ ค่านิยมของชาวอำเภอด่านซ้ายเจ้าของประเพณีผีตาโขนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

  

แชร์