รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1)

GMSEconomic Corridor มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเส้นทางเศรษฐกิจสายสำคัญ ๆ เหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น http://winne.ws/n9504

3.3 พัน ผู้เข้าชม

รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1)

รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1)

GMS Economic Corridors

                    ปัจจุบัน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community เป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงในทุกแวดวง และในขณะเดียวกัน เรามักจะได้ยินคำว่า GMS Economic Corridorsอยู่บ่อยครั้ง จนหลายคนตั้งคำถามว่า GMSEconomic Corridor คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเส้นทางเศรษฐกิจสายสำคัญ ๆ เหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น

                    GMS Economic Corridors หรือระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองสำคัญใน 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ซึ่งประกอบด้วยไทย จีน (มณฑล ยูนนาน) เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงถูกยกให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาภูมิภาค ได้แก่ กำลังซื้ออันมหาศาลของประชากรกว่า 250 ล้านคน มีพื้นที่รวมกัน 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบได้กับขนาดทวีปยุโรปตะวันตก มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และมีความได้เปรียบทางด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                    โครงการระเบียงเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ต้องการยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกลุ่ม GMS ในเวทีการค้าโลก ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเข้าด้วยกัน GMS Economic Corridors มุ่งเน้นที่การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหลายแขนง โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย สำหรับใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้า ลำเลียงวัตถุดิบ และรองรับตลาดการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การค้า การลงทุนและบริการผลักดันให้เกิดการจ้างงานสร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ ADB เป็นผู้สนับสนุนหลักด้านการเงิน

                    เส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียนหรือ GMS Economic Corridors แบ่งตามภูมิภาคออกเป็น 3 เส้นทางหลัก ๆ ได้แก่
แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC)เชื่อมโยงระหว่างไทย เมียนมา ลาว และจีน ประกอบด้วย 3 เส้นทางย่อย ได้แก่

                    เส้นทาง R3A เชื่อมโยงระหว่างจีนตอนใต้กับลาวและไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่คุนหมิง มายังโมฮาน บ่อเต็น และห้วยทรายของลาว เข้าเขตไทยที่ อ. เชียงของ และสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน R3A นับว่าเป็นเส้นทางที่คับคั่งไปด้วยการจราจรมากที่สุดเส้นหนึ่ง ภายหลังจากที่สะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556

                    เส้นทาง R3B มีจุดเริ่มต้นที่นครคุนหมิงเช่นเดียวกับ R3A แต่ผ่านเข้ามาทางเมียนมาที่ท่าขี้เหล็กแล้วเข้าไทยที่เขต อ. แม่สาย จ.เชียงราย และมีปลายทางที่กรุงเทพฯ

                    เส้นทาง R5 มีจุดเริ่มต้นจากเมืองหนานหนิงในมณฑลกว่างสีของจีน มายังเมืองฮานอยและท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ มี 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ

                    แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)เชื่อมโยงระหว่างเวียดนาม ลาว ไทย และพม่า อาจเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน ประกอบด้วย เส้นทาง
เส้นทาง R9 มีจุดเริ่มต้นที่เมาะลำไยไปที่เมียวดีเข้าเขตไทยที่ อ. แม่สอด จ. ตากเชื่อมไปยังพิษณุโลกขอนแก่นมุกดาหาร และต่อไปยังสะหวันนะเขตเข้าเขตเวียดนามที่เว้และสิ้นสุดที่ดานัง

                    เส้นทาง R12 เชื่อมโยงภาคอีสานของไทยกับมณฑลกว่างซี โดยมีจุดเริ่มต้นที่ จ. นครพนม เข้าเขตลาวที่แขวงคำม่วน วิ่งผ่าน จ. ห่าติ๋ง วิงห์และฮานอยของเวียดนาม ก่อนจะไปสิ้นสุดที่กว่างซี ภายหลังการเปิดสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) เมื่อเดือน พฤศจิกายน2554 เส้นทางสาย R12 นับว่าเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังเขตปกครองตนเองกว่างซี

                    เส้นทาง R8 มีจุดเริ่มต้นที่ จ. บึงกาฬ เข้าเขตปากซันของลาว ผ่านเมืองวิงห์ มุ่งสู่กรุงฮานอยของเวียดนาม และไปสิ้นสุดที่กว่างซี

                    สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก มี 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร

                    แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เชื่อมโยงระหว่างเมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ประกอบด้วย 2 เส้นทางย่อย ได้แก่

                    เส้นทางทวาย – ทิกิ – กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ- ปอยเปต – พนมเปญ – โฮจิมินห์ – หวังเต่า ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยพาดผ่านเมืองสำคัญหลายเมืองและมีการขนส่งข้ามแดนตามแนวเส้นทางในปริมาณมาก ทั้งตรงจุดผ่านแดนอรัญประเทศ – ปอยเปตระหว่างไทย – กัมพูชา และจุดผ่านแดนบาเวต – มอกไบ ระหว่างกัมพูชา – เวียดนาม

                    เส้นทางทวาย – ทิกิ – บ้านน้ำพุร้อน – กรุงเทพฯ – เสียมราฐ – สตรึงเตร็ง – ควิวยอน ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวสำคัญระหว่างไทย และกัมพูชา รวมถึงเชื่อมต่อระหว่างไทยไปกับภาคกลางของเวียดนามผ่านกัมพูชา
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทางนี้ มี 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราดและกาญจนบุรี

                                                                                                                                                                                                            ในตอนต่อไป เราจะมาเจาะลึกโอกาสของนักลงทุนไทยในการค้าการลงทุนตามแนว GMS Economic Corridors รวมถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ (Software Connectivity) และความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA)

รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1)
รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1)

จาก  :     หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ   ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 – 29 ตุลาคม 

โดย  :     ฐานเศรษฐกิจ  -  28 October 2559     /     รอบโลก  >  อาเซียน 

แชร์