นักพุทธปรัชญา ชี้ประเด็นจอว.วัดพระธรรมกายและพวก ผิดพ.ร.บ.คอมฯ จริงหรือไม่?

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ขอให้ความเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับประเด็นที่ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและพวกถูกกล่าวหาว่าทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบัน โดยการนำเข้าซึ่งข้อมูลที่เป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์สาธารณะที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ดังนี้ http://winne.ws/n13081

1.1 พัน ผู้เข้าชม

ศูนย์ศึกษาพุทธปรัชญา

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

เรียน ท่านที่เกี่ยวข้อง

ผมชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา ประวัติการทำงานโดยย่อคือ (ก) ระหว่างปี ๒๕๓๕-๒๕๕๙ เป็นอาจารย์ประจำ (ตำแหน่งทางวิชาการสุดท้ายคือศาสตราจารย์ทางปรัชญา) วิจัยและสอนทางนิติปรัชญา ปรัชญาสังคมและการเมือง และพุทธปรัชญา เป็นต้น ที่ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ข) ๒๕๕๙-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขอให้ความเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับประเด็นที่ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและพวกถูกกล่าวหาว่าทำผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบัน โดยการนำเข้าซึ่งข้อมูลที่เป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์สาธารณะที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ดังนี้

นักพุทธปรัชญา ชี้ประเด็นจอว.วัดพระธรรมกายและพวก ผิดพ.ร.บ.คอมฯ จริงหรือไม่?

๑. ประเด็นหลักการ

​ผมขอแยกเป็นสองเรื่องคือหลักการทางนิติปรัชญากับหลักการทางปรัชญาศาสนา

        ๑. หลักการทางนิติปรัชญา โดยทั่วไป อาชญากรรมที่กฎหมายของรัฐมีความชอบธรรมจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้จะเป็นอาชญากรรมที่ชัดเจน อันแสดงออกทางกายหรือวาจา โดยที่การแสดงออกนั้นมีคนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ในทางนิติปรัชญา อาชญากรรมทางความคิดไม่มี เพราะเราถือกันว่าสังคมจะไม่เจริญหากมีการปิดกั้นการเสนอความคิด ในมหาวิทยาลัย การเสนอความคิดเป็นสิ่งปกติธรรมดา และเป็นสิ่งที่เราให้ค่าว่าเป็นสิ่งที่ดี ศาสตราจารย์สอนมหาวิทยาลัยที่เด่นๆของโลกเหมือนกันอย่างหนึ่งคือเป็นคนคิดและเสนอเรื่องใหม่ ๆ ในทางปัญญาอยู่เสมอ เป็นไปได้ที่ความคิดบางอย่างมหาชนอาจไม่ชอบ เช่นเห็นว่าบุตรไม่มีหน้าที่ต้องตอบแทนบุญคุณบิดามารดา 

        หากจะเอาผิดความคิดเช่นนี้ก็ต้องมีหลักฐานว่าเจ้าของความคิดได้พูดหรือเขียนออกไปแล้วสิ่งที่เขาคิดทำให้มีคนเดือดร้อนเสียหายอย่างชัดแจ้ง หากพิสูจน์ไม่ได้ ความคิดนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม ในทางนิติปรัชญาเราถือกันว่าความชั่วบางอย่างไม่เป็นอาชญากรรม แต่ความชั่วบางอย่างเป็น ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต้องแยกให้ได้ ความชั่วที่เป็นอาชญากรรมต้องมีคนเดือดร้อนเสียหาย

นักพุทธปรัชญา ชี้ประเด็นจอว.วัดพระธรรมกายและพวก ผิดพ.ร.บ.คอมฯ จริงหรือไม่?

         ๒. ในทางปรัชญาศาสนา เราถือกันว่า ศาสนาเน้นที่ความคิด ความเชื่อ โดยทั่วไป กฎหมายของรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะถือว่าศาสนาเป็นเรื่องที่อยู่ในหัวหรือในใจของคน กฎหมายเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาพูดออกมาหรือทำออกมาเท่านั้น การบอกว่าศาสนาเอาเปรียบคนเป็นเรื่องยากมาก ทุกศาสนาจะสอนสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ ในประเทศตะวันตกการสอนว่าพระเจ้าสร้างโลกไม่ผิดกฎหมาย การสอนว่าคุณบริจาคเงินให้โบสถ์ ตายแล้วพระเจ้าจะรับคุณไปอยู่ในสวรรค์ก็ไม่ผิดกฎหมาย ไม่มีประเทศใดในยุโรปและอเมริกาเอาผิด นักเทศน์ก็ออกโทรทัศน์และเสนอความคิดเช่นนี้ในอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องปกติธรรมดา 

        แต่ที่กล่าวนี้ไม่ได้แปลว่ารัฐจะมีกฎหมายควบคุมศาสนาไม่ได้ กฎหมายมีได้และสมควรมี โดยทั่วไป หากการแสดงออกในทางศาสนาเป็นไปตามความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ คือเชื่ออย่างนั้นจริงๆ รัฐจะไม่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อเหล่านั้น (เช่นพระเจ้ามีจริง นิพพานมีจริง นรกสวรรค์มีจริง) จริงหรือเท็จ แต่หากคนที่เอาสิ่งเหล่านี้มาเสนอแสดงพฤติกรรมที่ส่อว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ต้องการใช้สิ่งที่ตนสอนเอาเปรียบคนอื่น หากพิสูจน์ได้ชัดเจนเช่นนั้น กฎหมายของรัฐก็เข้าไปเกี่ยวข้องได้ แต่กรณีเช่นนี้ก็เกิดได้ไม่ง่าย ยกเว้นการใช้ศรัทธาทางศาสนาที่อาจเข้าข่ายว่าเป็นไปในทางทำลายเช่นเทศน์เพื่อชวนคนฆ่าตัวตายหมู่ 

         อันนี้กฎหมายมีสิทธิ์เข้าไปยับยั้งหรือเอาผิด สรุปคือ การสอนศาสนาโดยผู้สอนเชื่อสิ่งที่ตนสอน แม้สิ่งนั้นตรวจสอบไม่ได้ ก็ไม่เคยมีการเอาผิดในฐานะสอนความเท็จ ประเทศที่กฎหมายเจริญแล้วเช่นอเมริกาหรือยุโรปก็ไม่เอาผิด หากเอาผิดก็จะเป็นเรื่องประหลาด

นักพุทธปรัชญา ชี้ประเด็นจอว.วัดพระธรรมกายและพวก ผิดพ.ร.บ.คอมฯ จริงหรือไม่?

๓. สรุป

​         ผมคิดว่าท่านที่เกี่ยวข้องทางด้านกฎหมายต้องถามว่า สิ่งที่ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายทำสมควรถือว่าเป็นอาชญากรรมไหม นี่คือหัวใจของเรื่องทั้งหมดที่ผมไม่มีหน้าที่วินิจฉัย ผมพูดได้เพียงว่า จะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องดูว่าใครเสียหาย เดือดร้อน ถูกเอาเปรียบ ถ้าไม่ชัด ประเด็นที่กล่าวหาว่าท่านนำสิ่งที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็อ่อนมาก สิ่งที่เป็นเท็จตามกฎหมายหมายถึงสิ่งที่ไม่จริง(พิสูจน์ได้ชัด)แล้วสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือสังคม(พิสูจน์ได้ชัดแจ้งเช่นกัน) ไม่ได้หมายถึงการสอนสิ่งที่ศาสนาของตนสอนมายาวนาน สิ่งที่ทุกศาสนาสอนจำนวนมากตรวจสอบว่าจริงหรือเท็จไม่ได้ 

         ดังนั้นจึงไม่มีกฎหมายในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายในโลกสนใจเอาผิดเรื่องแบบนี้ สำหรับผม การสอนว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่ในพระนิพพาน เราจึงทำพิธีถวายภัตตาหารท่านได้ก็ดี การสอนว่าพระนิพพานเป็นอัตตา เป็นบ้านเป็นเมืองก็ดี การสอนว่าสตีฟจอบส์ทำอะไรไว้และตอนนี้ไปอยู่ที่ไหนก็ดี พิสูจน์ว่าเท็จไม่ได้ พิสูจน์ว่าจริงก็ไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้กฎหมายคงเข้าไปเกี่ยวข้องโดยกล่าวหาว่าเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จไม่ได้ หากชาวพุทธบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการสอนเช่นนี้ช่องทางที่มีเหตุผลคือช่องทางทางวิชาการเช่นเขียนงานวิจัยโต้แย้ง จะใช้กฎหมายปิดกั้นหรือลงโทษไม่ได้ เพราะเป็นความเชื่อทางศาสนาอันเป็นเรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ใช่อาชญากรรม

 (ศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา)

หมายเหตุ-ความเห็นทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่ ที่ให้ชื่อหน่วยงานเพื่อความสะดวกในการติดต่อแก่ผู้เกี่ยวข้องเช่นตำรวจ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

 https://twitter.com/Chuek_TV24/status/829213001848848384

www.google.co.ch

แชร์