"โขน" จุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง

รามเกียรติ์เป็นเรื่องราวของพระนารายณ์ที่อวตารมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบนนทกหรือทศกัณฐ์ดั่งวาจาที่ไว้ให้ตอนพระนาราย์ปราบนนทก ด้วยการให้นนทกมาเกิดเป็นพญายักษ์ มีสิบเศียรสิบกร มีฤทธิ์มากมาย ส่วนตนจะมาเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดาเพื่อตามปราบ http://winne.ws/n10285

1.5 หมื่น ผู้เข้าชม
"โขน"  จุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง

          โขน   เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย การแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ ซึ่งไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ

        โขน   เป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง เช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ โดยนำเอาวิธีเล่นและการแต่งตัวบางชนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์  มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้นเช่น ท่าปฐมในการไหว้ครูของกระบี่
กระบอง รวมทั้งการนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์และเพลงดนตรี
เข้ามาประกอบ   การแสดง ในการแสดงโขน ลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตาให้สามารถมองเห็น แสดงอารมณ์ผ่านทางการร่ายรำ สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น  ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา
ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน

         ในสมัยโบราณ ตัวพระและตัวเทวดาต่างสวมหัวโขนในการแสดง ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องสวมหัวโขน คงใช้ใบหน้าจริงเช่นเดียวกับละคร แต่งกายแบบเดียวกับละครในเครื่องแต่งกายของตัวพระและตัวยักษ์ในสมัยโบราณมักมีสองสีคือ สีหนึ่งเป็นสีเสื้อ อีกสีหนึ่งเป็นสีแขนโดยสมมุติแทนเกราะ เป็นลายหนุนประเภทลายพุ่ม หรือลายกระจังตาอ้อย ส่วนเครื่องแต่งกายตัวลิงจะเป็นลายวงทักษิณาวรรต โดยสมมุติเป็นขนของลิงหรือหมี ดำเนินเรื่องด้วยการกล่าวคำนำเล่าเรื่องเป็นทำนองเรียกว่าพากย์อย่างหนึ่ง กับเจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง โดยมีผู้ให้เสียงแทนเรียกว่าผู้พากย์และเจรจา มีต้นเสียงและลูกคู่ร้อง        บทให้ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบการแสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ปัจจุบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีหน้าที่หลักในการสืบทอดการฝึกหัดโขน และกรมศิลปากร มีหน้าที่ในการจัดการแสดง

ประวัติ ความเป็นมา

          คำว่าโขนในภาษาเบงคาลี ซึ่งปรากฏคำว่า "โขละ" หรือ"โขล" (บางครั้งสะกดด้วย ฬ เป็นคำว่า"โขฬะ" หรือ "โขฬ")   ที่เป็นชื่อเรียกของเครื่องดนตรีประเภทหนังชนิดหนึ่งของฮินดู ลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับตะโพนของไทย ไม่มีขาตั้ง ทำด้วยดิน   ไม่มีสายสำหรับถ่วงเสียงมีเสียงดังค่อนข้างมาก จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย ใช้สำหรับประกอบการละเล่นชนิดหนึ่งเรียกว่ายาตราหรือละครเร่ที่คล้ายคลึงกับละครชาตรีโดยสันนิษฐานว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ เคยถูกนำมาใช้ประกอบการเล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่งจึงเรียกว่าโขลตามชื่อของเครื่องดนตรี โขนจัดเป็นนาฏกรรมที่มีความเป็นศิลปะเฉพาะของตนเอง            ไม่ปรากฏชัดแน่นอนว่าคำว่า "โขน" ปรากฏขึ้นในสมัยใด แต่มีการเอ่ยถึงในวรรณคดีไทย    เรื่องลิลิตพระลอที่กล่าวถึงโขนในงานแสดงมหรสพ ระหว่างงานพระศพของพระลอ พระเพื่อนและพระแพงว่า "ขยายโรงโขนโรงรำ ทำระทาราวเทียน"โดยมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่าโขนนั้น      มีที่มาจากคำและความหมายในภาษาต่าง ๆ ดังนี้

         คำว่าโขนในภาษาอิหร่าน มีที่มาจากคำว่าษูรัตควาน (อังกฤษ: Surat khwan) หมายความถึงตุ๊กตาหรือหุ่น ซึ่งใช้สำหรับประกอบการแสดงโดยมีผู้ขับร้องและให้เสียงแทนตัวหุ่น เรียกว่าควานหรือโขน (อังกฤษ: Khon) มีความคล้ายคลึงกับผู้พากย์และผู้เจรจาของการแสดงโขนในปัจจุบัน

         คำว่าโขนในภาษาเขมร เป็นการกล่าวถึงโขนในพจนานุกรมภาษาเขมร ซึ่งหมายความถึงละครแต่เขียนแทนว่าละโขน ที่หมายความถึงการแสดงมหรสพอย่างหนึ่ง

         จากข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโขนเป็นคำมาจากภาษาใด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ระบุความหมายของโขนเอาไว้ว่า "โขนหมายถึงการเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ           ที่เรียกว่าหัวโขนหรือหมายความถึงไม้ใช้ต่อเสริมหัวเรือท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้นไปที่เรียกว่าโขนเรือ หรือใช้สำหรับเรียกเรือชนิดหนึ่งที่มีโขนว่าเรือโขนเช่น เรือโขนขนาดใหญ่น้อยเหลือหลายในลิลิตพยุหยาตรา หรือหมายความถึงส่วนสุดทั้งสองข้างของรางระนาดหรือฆ้องวงใหญ่ที่มีลักษณะงอนขึ้นว่าโขน

วงปี่พาทย์ที่ใช้ในการแสดงโขน

          ในสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงโขนโดยลาลูแบร์ เอาไว้ว่า "โขนนั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง) หรือไม่เป็นหน้าปีศาจ (ยักษ์) "  ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อมหรสพในอดีตของชาวไทยในสายตาของชาวต่างประเทศ

         การแสดงโขนโดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ ในอดีตกรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์   มีหลายสำนวน ทั้งที่มีการประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบทประพันธ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่กรมศิลปากรได้ปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอนสำหรับแสดงเป็นโขนฉาก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง 6 ชุด ได้แก่ ชุดนางสีดาหาย ชุดเผากรุงลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกาและชุดนาคบาศ

         แต่เดิมนั้นการแสดงโขนจะไม่มีการสร้างฉากประกอบการแสดงตามท้องเรื่อง การดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ เป็นแบบจินตนาการถึงฉากหรือสถานที่ในเรื่องราวเอง การจัดฉากในการแสดงโขนเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยที่ทรงคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น คล้ายกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดขึ้น

"โขน"  จุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง

ประเภทของโขน

การแสดงโขนกลางแปลง เรื่องรามเกียรติ์

โขนเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักนิยมแสดงเป็นมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูงเช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ แสดงเป็นมหรสพสมโภชเช่น ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิง ในโอกาสทั่ว ๆ ไป นิยมแสดงเพียง 3 ประเภทคือ โขนกลางแปลง โขนหน้าจอและโขนฉาก สำหรับโขนนั่งราวหรือโขนโรงนอกไม่นิยมจัดแสดง เนื่องจากเป็นการแสดงโขนที่มีแต่บทพากย์และบทเจรจาเท่านั้น ไม่มีบทร้อง ใช้ราวไม้กระบอกแทนเตียงสำหรับนั่ง และโขนโรงในซึ่งเป็นศิลปะที่โขนหน้าจอนำไปแสดง แต่เดิมไม่มีองค์ประกอบจำนวนมาก ต่อมาภายหลังเมื่อมีความต้องการในการแสดงมากขึ้น โขนจึงมีวิวัฒนาการพัฒนาเป็นลำดับ แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ

โขนกลางแปลง

          เมื่อ พ.ศ. 2339 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการเล่นโขนในงานฉลองอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช โดยโขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ฝ่ายลงกา และโขนวังหลังเป็นทัพพระรามฝ่ายพลับพลา แลัวยกทัพมาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารความว่า "ในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลังและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกันกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับสิบขุนสิบรถ โขนวังหลังเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป"โขนกลางแปลงเป็นการเล่นโขนกลางแจ้ง ไม่มีการสร้างโรงแสดง ใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง ผู้แสดงทั้งหมดรวมทั้งตัวพระต้องสวมหัวโขน นิยมแสดงตอนยกทัพรบ วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เรื่องกวนน้ำอมฤตที่ใช้เล่นในพิธีอินทราภิเษก ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพและการเต้นประกอบหน้าพาทย์มาใช้ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์แทน มีการเต้นประกอบหน้าพาทย์และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้าง แต่ไม่มีบทร้อง

          ซึ่งการแสดงโขนในครั้งนั้น เกิดการรบกันจริงระหว่างผู้แสดงทั้งสองฝ่าย จนเกิดการบาดหมางระหว่างวังหน้าและวังหลัง จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต้องเสด็จมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้แก่วังหน้าและวังหลัง ทั้งสองฝ่ายจึงยอมเลิกบาดหมางซึ่งกันและกัน ทำให้เป็นข้อสันนิษฐานว่าเหตุใดการแสดงโขนกลางแปลงจึงนิยมแสดงตอนยกทัพรบและการรบบนพื้น  มีเครื่องดนตรี   วงปี่พาทย์ไม่ต่ำกว่าสองวงในการบรรเลง

โขนนั่งราว

          โขนนั่งราวหรือเรียกอีกอย่างว่าโขนโรงนอก วิวัฒนาการมาจากโขนกลางแปลง เป็นโขนที่แสดงบนโรงที่ปลูกสร้างขึ้นสำหรับแสดง ตัวโรงมักมีหลังคาคุ้มกันแสงแดดและสายฝน ไม่มีเตียงสำหรับผู้แสดงนั่ง มีเพียงราวทำจากไม้ไผ่วางพาดตามส่วนยาวของโรงเท่านั้น มีช่องให้ผู้แสดงในบทของตัวพระหรือตัวยักษ์ ที่มีตำแหน่งและยศถาบรรดาศักดิ์ สามารถเดินวนได้รอบราวซึ่งสมมุติให้เป็นเตียง ในส่วนผู้แสดงที่รับบทเป็นเสนายักษ์ เขนยักษ์ เสนาลิงหรือเขนลิง คงนั่งพื้นแสดงตามปกติการแสดงโขนนั่งราว

มีการพากย์และเจรจา ไม่มีบทขับร้อง วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์  เช่น กราวใน           กราวนอก ฯลฯ ในการแสดงใช้ปี่พาทย์สำหรับบรรเลงเพลงถึงสองวง เนื่องจากต้องบรรเลงเป็นจำนวนมาก โดยตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวแรกจะตั้งอยู่บริเวณหัวโรง ตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวที่สองจะตั้งอยู่บริเวณท้ายโรง และกลายเป็นที่มาของการเรียกว่า "วงหัวและวงท้ายหรือวงซ้ายและวงขวา" 

โขนโรงใน

          โขนโรงในเป็นโขนที่นำศิลปะการแสดงของละครใน เข้ามาผสมผสานระหว่างโขนกับละครใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 รวมทั้งมีราชกวีภายในราชสำนัก ช่วยปรับปรุงขัดเกลาและประพันธ์บทพากย์ บทเจรจาให้มีความคล้องจอง ไพเราะสละสลวยมากยิ่งขึ้น โดยนำท่ารำท่าเต้น และบทพากย์เจรจาตามแบบโขนมาผสมกับการขับร้อง เป็นการปรับปรุงวิวัฒนาการของโขน

          ในการแสดงโขนโรงใน ผู้แสดงเป็นตัวพระ ตัวนางและเทวดา เริ่มที่จะไม่ต้องสวมหัวโขน ในการแสดง มีการพากย์และเจรจาตามแบบฉบับของการแสดงโขน นำเพลงขับร้องประกอบอากัปกิริยาอาการของตัวละคร และเปลี่ยนมาแสดงภายในโรงแบบละครในจึงเรียกว่าโขนโรงใน มีปี่พาทย์บรรเลงสองวง ปัจจุบันโขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงนั้น ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงในซึ่งเป็นการแสดงระหว่างโขนกลางแปลงและโขนหน้าจอ

โขนหน้าจอ

การเชิดหนังใหญ่ในการแสดงโขนหน้าจอ

          โขนหน้าจอเป็นโขนที่แสดงหน้าจอหนังใหญ่ ซึ่งใช้สำหรับแสดงหนังใหญ่หรือหนังตะลุง โดยผู้แสดงโขนออกมาแสดง สลับกับการเชิดตัวหนัง ที่ฉลุแกะสลักเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์อย่างสวยงามวิจิตรบรรจง เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" ซึ่งในการเล่นหนังใหญ่ จะมีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาวแบบจอหนังใหญ่ ยาว 7 วา 2 ศอก ริมขอบจอใช้ผ้าสีแดงและสีน้ำเงินเย็บติดกัน ใช้เสาจำนวน 4 ต้นสำหรับขึงจอ ปลายเสาแต่ละด้านประดับด้วยหางนกยูงหรือธงแดง  มีศิลปะสำคัญในการแสดงคือการพากย์และเจรจา ใช้เครื่องดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังจะต้องเต้นตามจังหวะดนตรีและลีลาท่าทางของตัวหนัง

          นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ภายหลังยกเลิกการแสดงหนังใหญ่คงเหลือเฉพาะโขน โดยคงจอหนังไว้พอเป็นพิธี เนื่องจากผู้ดูนิยมการแสดงที่ใช้คนแสดงจริงมากกว่าตัวหนัง จึงเป็นที่มาของการเรียกโขนที่เล่นหน้าจอหนังว่าโขนหน้าจอ มีการพัฒนาจอหนังที่ใช้แสดงโขน ให้มีช่องประตูสำหรับเข้าออก โดยวาดเป็นซุ้มประตูเรียกว่าจอแขวะ โดยที่ประตูทางด้านซ้ายวาดเป็นรูปค่ายพลับพลาของพระราม ส่วนประตูด้านขวาวาดเป็นกรุงลงกาของทศกัณฐ์ ต่อมาภายหลังจึงมีการยกพื้นหน้าจอขึ้นเพื่อกันคนดูไม่ให้เกะกะตัวแสดงเวลาแสดงโขน สำหรับโขนหน้าจอ กรมศิลปากรเคยจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมในงานฉลองวันสหประชาชาติที่สนามเสือป่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และงานฟื้นฟูประเพณีสงกรานต์ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 13 เมษายน - 15 เมษายน พ.ศ. 2492

โขนฉาก

         โขนฉากเป็นการแสดงโขนที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการจัดฉากในการแสดงแบบละครดึกดำบรรพ์ประกอบตามท้องเรื่อง แบ่งเป็นฉากเป็นองก์ เข้ากับเหตุการณ์และสถานที่ จึงเรียกว่าโขนฉาก ปัจจุบันการแสดงโขนของกรมศิลปากร นอกจากจะแสดงโขนโรงในแล้ว ยังจัดแสดงโขนฉากควบคู่กันอีกด้วยเช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดงและชุดพระรามครองเมือง

         ซึ่งในการแสดงโขนทุกประเภท มีวิวัฒนาการมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน   รูปแบบและวิธีการแสดงของโขนได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย แต่คงรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะของการแสดงเอาไว้

โขนนอกตำรา

          นอกจากประเภทของโขนต่าง ๆ ทั้ง 4 ประเภทแล้ว ยังมีการแสดงโขนนอกตำราที่ทาง   กรมศิลปากรไม่จัดให้รวมอยู่ในประเภทของโขน ได้แก่

         โขนสด เป็นการแสดงที่ผสมผสานทางวัฒนธรรม ที่ปรับปรุงมาจากการแสดงโขนให้มีความเรียบง่าย มีการปรับเปลี่ยนลดท่ารำ การแต่งกาย การขับร้อง คำพากย์และการเจรจา เป็นการแสดงที่เกิดจากผสมผสานการแสดง 3 ชนิดคือ โขน หนังตะลุงและลิเก ไม่มีการพากย์เสียงและเจรจา โดยผู้แสดงจะเป็นผู้พูดบทเจรจาเอง แต่งกายยืนเครื่อง สวมหัวโขนบนศีรษะแต่ไม่คลุมหน้า สามารถมองเห็นใบหน้าของผู้แสดงได้อย่างชัดเจน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในชนบท แสดงด้วยกิริยาท่าทางโลดโผน จริงจังกว่าการแสดงโขนมาก[27]


         โขนหน้าไฟ เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมจัดแสดงในตอนกลางวัน หรือแสดงเฉพาะตอนพระราชทานเพลิงศพ เป็นการแสดงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยมีจุดประสงค์ในการแสดงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตหรือเจ้าภาพของงาน รวมทั้งเป็นการแสดงคั่นเวลาให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานได้ชมการแสดงก่อนถึงเวลาพระราชทานเพลิงจริง แต่เดิมโขนหน้าไฟใช้สำหรับในงานพระราชพิธี รัฐพิธีหรืองานของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เสนาขุนนางอำมาตย์เช่น งานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศ์นานุวงศ์ ณ บริเวณทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง


         โขนนอนโรง เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมแสดงในเวลาบ่าย ก่อนวันแสดงจริงของโขนนั่งราว แสดงตอน "เข้าสวนพิราพ" เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น มีปี่พาทย์สองวงในการบรรเลงเพลงโหมโรง แสดงเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยก่อนแสดงจะมีผู้แสดงออกไปเต้นกระทุ้งเสาทั้ง 4 มุมของโรงแสดง ซึ่งการกระทุ้งเสานั้น เป็นการทดสอบความแข็งแรงของเวทีในการรับน้ำหนักตัวของผู้แสดง สมัยก่อนเวทีสำหรับแสดงใช้วิธีขุดหลุมฝังเสาและใช้ดินกลบ ทำให้ระหว่างทำการแสดงเวทีเกิดการทรุดตัว เป็นเหตุผลให้อาจารย์ผู้ทำการฝึกสอน มักให้ผู้แสดงไปเต้นตามหัวเสาทั้ง 4 มุมของเวที เพื่อให้การเต้นนั้นช่วยกระทุ้งหน้าดินที่ฝังเสาไว้ให้เกิดความแน่นมากขึ้น

        หลังแสดงเสร็จ ผู้แสดงมักจะนอนเฝ้าโรงแสดงเพื่อแสดงโรงนั่งราวต่อในวันรุ่งขึ้น ในอดีตโขนนอนโรงเคยแสดงมาแล้วสองครั้งคือ ครั้งแรกแสดงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในงานสมโภชพระเศวตคชเดน์ดิลก และครั้งที่สองในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แสดงที่บริเวณท้องสนามหลวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 10 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2475


         โขนชักรอก เป็นการแสดงโขนที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โขนชักรอกนั้นมีการตั้งแต่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นการแสดงโขนในโรงแสดงที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ ยกพื้นสูงและมีหลังคา แสดงเหมือนกับโขนทุกประการ แตกต่างเพียงแต่ผู้แสดงนั้นสามารถลอยตัวขึ้นไปในอากาศด้วยการชักรอก มีอุปกรณ์ที่ใช้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โขนชักรอกไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก

         กรมศิลปากรเคยจัดแสดงโขนชักรอกให้ประชาชนได้ชม เมื่อคราวงานเทศกาลวัดอรุณราชวราราม ร.ศ. 100 การจัดแสดงโขนชักรอกครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ร่วมมือกับบริษัทออร์กา    ไนเซอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อนอนุรักษ์วัดอรุณและการแสดงที่หายากในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เวลา 17.00 - 22.00 น. โดยใช้พื้นที่บริเวณหน้าวัดเป็นโรงแสดง มีพระปรางค์วัดอรุณเป็นฉากหลัง

โขนในพระราชสำนัก

         ในสมัยโบราณข้าราชการ มหาดเล็กที่รับราชการในสำนักพระราชวัง มักได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ฝึกหัดแสดงโขน เนื่องจากโขนนั้นถือเป็นการละเล่นของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ใช้สำหรับแสดงในงานพระราชพิธีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการคัดเลือกผู้แสดงที่มีความสามารถ ฉลาดเฉลียว จดจำและฝึกหัดท่ารำท่าเต้นต่าง ๆ ให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังคำสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "บางทีเกิดมี 'กรมโขน' ขึ้นจะมาแต่การเล่นดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้เอง โดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่นอันมีการเล่นแสดงตำนานเนือง ๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงนี้ขึ้นไว้ สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผน ซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก" แต่เดิมนั้นใช้ผู้ชายล้วนในการแสดงทั้งตัวพระและตัวนาง การได้รับคัดเลือกให้แสดงโขนในสมัยนั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจต่อผู้ที่ได้ถูกรับคัดเลือก เนื่องจากโขนเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง และกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ผู้แสดงโขนในพระราชสำนักจะต้องเป็นพวกมหาดเล็ก ข้าราชการหรือบุตรหลานข้าราชการเท่านั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งคณะโขนสมัครเล่นตามแบบธรรมเนียมโบราณ

ยุคเจริญรุ่งเรือง

        ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ ได้โปรดให้มีการฝึกหัดโขนขึ้นตามแบบโบราณ

"โขน"  จุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง
แชร์