ญี่ปุ่นทำให้ประเทศสะอาด และขยะกลายเป็นเงินเป็นทองได้อย่างไร? (ตอนที่1)

จิตสำนึก กฎหมาย นวัตกรรม และความสามัคคีของคนในชาติ ทำให้ขยะ ที่ดูเป็นสิ่งไร้ค่า กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาลในประเทศญี่ปุ่น http://winne.ws/n5518

3.0 พัน ผู้เข้าชม
ญี่ปุ่นทำให้ประเทศสะอาด และขยะกลายเป็นเงินเป็นทองได้อย่างไร? (ตอนที่1)

ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดการและบริหารขยะที่มีประสิทธิภาพมากจนสามารถทำให้ ขยะ ที่ดูเป็นสิ่งไร้ค่า กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และกลายเป็นเงินเป็นทองได้โดยเกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังจากหน่วยเล็กๆในสังคมไปจนถึงระดับรัฐบาลซึ่งสามารถสรุปความร่วมมือได้ดังนี้

1.      ปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะทั้งระดับครอบครัวและในสถาบันการศึกษา

2.      มีกฎหมายการควบคุมและกำจัดขยะ

3.      มีการแปรรูปขยะเป็นพลังงานหรือผลพลอยได้อื่นๆที่เกิดประโยชน์และมีมูลค่า

 พัฒนาการของกฎหมายการจัดการและบริหารขยะในญี่ปุ่นปรับไปตามสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นโดย

1. ช่วงทศวรรษ 1950  ขยะจากอุตสาหกรรมเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน  กฎหมายเน้นเรื่องการรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียไปให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดี 

2. ช่วงทศวรรษ 1990  เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขยายตัว มีของเสียและขยะจากอุตสาหกรรมมากขึ้น กฎหมายเน้นเรื่องการรีไซเคิลและการกำจัดขยะอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชน 

3. ปัจจุบัน   ขยะที่ได้มา จะนำไปทำอะไรต่อ? กฎหมายเน้นเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมด้านวัสดุที่มาจากกระบวนการกำจัดและรีไซเคิลขยะ ความเข้มงวดในการกำจัดขยะอุตสาหกรรม และป้องกันการทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย


ปรับอย่างหนักผู้ละเมิดกฎหมาย สนับสนุนอย่างดีผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

โดยผู้ละเมิดกฎหมายการจัดการและบริหารขยะจะได้รับโทษปรับอย่างหนักส่วนผู้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการ “ทิ้งขยะอย่างมีความรับผิดชอบกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และรีไซเคิลขยะอย่างได้ประโยชน์สูงสุด” จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ญี่ปุ่นทำให้ประเทศสะอาด และขยะกลายเป็นเงินเป็นทองได้อย่างไร? (ตอนที่1)

การคัดแยกและกำจัดขยะอย่างเป็นระบบของญี่ปุ่นยังสามารถสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศได้อีก ตัวอย่างเช่น

 1.      ธุรกิจรับเก็บขยะจากร้านค้าปลีกเพื่อนำมาส่งโรงงานรีไซเคิลขยะ

2.      ธุรกิจประเมินและเก็บข้อมูลการทิ้งและรีไซเคิลขยะของผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร(เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายควบคุมการทิ้งและรีไซเคิลขยะ)

3.      ธุรกิจกำจัดสารเคมีและขยะพิษจากอุตสาหกรรม

4.      ธุรกิจผลิตก๊าซชีวมวล กระแสไฟฟ้าและปุ๋ยอินทรีย์จากขยะ

 “ กฎหมาย ความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆทำให้ขยะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงในประเทศญี่ปุ่น” นายยาสุฮิโระชิมาดะ ตัวแทนจากบริษัท อิชิกาวะ คังเคียว เอ็นจิเนียริ่ง (ไอเคอี)ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกำจัดและรีไซเคิลขยะชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นกล่าวไว้

 

โรงงานกำจัดและรีไซเคิลขยะ “ไบโออีเนอร์จี” (BIOENERGY) ตั้งอยู่ในเขตโอตะของกรุงโตเกียว

-กำจัดและรีไซเคิลขยะประเภทอาหาร

- ผลพลอยของกระบวนการรีไซเคิลขยะของที่นี่คือ ก๊าซชีวมวล และกระแสไฟฟ้า ส่งขายโครงข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านพลังงาน และมีรายได้หลักจากการให้บริการกำจัดขยะจากผู้ประกอบการอีกด้วย

 Win-Win situation ร้านอาหารยิ่งส่งขยะไปรีไซเคิลมากเท่าไหร่ยิ่งมีรายได้เพิ่ม โรงงานก็ผลิตก๊าซชีวมวลและกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น

 ญี่ปุ่นมีกฎหมายว่าด้วยการรีไซเคิลขยะประเภทอาหาร(ปี 2012) ได้กำหนดสัดส่วนเอาไว้ชัดเจนว่าธุรกิจประเภทไหนต้องส่งขยะไปรีไซเคิลมากน้อยเพียงใดเช่นกฎหมายใหม่กำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกอาหารส่งขยะไปรีไซเคิลในสัดส่วน 55%ธุรกิจบริการด้านอาหาร (เช่น ร้านอาหารประเภทต่างๆ) 50 %” เป็นต้น” โดยทางโรงงานจะเป็นผู้จัดทำรายงานการส่งขยะมารีไซเคิล

 ซึ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารหันมาเข้าร่วมและใส่ใจกระบวนการรีไซเคิลมากขึ้นและยังทำให้ทางโรงงานของผู้กำจัดขยะอย่างไบโออีเนอร์จี มีขยะส่งเข้าโรงงานอย่างมากเพียงพอและสม่ำเสมอจึงทำให้ใช้ผลิตก๊าซชีวมวลและกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น

ญี่ปุ่นทำให้ประเทศสะอาด และขยะกลายเป็นเงินเป็นทองได้อย่างไร? (ตอนที่1)

ถังหมักขยะประเภทอาหารของโรงงานไบโออีเนอร์จี

 1.      เป็นถังหมักซึ่งให้ผลพลอยได้เป็นก๊าซมีเทนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (ความจุ 2 พันลูกบาศก์เมตรจำนวน2 ถัง)

2.      ก๊าซส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า(1.12 เมกะวัตต์)ซึ่งสามารถผลิตป้อนให้กับบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์หรือ เทปโก้ผู้ให้บริการด้านกระแสไฟฟ้าในเขตกรุงโตเกียว ได้ในอัตรา 2.4 หมื่นหน่วย/วัน

3.      ก๊าซส่วนหนึ่งนำไปเข้ากระบวนการเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานและส่งเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซแรงดันต่ำในเขตเมือง(city gas) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมโดยทางโรงงานส่งจำหน่ายให้กับบริษัท โตเกียว ก๊าซ ในปริมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวันซึ่งเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของ 2,000 ครัวเรือน

 โรงงานแห่งนี้รับขยะจากลูกค้าราว 500 รายมากำจัดและรีไซเคิลแต่ละวันมีขยะมาเข้าสู่กระบวนการราว 110ตัน

เป้าหมายหลักของโรงงาน

 1.      กำจัดขยะและสร้างสรรค์ให้กรุงโตเกียวเป็นนครที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างมลภาวะทางอากาศน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้(low carbon society)

2.      กำจัดกากและเถ้าจากการเผาขยะให้ได้เบ็ดเสร็จภายในโรงงานไม่ต้องส่งไปกำจัดที่อื่น

 

ตอนต่อไป เราจะไปดูว่า เถ้าจากการเผาขยะนั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเป็นเงินเป็นทองได้อย่างไร

 

อ่าน ญี่ปุ่นทำให้ประเทศสะอาด และขยะกลายเป็นเงินเป็นทองได้อย่างไร? (ตอนที่2) ได้ที่ http://www.winnews.tv/news/5543

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล:http://www.thansettakij.com/2016/07/13/69528

ขอขอบคุณภาพจาก: http://www.google.com

แชร์