เรียนรู้ความรุ่งเรืองและความล่มสลายจากประวัติศาสตร์จีนโบราณ

ถ้าผู้นำคนใดถูกล้อมรอบด้วยบุคคลซึ่งขาดความรู้ หรือมุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตัว ให้ข้อมูลที่ผิด ๆ ผู้นำผู้นั้นไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิจีนในยุคโบราณ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา จักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรม หรือที่ใดก็ตาม ก็ย่อมดำเนินนโยบายผิดพลาดได้ http://winne.ws/n18703

5.3 พัน ผู้เข้าชม
เรียนรู้ความรุ่งเรืองและความล่มสลายจากประวัติศาสตร์จีนโบราณ

เรียนรู้ความรุ่งเรืองและความล่มสลายจากประวัติศาสตร์จีนโบราณ

       ในแง่หนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองจีนอันเป็นประวัติศาสตร์นั้นอาจจะเกิดขึ้นในประเทศจีนเท่านั้น และไม่สามารถจะนำไปปรับเข้ากับสถานการณ์ที่อื่นได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกมุมหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองจีนนั้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งจะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ใช้กันได้ทั่วไป เป็นต้นว่า ถ้าผู้นำคนใดถูกล้อมรอบด้วยบุคคลซึ่งขาดความรู้ หรือมุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตัว ให้ข้อมูลที่ผิด ๆ ผู้นำผู้นั้นไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิจีนในยุคโบราณ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา จักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรม หรือที่ใดก็ตาม ก็ย่อมดำเนินนโยบายผิดพลาดได้ 

       ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จีนโบราณจึงไม่ใช่ลักษณะพิเศษของจีนโบราณเท่านั้น หากแต่เป็นทฤษฎีซึ่งสามารถจะใช้ปรับกับที่อื่น ๆ ได้ด้วย ตัวอย่างของการสรุปเป็นทฤษฎีโดยศึกษาจากผู้นำของประเทศต่าง ๆ ก็คืออมตะพจน์ของ ลอร์ด แอ็กตัน (Lord Acton) ที่กล่าวไว้ว่า "อำนาจมีแนวโน้มทำให้คนเสียคน และอำนาจเด็ดขาดยิ่งทำให้คนเสียคนเด็ดขาดยิ่งขึ้น" (Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely) เป็นไปได้ว่า ลอร์ด แอ็กตันได้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าว 

       จากการศึกษาผู้นำทางการเมืองซึ่งจะมีการแปรผันเมื่ออยู่ในตำแหน่งนาน ๆ โดยจะเกิดความมั่นใจมากขึ้นและถ้าถูกแวดล้อมด้วยคนประจบสอพลอ ก็จะมีพฤติกรรมซึ่งอาจจะแปลกแยกไปจากขนบธรรมเนียมประเพณี จนบางครั้งมีการละเมิดกฎหมาย หรือมีการออกกฎหมายซึ่งไม่เป็นที่พอใจของประชาชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สภาพของการเกิดปัญญาวิปริตในตัวหรือหมู่ผู้นำ จนมีการตรากฎหมายหรือออกคำสั่งที่ก่อความเสียหายต่อสังคมและประชาชน ยกตัวอย่างเช่น 

       พระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงโปรดเสวยปลาตะเพียนเป็นอย่างมาก จึงมีการป่าวประกาศห้ามไม่ให้ราษฎรกินปลาตะเพียน เพื่อพระองค์ท่านจะเสวยได้แต่พระองค์เดียว 

       ในกรณีของจีนนั้น จักรพรรดิองค์หนึ่งสร้างสระขนาดใหญ่ขึ้น เทสุราลงไปในสระ แขวนเนื้อดิบตามต้นไม้ จากนั้นก็ทรงพายเรือหาความสำราญโดยทรงใช้ภาชนะตักน้ำซึ่งเป็นสุราขึ้นมา และหยิบเนื้อซึ่งแขวนอยู่บนต้นไม้ซึ่งเป็นเนื้อดิบมาเสวยพร้อมสุรา พฤติกรรมการปฏิบัติเช่นนี้ย่อมเป็นที่ตำหนิติเตียนของเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิตและขุนนาง ซึ่งแม้จะหวังดีแต่ก็ไม่สามารถจะพูดจาตักเตือนได้ 

       อีกกรณีหนึ่งเป็นยุคก่อนอยุธยาแตก ซึ่งถ้าเป็นความจริงก็จะสอดคล้องกับประเด็นที่จะมีการกล่าวถึงในขณะนี้ นั่นก็คือการห้ามมิให้ยิงปืนใหญ่ต่อสู้ข้าศึก เพราะเสียงปืนที่ดังนั้นทำให้เหล่านางสนมกำนัลในตกอกตกใจ ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้คือความอ่อนแอและตกอยู่ภายใต้ความยั่วยวนของอำนาจ นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าปัญญาวิปริต 

 นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังมีตัวอย่างของปัญญาวิปริตมีอยู่สามเรื่องด้วยกัน 

       เรื่องแรก ก็คือการที่จักรพรรดิโรมันยืนดีดพิณดูเปลวเพลิงที่เผากรุงโรม ซึ่งพระองค์สั่งให้ทำการเผาเพื่อจะได้เห็นความหายนะและพระองค์ก็ทรงขับร้องเพลงและทรงดีดพิณมองดูความหายนะนั้นอย่างมีความสุข นี่เป็นอาการทางปัญญาวิปริตและความประชวรทางจิตขององค์จักรพรรดิอย่างแน่นอน 

       เรื่องที่สอง คือเรื่องที่กษัตริย์พม่าสั่งให้เอาเด็กผู้ชายวัยรุ่นจำนวน 400 คน ฝังทั้งเป็นเพื่อเป็นการบูชายัญตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิต พระมหาเถระผู้ใหญ่ได้ร้องขอบิณฑบาตชีวิตของเด็กเหล่านั้นแต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งถ้าเป็นจริงตามนี้ก็จะสะท้อนถึงปัญญาวิปริตของผู้นำพม่าในสมัยนั้น 

       เรื่องที่สาม จักรพรรดิจีนองค์หนึ่งยกกองทัพและทำลายอีกอาณาจักรหนึ่ง พร้อมทั้งสังหารผู้ครองนคร และได้ธิดาสาวของผู้ครองนครมาเป็นภรรยา ธิดาของผู้ครองนครวางแผนทำการแก้แค้นโดยทำให้องค์จักรพรรดิหลงเสน่ห์ จากนั้นก็ให้องค์จักรพรรดิมีนโยบายต่าง ๆ ซึ่งก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน สุดท้ายนางขอดาวจากท้องฟ้า จักรพรรดิได้สั่งให้สร้างหอคอยสูงเสียดฟ้าเพื่อจะไปสอยดาว ผลสุดท้ายราชวงศ์นั้นก็ล่มสลาย นี่คือตัวอย่างของปัญญาวิปริตซึ่งจะนำไปสู่ความหายนะทางการเมือง การปกครอง การบริหารงาน

       ดังนั้น ผู้ปกครองที่ดีคือผู้ปกครองที่มีธรรมะ ผู้ปกครองที่ขาดธรรมะและใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องก็จะกลายเป็นทรราช ฮิตเลอร์ มุสโสลินี โตโจ ฯลฯ ล้วนถูกมองว่าเป็นผู้นำและผู้ปกครองที่มิได้ดำเนินไปตามธรรมะที่ถูกต้อง โดยเฉพาะฮิตเลอร์คือเผด็จการวิกลจริต สังหารหมู่ชาวยิวไป 6 ล้านคน และยิปซีกว่า 1 ล้านคน นอกจากนั้นยังสร้างความเสียหายให้กับประเทศยุโรป นำไปสู่การเสียชีวิตของคนเป็นสิบ ๆ ล้านคน

       การปกครองของจีนโบราณสืบต่อมาเป็นเวลาหลายพันปี ในที่สุดก็ถึงแก่กาลอวสานเมื่อมีการปฏิวัติในปี ค.ศ.1911 (พ.ศ. 2464) และต่อมาในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492) ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์มาจนปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความอ่อนแอบกพร่องของระบบและการลุแก่อำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งก็มีกรณีอื่น ๆ ที่พอจะเปรียบเทียบได้ แต่กรณีของจีนเป็นกรณีที่น่าจะเป็นแบบอย่างของการศึกษา ถึงความรุ่งเรืองและการล่มสลายของระบบการเมือง โดยเกิดจากผู้นำทางการเมืองและระบบที่อ่อนแอเป็นตัวแปรสำคัญ 

เรียนรู้ความรุ่งเรืองและความล่มสลายจากประวัติศาสตร์จีนโบราณ

สรุปได้ว่าสาเหตุใหญ่ของการเสื่อมอำนาจและการสูญสิ้นราชวงศ์ในระบบการเมืองจีนโบราณนั้น เกิดจากตัวแปรดังต่อไปนี้ 

         ประการแรก องค์จักรพรรดิเมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ก็จะอุทิศตนให้กับแผ่นดินโดยการบูรณะเขื่อนและฝาย เปลี่ยนตัวขุนนางโดยเอาคนดีมีฝีมือมาช่วยบริหารประเทศ แก้ไขความเสื่อมทรามของสังคม แต่เมื่อผ่านไปหนึ่งชั่วคนจักรพรรดิองค์ใหม่ ก็จะหาความสุขสำราญในทางโลกียวิสัย ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจรังแกบีฑาประชาราษฎร์ ผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสลายต่าง ๆ 

        ประการที่สอง จักรพรรดิที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม จะมีพฤติกรรมที่นำไปสู่การสร้างความแปลกแยกกับกลุ่มชั้นสูงในสังคมจีน ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้บริหารที่เป็นนักปราชญ์มีฐานะโดยเป็นเจ้าของที่ดินและมีความรู้ โดยกลุ่มนักปราชญ์ดังกล่าวซึ่งมักจะเป็นขุนนางมองเห็นว่าจักรพรรดิ ได้เปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นทรราช หรือมิฉะนั้นก็อาจมีความอ่อนแอถูกครอบงำโดยเหล่าขุนนางกังฉินหรือขันที ดังนั้น ความชอบธรรมในการบริหารจึงหมดไป  

        ประการที่สาม องค์จักรพรรดิซึ่งถูกล้อมรอบโดยกลุ่มขุนนางกังฉิน ขันที และเหล่าสนมกำนัลใน ซึ่งมุ่งตำแหน่งอำนาจและผลประโยชน์ จะถูกปิดไม่ให้รับข่าวสารที่แท้จริงจากโลกภายนอก ทุกคนต่างไม่ต้องการให้จักรพรรดิทราบข้อมูลที่เป็นข่าวร้าย ผลที่สุดทั้งองค์จักรพรรดิเอง ก็ไม่ทรงยินดีรับฟังข่าวร้ายหรือข้อมูลที่ไม่สบายใจ วาจาจริงซึ่งแสลงหูจึงเป็นสิ่งที่รับฟังไม่ได้ ในขณะเดียวกันคนล้อมรอบก็ไม่กล้าพูดความจริง มีแต่คำเพ็ดทูลที่กุขึ้นมาเพื่อเอาชนะคะคานศัตรู เมื่อข่าวสารข้อมูลบกพร่องการตัดสินนโยบายทางการเมืองก็ผิดพลาด 

บทความโดย : โดย ลิขิต ธีรเวคิน 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/notes/เส้นทางสายไหม-the-silk-road/ความรุ่งเรืองและการล่มสลายของระบบการปกครองจีนโบราณ/1258520387532220/

แชร์