"ถิ่นไทยเดิม" ของคนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้)

"ถิ่นไทยเดิม" คนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้) จากที่ได้ศึกษาจากหนังสือทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทยแล้วนั้น สามารถสรุปเป็น 5 กลุ่ม จากเทือกเขาอัลไต จากคาบสมุทรมลายู จากจีน หรือที่ไหน ? http://winne.ws/n6476

4.6 หมื่น ผู้เข้าชม
"ถิ่นไทยเดิม" ของคนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้)ขอบคุณภาพจาก www.snr.ac.th

คนไทยมาจากไหน

จากที่ได้ศึกษาจากหนังสือทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทยแล้วนั้น  สามารถสรุปเป็นแนวคิดกว้าง ๆได้ 5 กลุ่มดังนี้คือ

๑. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ถูกจีนรุกราน แล้วอพยพลงสู่ยูนานและแหลมอินโดจีน  นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ เตเรียน เดอร์ ลาคูเปอรี

๒. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณเทือกเขาอัลไต  สรุปได้ว่าไทยเป็นเชื้อสายมองโกล เรียกว่าลาวหรือต้ามุง  เนื่องจากถูกขนเผ่าอื่นรุกรานจึงอพยพมาจากตอนกลางมาสู่ตอนใต้ของจีน และเข้าสู่อินโดจีน  นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ  วิลเลี่ยม คลิฟตันด๊อด

๓. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยกระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีน  และทางตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตลอดจนบริเวณ รัฐอัสสัมของอินเดีย  นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ  วูลแฟรม อีเบอร์ฮาด , เฟรเดอริก โมต , วิลเลียม  เก๊ดนีย์

๔. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณเนื้อที่ประเทศไทยปัจจุบัน  เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์โครงกระดูกในยุคหินใหม่ ที่ขุดค้นพบในประเทศไทย  นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ นายแพทย์สุด  แสงวิเชียร , ศาสตราจารย์ ชิน  อยู่ดี

๕. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอาจอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายู  หรือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย  และค่อย ๆ แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของจีน  เนื่องจากมีการเปรียบเทียบหมู่เลือด และความถี่ของยีน  นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ  นายแพทย์สมศักดิ์  พันธุ์สมบูรณ์ , นายแพทย์ประเวศ วะสี

จากทฤษฎีต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้  สามารถสรุปรวมกันได้คือ  คนไทยมีต้นกำเนิดมาจากพื้นที่ที่เป็นทวีปเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน   คือจากประเทศจีน  ประเทศไทย  และประเทศแถบอินโดนีเซีย

"ถิ่นไทยเดิม" ของคนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้)ขอบคุณภาพจาก www.silpathai.net

แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทย

การศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของผู้คนในดินแดนต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เริ่มขึ้นโดยชาวตะวันตกซึ่งใช้วิธีการค้นคว้า คือ เดินทางไปสำรวจด้วย ตนเอง สอบสวนค้นคว้าทางภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและอื่น ๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานเขียนหรือรายงานการสำรวจ และอีกวิธีคือ สืบค้นนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานค้นคว้าของชาวต่างประเทศที่เรียบเรียงไว้

ดังนั้นวิธีการดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าของคนไทยได้ก่อให้เกิดความหลากหลายในทัศนะเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทย ดังนี้

๑. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ประเทศจีน

เตเรียน เดอ ลาคูเปอรี (Terrien de la couperie) ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ของอินโดจีน เป็นเจ้าของความคิดนี้ ผลงานของท่านชื่อ The Cradle of the Shan Race ตีพิมพ์ พ.ศ.2428 อาศัยหลักฐานจีนโดยพิจารณาความคล้ายคลึงกันทางภาษาของผู้คนในจีนและเอเชียตะ วันออกเฉียงใต้ แล้วสรุปว่า คนเชื้อชาติไทยตั้งถิ่นฐานในดินแดนจีนก่อนจีน คือเมื่อ 2208 ปีก่อนคริสตกาล ดังปรากฏในรายงานการสำรวจภูมิประเทศจีน ถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนนี้อยู่ในเขตมณฑลเสฉวนในปัจุบัน

งานของลาคูเปอรี ได้รับการสืบทอดต่อมาในงานเขียนของนักวิชาการไทย เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประภาศิริ เสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธน หลวงวิจิตรวาทการ และศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์

"ถิ่นไทยเดิม" ของคนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้)ขอบคุณภาพจาก www.fungjaizine.com

๒. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่แถบเทือกเขาอัลไต ทางตอนเหนือของประเทศจีน

เจ้าของความคิด คือ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ชื่อ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) ได้เดินทางไปสำรวจความเป็นอยู่ของชาติต่าง ๆ ในดินแดนใกล้เคียงพร้อมทั้งเผยแพร่ศาสนาด้วย โดยเริ่มจากเชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา ยูนนาน จนถึง ฝั่งทะเลกวางตุ้ง ผลจากการสำรวจปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Thai Race : The Elder Brother of the Chinese ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2452 งานเขียนนี้สรุปว่าไทยสืบเชื้อสายจากมองโกลและเป็นชาติเก่าแก่กว่าจีนและฮิบรู

งานเขียนของหมอดอดด์ ได้รับความสนใจทั้ง ชาวไทยและต่างประเทศ นักวิชาการไทยคนสำคัญที่สืบทอดความคิดของหมอดอดด์ คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้เขียนงานเขียนชื่อ “หลักไทย” เป็นหนังสือแต่งทางประวัติศาสตร์ ได้รับพระราชทานรางวัลของพระบาทสมเด็กพระปกเกล้าฯ กับประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา ใน พ.ศ.2471 ในหนังสือ หลักไทย สรุปว่าแหล่งกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต (แหล่งกำเนิดของมองโกลด้วย) หลักสูตรไทยได้ใช้เป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบัน แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับน้อยมาก

๓. กลุ่มที่เชื่อว่าไทยมีถิ่นกำเนิดกระจัด กระจายทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีนและทางเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ ตลอดจนแคว้นอัสสัมของอินเดีย

นักสำรวจชาวอังกฤษ ชื่อ โคลกูฮุน (Archibal R. Colguhon) เป็นผู้ริเริ่มความเชื่อนี้ เขาได้เดินทางจากกวางตุ้งตลอดถึงมัณฑเลย์ในพม่าและได้เขียนหนังสือชื่อ Chrysi เล่าเรื่องการเดินทางสำรวจดินแดนดังกล่าว และเขียนรายงานไว้ว่าพบคนไทยเชื้อชาติไทยในแถบนี้ งานเขียนนี้ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2428 ผู้เขียนได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมภูมิศาสตร์ของอังกฤษ ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายออกไป

นอกจากนี้มีงานค้นคว้าประเภทอาศัยการตีความหลักฐานจีนอีก เช่น งานของ E.H. Parker ปาร์คเกอร์ กงสุลอังกฤษประจำเกาะไหหลำ เขียนบทความเรื่องน่านเจ้า พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2437 โดยอาศัยตำนานจีน บทความนี้พูดถึงอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของคนไทยเฉพาะราชวงศ์สินุโลและ คนไทยเหล่านี้ถูกคนจีนกดดันถึงอพยพลงมาทางใต้ งานของเขียนปาร์คเกอร์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนักวิชาการตะวันตกและจีน (ศาสตราจารย์ติง ศาสตราจารย์ โชนิน ศาสตราจารย์ชุนแชง) และญี่ปุ่น (โยชิโร ชิราโทริ)

งานค้นคว้าอีกเรื่องคืองานของ วิลเลียม เคร์ดเนอร์ (Willian Credner) ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับยูนนาน โดยสำรวจภูมิประเทศและเผ่าพันธุ์ที่ตกค้างในยูนนาน สรุปว่าถิ่นเดิมของชนเผ่าไทยควรอาศัยในที่ต่ำใกล้ทะเล เช่น มณฑลกวางสี กวางตุ้ง ส่วนแถบอัลไตคนไทยไม่น่าจะอยู่เพราะคนไทยชอบปลูกข้าว ชอบดินแดนแถบร้อนไม่ชอบเนินเขา

"ถิ่นไทยเดิม" ของคนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้)ขอบคุณภาพจาก www.thaigoodview.com

นอกจากนี้ วูลแกรม อีเบอร์ฮาด (Wolgram E berhard) ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดีจีน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของไทยในงานเขียนชื่อ A History of China (พิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ) สรุปว่าเผ่าไทยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง ต่อมาอพยพมาอยู่แถบยูนนานและดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย (สมัยราชวงศ์ฮั่น) ได้สร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน และถึงสมัยราชวงศ์ถัง เผ่าไทยได้สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน

งานเขียนของบุคคลเหล่านี้ได้ให้แนวคิดแก่นักวิชาการไทยและต่างประเทศในระยะต่อมา เช่น ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศส ได้สรุปว่าชนชาติไทยอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบตังเกี๋ย ลาว สยาม ถึงพม่า และอัสสัม

ส่วนนักวิชาการไทยที่สนใจศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของคนไทยทั้งจากเอกสารไทยและต่างประเทศคือพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) งานเขียนของท่าน คือ พงศารโยนก ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ.2441-2442 งานชิ้นนี้สรุปว่าคนไทยมาจากตอนใต้ของจีนและ นักวิชาการไทยอีกท่านหนึ่งคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์ วิเคราะห์ตำนาน พงศาวดารท้องถิ่นทางเหนือของไทยและตรวจสอบกับจารึกของประเทศข้างเคียง เขียนหนังสือ ชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และจาม และลักษณะสังคมของชื่อชนชาติ” พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2519  จิตรสรุปว่าที่อยู่ของคนเผ่าไทย อาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีนและบริเวณภาคเหนือของไทย ลาว เขมร พม่า และรัฐอัสสัมในอินเดีย และให้ความเห็นเกี่ยวกับน่านเจ้าว่า น่านเจ้าเป็นรัฐทางใต้สุด เดิมจีนเรียกอาณาจักรไต - หลอหลอ (น่านเจ้า แปลว่า เจ้าทางทิศใต้)

จะเห็นได้ว่าในบรรดานักวิชาการที่เชื่อว่าอดีตของเผ่าไทยอยู่กระจัดกระจายใน บริเวณตอนใต้ของจีนและบริเวณทางเหนือของไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และรัฐอัสสัม และอินเดีย ต่างก็มีทัศนะที่ต่างกันในรายละเอียด โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าและนักวิชาการกลุ่มนี้เริ่มศึกษาค้น คว้าเรื่องราวของคนไทยโดยอาศัยหลักฐานหลายด้าน ทั้งด้านนิรุกติศาสตร์ มานุษยวิทยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

"ถิ่นไทยเดิม" ของคนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้)ขอบคุณภาพจาก www.snr.ac.th

๔. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน

พอล เบเนดิคท์ (Paul Benedict) นักภาษาศาสตร์และมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ค้นคว้าเรื่องเผ่าไทย โดยอาศัยหลักฐานทางภาษาศาสตร์และสรุปว่า ถิ่นเดิมของไทยน่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 4000-3500 ปีมาแล้ว พวกตระกูลมอญ เขมร อพยพมาจากอินเดียเข้าสู่แหลมอินโดจีนได้ผลักดันคนไทยให้กระจัดกระจายไปหลายทางขึ้นไปถึงทางใต้ของจีนปัจจุบัน ต่อมาถูกจีนผลักดันจนอพยพลงใต้ไปอยู่ในเขตอัสสัม ฉาน ลาว ไทย และตังเกี๋ย จึงมีกลุ่มชนที่พูดภาษาไทยกระจัดกระจายไปทั่ว

นักวิชาการไทย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ให้ความเห็นว่าดินแดนไทยปัจจุบันเป็นที่อาศัยของหมู่ชนที่เป็นบรรพบุรุษของไทยปัจจุบัน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสรุปว่าบรรพบุรุษไทยอยู่ในดินแดนประเทศไทยมาตลอด เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีได้แสดงถึงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมรวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะโครงกระดูกที่ขุดพบ

๕. กลุ่มที่เชื่อว่า ถิ่นเดิมของไทยอาจอยู่ทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรืออินโดจีน หรือบริเวณคาบสมุทรมลายู และค่อย ๆ กระจายไปทางตะวันตก และทางใต้ของอินโดจีนและทางใต้ของจีน

กลุ่มนี้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชนชาติไทยด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์บนรากฐาน ของวิชาพันธุศาสตร์ คือการศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือดและการศึกษาเรื่องฮีโมโกลบินอี เช่น นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ได้ศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือด พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายกับชาวชวาทางใต้มากกว่าจีนทางเหนือ จากการศึกษาวิธีนี้สรุปได้ว่า คนไทยมิได้สืบเชื้อสายจากคนจีน

ส่วนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฮีโมโกลบินอีนั้น นายแพทย์ประเวศ วะสี และกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปว่า ฮีโมโกลบินอี พบมากในผู้คนในแถบเอเชียอาคเนย์ คือ ไทย ลาว พม่า มอญ และอื่นๆ สำหรับประเทศไทยผู้คนทางภาคอีสานมีฮีโมโกลบินอีมากที่สุด (คนจีนเกือบไม่มีเลย)

"ถิ่นไทยเดิม" ของคนไทยมาจากไหน (ก่อนที่เราจะมาอยู่กันตรงนี้)ขอบคุณภาพจาก 2g.pantip.com

สรุป ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวงการศึกษามีมากขึ้นและมีการแตกแขนงวิชาออกไปมากมาย เพื่อหาคำตอบเรื่องของมนุษย์และสังคมที่มนุษย์อยู่ ทำให้ความรู้และความเชื่อเดิมของมนุษย์ถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทยซึ่งอยู่ที่มณฑลเสฉวนและทาง ภูเขาอัลไตจึงถูกวิพากษ์ถึงความสมเหตุสมผล และเมื่อมีการประสานกันค้นคว้าจากสหวิชาการจึงได้คำตอบในแนวใหม่ว่าคนเผ่าไท เป็นเผ่าที่อยู่กระจัดกระจายในแนวกว้างในบริเวณตอนใต้ของยูนนาน ทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐอัสสัมของอินเดีย พื้นฐานความเชื่อใหม่นี้ 

อาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ทราบได้ว่า คนเผ่านี้รู้จักกันในชื่อต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ไทใหญ่ ไทอาหม ผู้ไท ไทดำ ไทขาว ไทลื้อ ไทลาว ไทยวน เป็นต้น การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียังสอดคล้องกับการค้นคว้าทางด้านนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์ที่พบว่า คนในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เรียกชนชาติไทยว่า ชาม ชาน เซม เซียม ซียาม เสียมบ้าง และในภาษาจีนเรียกว่า ส่าน ส้าน (สำหรับคนไทโดยทั่วไป) และเซียม (สำหรับไทสยาม) และความหมายของคำที่เรียกคนไทก็มีความหมายสอดคล้องกับลักษณะชีวิตทางด้านสังคมและการทำมาหากินของคนไทยเช่นคำว่า “ส่าน” ซึ่งเป็นคำภาษาจีนเรียกคนไท แปลว่า “ลุ่มแม่น้ำ”

        ความหมายนี้มีลักษณะสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาติไทที่ก่อตั้งชุมชนขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและทำอาชีพกสิกรรม รู้จักทำทำนบหยาบ ๆ พร้อมทั้งคันคูระบายน้ำคือ เหมือง ฝาย รู้จักใช้แรงงานสัตว์และใช้เครื่องมือในการทำนา เช่น จอบ คราด ไถ

**ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าเรื่องถิ่นเดิมของชนชาติไทย และคนไทยในประเทศไทยปัจจุบัน คือการหันมาให้ความสนใจทางด้านวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องเชื้อชาติ เพราะไม่มีเชื้อชาติใดในโลกนี้ที่เป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่เหนือชน เชื้อชาติอื่น ดินแดนประเทศไทยเป็นทางผ่านที่คนหลายเผ่าพันธุ์ หลายตระกูลเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งรกราก ประเทศไทยเป็นแหล่งสะสมของคนหลายหมู่เหล่าก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐประชา ชาติที่เรียกว่าประเทศไทย 

(บทความนี้นำมาจากอินเตอร์เน็ต) 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.whatami.net/thai/thai21.html

แชร์