"ชิตังเม" แปลว่าเราชนะแล้ว แล้วเราชนะอะไร?

เห็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกายชอบพูดกันจัง ชิตังเมๆ มีความหมายว่าอย่างไร คำนี่คิดขึ้นมาเองหรือมีในพระพุทธศาสนา มีเฉลยที่นี้ http://winne.ws/n5772

7.0 พัน ผู้เข้าชม
"ชิตังเม" แปลว่าเราชนะแล้ว แล้วเราชนะอะไร?ภาพจาก www.watkaokrailas.com/

ครั้งหนึ่ง  พราหมณ์ผู้มีผ้าสาฏกสำหรับนุ่งเพียงผืนเดียวได้นั่งฟังธรรมในวิหาร เขาปลาบปลื้มในอรรถของธรรมที่ได้ฟังศรัทธาบังเกิดแก่เขามากจนอยากจะถวายผ้าที่มีเพียงผืนเดียวแด่พระพุทธเจ้า แต่แล้วเกิดตระหนี่ขึ้นว่ามีผ้าเพียงผืนเดียวคงถวายไม่ได้ แต่แล้วก็เกิดศรัทธาจนใคร่ถวายขึ้นใหม่จิตทั้งสองประเภทวนเวียนเกิดดับสลับกันไป

ในที่สุด ในยามปลายของคืนนั้นเขาคิดว่าถ้ายอมให้จิตดวงประกอบด้วยตระหนี่ชนะเขาคงไม่มีโอกาสยกศีรษะออกจากอบายได้ จึงนำผ้าไปวางแทบพระบาทพระศาสดาแล้วเปล่งเสียงอันดังว่า"ชิตํ เม" (ชิตัง เม)

ชิตํ เม  เราชนะแล้ว คือพราหมณ์สามารถชนะจิตของตนได้จึงสละผ้าถวายโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เพราะตั้งใจสละกิเลส แต่กลับกลายเป็นว่าพราหมณ์ได้สิ่งต่างๆมากมายโดยไม่คาดฝัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลบังเอิญประทับนั่งสดับพระธรรมอยู่ด้วยเมื่อทรงทราบเนื้อความตามที่ราชบุรุษมารายงาน จึงพระราชทานผ้าสาฏกใหม่ให้พราหมณ์ 2 คู่ แต่พราหมณ์ก็สละบูชาพระศาสดาอีก จึงพระราชทานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในที่สุด พราหมณ์จึงรับไว้เพียง 2 คู่ คู่หนึ่งสำหรับตนอีกคู่สำหรับนางพราหมณี ที่เหลือถวายพระศาสดา

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า พราหมณ์บูชาถึงขนาดนั้นจึงใคร่จะพระราชทานอีกจึงตรัสให้นำผ้ากำพลคู่หนึ่งที่มีมูลค่าถึงหนึ่งแสนมาให้แก่พราหมณ์พราหมณ์เห็นผ้าควรค่าแก่พระศาสดาและสงฆ์มากกว่าจึงถวายเป็นผ้าดาดตรงเพดานเหนือพระแท่นบรรทมในพระคันธกุฏีและตรงเพดานในโรงฉันของภิกษุพระราชาเมื่อเสด็จมาเฝ้าพระศาสดา ทรงจำผ้าได้ ทรงมีดำริว่า พราหมณ์ก็ศรัทธาในฐานะเดียวกับพระองค์จึงพระราชทานสิ่งต่างๆในจำนวนอย่างละ 4 แก่พราหมณ์เป็นจำนวนมากเช่น ช้าง 4 ,ม้า 4 ,กหาปณะ 4 พัน , สตรี 4, ทาสี 4, บุรุษ 4, บ้านส่วย 4

การได้ของพราหมณ์อาจชวนให้เราเข้าใจไปว่า หากเราสละบางส่วนเพื่อผู้อื่น เพื่อสาธารณประโยชน์เราจะได้สิ่งต่างๆตอบแทนมาในปริมาณที่มากกว่า หากมีความเข้าใจอย่างนี้ก็ย่อมนำไปสู่ความทุกข์ใจในภายหลัง เพราะการได้สิ่งใดๆตามมาอาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้  แต่สิ่งที่ได้แล้วในทันทีที่สละคือความสุขจากการเอาชนะใจที่หวงแหนได้

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ ชาวพุทธควรใคร่ครวญแล้วจึงสละเพื่อไม่ให้ตน บุคคลรอบข้าง และผู้รับ เดือดร้อนมากเกินไปนัก

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaihealth.or.th/

แชร์