“เย็นนั้นฉันเห็นร่างตัวเองบนเตียง” วิทยาศาสตร์มองประสบการณ์ ‘ถอดจิต’ (Out-off-body) อย่างไร?

ศีรษะของเราช่างเบาบางเสียเหลือเกิน มันล่องลอยดุจลูกโป่งสวรรค์ ลอยตุ๊บป่องๆ จนเกือบไปชิดเพดาน พอจะพลิกศีรษะมาสำรวจว่าลอยมาสูงแค่ไหน กลับเห็นร่างตัวเองนอนอยู่บนเตียง! หรือเราจะ ‘ถอดจิต’ ได้ซะแล้วนี่! http://winne.ws/n20144

1.1 พัน ผู้เข้าชม
“เย็นนั้นฉันเห็นร่างตัวเองบนเตียง” วิทยาศาสตร์มองประสบการณ์ ‘ถอดจิต’ (Out-off-body) อย่างไร?

มันเป็นวันที่ร้อนระอุมากที่สุดวันหนึ่งของกรุงเทพฯ หลังจากผู้เขียนปล่อยให้แดดแผดเผามาทั้งวัน ‘เตียงนอน’ คือสิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเมื่อเปิดประตูเข้าไปในบ้าน อากาศร้อนๆ บวกกับความเหนื่อยอ่อนที่สะสมเป็นใจให้การงีบหลับช่วงเย็นไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากนัก

เพียงหัวถึงหมอนอึดใจเดียว ร่างกายกลับหนักราวถูกถ่วงด้วยสมอเรือจนไม่สามารถกระดิกตัว แต่ศีรษะของเราช่างเบาบางเสียเหลือเกิน มันล่องลอยดุจลูกโป่งสวรรค์ ลอยตุ๊บป่องๆ จนเกือบไปชิดเพดาน พอจะพลิกศีรษะมาสำรวจว่าลอยมาสูงแค่ไหน กลับเห็นร่างตัวเองนอนอยู่บนเตียง! หรือเราจะ ‘ถอดจิต’ ได้ซะแล้วนี่!

เหตุการณ์ครั้งนั้นอาจเป็นการนอนกลางวันที่น่าพิลึก จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่หากมีประสบการณ์เห็นตัวเองเช่นนี้ เขาว่ากำลังมีเคราะห์หนัก จิตกำลังหลุดออกจากร่าง ต้องผูกจิตคืน มีพิธีสารพัดอย่างที่ต้องทำ (แต่ไม่ได้ทำสักอย่าง) เหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 8 ปี จำๆ ลืมๆ อยู่เรื่อยไป จนกระทั่งได้มาคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนที่พวกเขาเล่าว่า เคยมีประสบการณ์ ‘ถอดจิต’ ราวๆ นี้ครั้งหนึ่งในชีวิต บ้างก็เห็นตัวเองนอน บ้างก็เห็นตัวเองยืนเหม่อ บ้างก็เห็นตัวเองยืนล้างจาน แต่ละคนมีฉากแปรเปลี่ยนไปต่างๆ นานา หลายคนออกไปทางอภินิหารเหาะเหินเดินอากาศเลยก็มี

ถ้าการ ‘ถอดจิต’ ไม่ใช่เรื่องแปลก หลายคนก็เคยมีประสบการณ์นี้ร่วมกัน แต่เป็นปรากฏการณ์การตระหนักรู้ตนเองรูปแบบหนึ่งในเชิงจิตวิทยาที่สามารถหาคำตอบและเราสามารถใช้ประโยชน์ได้ แล้วเป็นไปได้หรือไม่? ที่การถอดจิตอาจนำมาสู่คำตอบการตระหนักรู้ตัวตนของมนุษย์ โดยเฉพาะยุคโลกความจริงเสมือน VR (Virtual Reality) ที่ความจริงกับความลวงเริ่มถูกทำให้เลือนหายไปจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาที่ต่อยอดจนเป็นรากฐานหนาแน่น

ไม่แน่! คุณอาจถอดจิตได้เพียงแค่กดปุ่มคำสั่งเพียงปุ่มเดียว


“เย็นนั้นฉันเห็นร่างตัวเองบนเตียง” วิทยาศาสตร์มองประสบการณ์ ‘ถอดจิต’ (Out-off-body) อย่างไร?

Out-of-body experiences

ทุกอารยธรรมในประวัติศาสตร์มนุษย์ล้วนบันทึกเรื่องราวของจิตที่ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของกาย เดินทางไร้ขอบเขตสู่สวรรค์ นรกภูมิ หรือมิติใดๆ ที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ ทั้งในศาสนาฮินดูและพุทธ พูดถึงกายหยาบและกายที่ละเอียดจนไม่ถูกจองจำจากร่างเนื้อ แต่เมื่อองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาหรือการศึกษากลไกสมองของสิ่งมีชีวิตเริ่มเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นคล้ายตัวต่อที่ค่อยๆ ต่อยอดในรอบ 50 ปี การถอดจิตจึงเป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์ให้ความสนใจอยู่เหมือนกัน

ปรากฏการณ์นี้ถูกนิยามว่า Out-of-body experiences หรือ OBE ผู้คนเคยมีประสบการณ์ OBE คล้ายๆ กันอยู่ทุกสังคม เช่น รู้สึกว่าตัวเองหลุดออกจากร่าง ลอยได้ หรือเห็นร่างของตัวเองนอนหลับหรือกำลังทำกิจกรรมใดๆ อยู่

จนมาสู่คำถามว่า แท้จริงแล้ว จิตได้ออกจากร่างอย่างที่เรารับรู้หรือไม่ เพราะ OBE ส่วนใหญ่ล้วนเป็นปรากฏการณ์เชิงประสบการณ์ที่มาจากคำบอกเล่าอีกที ถ้า OBE ไม่ใช่เรื่องของวิญญาณ แล้วมีคำอธิบายใดที่เกิดขึ้นกับ ‘สมอง’ ของพวกเรา?

“เย็นนั้นฉันเห็นร่างตัวเองบนเตียง” วิทยาศาสตร์มองประสบการณ์ ‘ถอดจิต’ (Out-off-body) อย่างไร?

จากหนังสือเล่มหนึ่งของ ศ.ซูนซาน แบล็คมอร์ (Susan Blackmore) นักจิตวิทยาในหนังสืออ่านเพลินของเธอ Seeing Myself : The New Science Of Out-Of-Body Experiences ที่ค่อนข้างดังอยู่พอสมควร 

เธอเล่าว่า คนส่วนใหญ่มักเชื่ออย่างสนิทใจว่า OBE คือ ดวงวิญญาณได้หลุดลอยออกจากร่าง หรือออกเดินทางในลักษณะ ‘กายทิพย์’ (astral body) โดยมีคนจำนวนมากเคยมีประสบการณ์ OBE และบางรายสามารถควบคุม OBE ได้ตามความต้องการ ซึ่งมักเกิดขึ้นได้ทุกขณะของชีวิต มักเกิดตอนที่เราผ่อนคลายที่สุดในท่านอนราบ หรือมีอาการชาขยับตัวไม่ได้คล้าย ‘ผีอำ’ ร่วมด้วย (sleep paralysis)

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักปรจิตวิทยา (parapsychology) พยายามตรวจจับกายทิพย์ที่กำลังออกจากร่างด้วยการใช้เครื่องมือที่สามารถรับรู้ด้วยจิตสัมผัสพิเศษ (extrasensory perception) หรือรู้จักในชื่อ ESP เพื่อหาคำอธิบายของปรากฏการณ์ OBE แต่มักคว้าน้ำเหลว ไม่สามารถหาหลักฐานพิสูจน์อันเป็นเหตุเป็นผลได้  แม้การพยายามค้นหากายทิยพ์จะไม่สามารถสร้างรากฐานที่สำคัญใดๆ แต่ในปัจจุบันนักล่าเรื่องเหนือธรรมชาติก็ยังนิยมหาคำตอบของกายทิพย์ผ่านประสบการณ์ OBE อยู่มิเสื่อมคลาย

“เย็นนั้นฉันเห็นร่างตัวเองบนเตียง” วิทยาศาสตร์มองประสบการณ์ ‘ถอดจิต’ (Out-off-body) อย่างไร?

ยินดีตอนรับสู่ยุค ‘อิเล็กโทรด’ และ ‘โรคลมชัก’

หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต ไม่ต้องนานมากเพียงสัก 50 – 60 ปีก่อน ถ้าจู่ๆ คุณล้มลงชักดิ้นชักงอ ใครๆ ก็หาว่า ‘ผีเข้า เจ้าที่แรง’ ไปฉี่รดที่อันไม่สมควรเข้าให้ แต่อาการเช่นนี้แพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่า ‘โรคลมชัก’ (epilepsy) ซึ่งหากมีอาการเข้าๆ ออกๆ ก็มีแต่จะถูกหามไปบ้านหมอผี ให้เขาหวด ให้เขาตี ดีไม่ดีอาการจะทวีหนักกว่าเดิม

ปัจจุบันเรามีความรู้แล้วว่า โรคลมชักมีอิทธิพลจากกระแสไฟฟ้าในสมองและมีความเป็นไปได้ที่จะรักษา ซึ่งสถาบัน Swiss Federal Institute of Technology ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประสาทศัลยศาสตร์ ‘โอลาฟ แบลงค์’ (Olaf Blanke) ทดลองติดตั้งขั้วอิเล็กโทรดลงบนเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (dura mater) และปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นเฉพาะจุดเป็นการรักษาโรคลมชักในผู้ป่วย

ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นผู้หญิง เธอไม่แสดงออกถึงความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อติดตั้งขั้วอิเล็กโทรด เพราะสมองส่วนนี้ไม่มีอิทธิพลส่งสัญญาณความเจ็บ จนกระทั่งความบังเอิญเกิดขึ้นเมื่อ โอลาฟ แบลงค์ กระตุ้นสมองส่วน Temporoparietal junction (TPJ) ด้วยไฟฟ้า ผู้ป่วยกลับรู้สึกเสียศูนย์ทั้งๆ ที่นอนราบอยู่บนเตียง เธอบรรยายว่า ร่างกายพลัดตกจากที่สูง เหมือนกำลังร่วงหล่น และเมื่อกระตุ้นไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก เธอรู้สึกเหมือนจิตกำลังลอยออกจากร่างจนแนบชิดติดกำแพง ไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ใต้อาณัติของร่างกายอีกต่อไป

ทีมวิจัยทำซ้ำกระบวนการนี้ จนสามารถควบคุม OBE ของผู้ป่วยได้ กลายเป็นงานวิจัยฮือฮาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในนั้นระบุว่า “วิทยาศาสตร์ค้นพบสมองที่ควบคุมประสบการณ์ถอดจิต (out-of-body experiences) อย่างเป็นทางการแล้ว” กระนั้นก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วย โต้แย้งต่างๆ นานา เช่น พระเจ้าอาจสื่อสารกับดวงจิตมนุษย์โดยอาศัยสมองส่วนนี้ก็เป็นได้ หรือเป็นจุด Portal ที่สามารถแยกกายทิพย์ออกจากกายเนื้อ ก็นานาจิตตังว่าจะตีความไปทางไหน

วิทยาศาสตร์ระบุว่า สมองส่วน Temporoparietal junction (TPJ) ซึ่งอยู่ ณ จุดที่กลีบสมองขมับ (Temporal lobe) และสมองกลีบข้าง (Parietal lobe) มาผสานกัน ควบคุมการรับรู้ความสัมพันธ์และตำแหน่งของร่างกาย (Body scheme) ของเรา มันจะคอยอัพเดทร่างกายมวลรวมของเราทั้งหมด ว่าเราอยู่ที่ไหนภายในพื้นที่นั้นๆ หากให้คุณลองปิดไฟอยู่ในห้องมืดเพียงคนเดียว คุณก็พอคลำได้เลาๆ ว่า กำลังยืนอยู่ตรงไหนท่ามกลางความมืดมิด

สมอง TPJ ไม่เพียงควบคุมการรับรู้ตำแหน่ง แต่ยังควบคุมการรับรู้บุคลิกภาพและรูปลักษณ์ภายนอกของตัวคุณอีกด้วย โดยไปดึงความทรงจำและก่อรูปร่างเป็นตัวคุณแบบที่คุณเห็น (ก็อาจไม่ตรงตามที่คนอื่นรับรู้ก็ได้ เช่น วิตกกังวลว่าตัวเองอ้วน แต่ใครๆ ก็ยังมองว่าคุณผอมเป็นกุ้งแห้ง)

 

เมื่อนักวิจัยทราบว่าสมองส่วน TPJ ก็สามารถถูก ‘รบกวน’ จนบิดเบือนได้ผ่านการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า ทำให้สมองสับสนตำแหน่งของร่างกาย ไม่รู้คุณว่าอยู่ที่ไหน มีขนาดร่างกายใหญ่หรือเล็ก รู้สึกแขนขาหายไป หรือยังมีอยู่ทั้งๆ ที่ขาดด้วนไปแล้ว อาจเกิดขึ้นกับคุณขณะหลับ เหม่อลอย หรือจากอิทธิพลของยาบางชนิดที่รบกวนสมองส่วน TPJ จนทำให้เกิดอาการ ‘ถอดวิญญาณ’

มีคำถามว่า สัญญาณลับๆ OBE คือข้อความที่ร่างกายกำลังบอกคุณถึงความผิดปกติของร่างกาย ภาวะวิตกกังวล จนพัฒนาเป็นความเจ็บป่วยทางจิตหรือไม่? จากการสำรวจพบว่า ‘ไม่มีความเชื่อมโยงกับอาการป่วยทางจิต’ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่เคยมีประสบการณ์ OBE ก็ล้วนมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตปรกติดี

“เย็นนั้นฉันเห็นร่างตัวเองบนเตียง” วิทยาศาสตร์มองประสบการณ์ ‘ถอดจิต’ (Out-off-body) อย่างไร?

OBE ในยุค ‘ความจริงเสมือน’

ประสบการณ์ OBE มอบความสงสัยที่มีประโยชน์ต่อประสาทวิทยา มันทำให้รู้ว่า สิ่งมีชีวิตมีการรับรู้ตัวตน บุคลิกลักษณะที่ล้วนบิดเบือนได้ ไม่มีความเที่ยงแท้ในประสาทสัมผัสของเรา ท่านผู้อ่านอาจเคยเห็นการทดลอง ‘มือยางลวงจิต’ กันมาแล้ว คือ การที่คุณวางมือไว้ข้างๆ เจ้ามือยาง และบังสายตาไม่ให้เห็นมือตัวเอง ทำให้คุ้นชินสักพัก จากนั้นจะถูกจี้เบาๆ หรือฮาร์ดคอร์หน่อยก็เอาของมีคมจิ้มพรวดไปเลยจนคุณสะดุ้งเฮือก เพราะเผลอคิดว่ามือยางเป็นมือของเราเอง

แต่ ‘มือยางลวงจิต’ ถือเป็นการทดลองพื้นฐาน เมื่อเทียบกับการทดลองของมหาวิทยาลัยซูริค ที่สร้าง ‘ร่างกายลวงจิต’ ขึ้นมาเลย โดยยืมเทคโนโลยี VR ผู้ทำการทดลองจะต้องสวมเครื่อง VR ซึ่งมีกล้องติดไว้ข้างหลัง ทำให้เกิดมุมมองบุคคลที่ 3 เมื่อผู้ทดลองเห็นตัวเองทำกิจกรรมต่างๆ ก็รู้สึกแปลกประหลาดดี

 

ภาพ : Nature.com

 

นักประสาทวิทยา Henrik Ehrsson จากประเทศสวีเดนใช้แนวคิดคล้ายๆ กันมาต่อยอด โดยให้กล้องบันทึกภาพอยู่ห่างจากอาสาสมัครที่ทำการทดลอง 2 เมตร และเอาไม้มาเกาหลังโดยทำเข้าจังหวะกันกับไม้ในโลกเสมือน (เช่นในภาพประกอบ) พวกเขารู้สึกว่ากล้องที่บันทึกภาพอยู่ใกล้ตัวเองมากขึ้น อุณหภูมิร่างกายลดลง รู้สึกหวาดเสียวน้อยกว่าเมื่อถูกมีดมาจ่อใกล้ๆ ร่างเสมือนของตัวเอง

ดังนั้น VR จึงใช้ประโยชน์จากการบิดเบือนความตระหนักรู้ร่างกายของคุณ เหมือนถูกสูบไปอีกมิติ จนอาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยี VR ในยุคต่อไปอาจสมจริงเสียจนลวงการดำรงอยู่ของเราได้ด้วยซ้ำ คล้ายประสบการณ์ OBE ที่สั่งได้ อาจต้องรอให้อุปกรณ์ VR ราคาลดลงมาอีกสักหน่อย คนส่วนใหญ่จึงสามารถครอบครองประสบการณ์ลวงที่ปั่นการรับรู้ของเราอย่างน่าสนใจ

 

แล้วคุณล่ะ เคยมีประสบการณ์ OBE บ้างหรือยัง? เรายังจะเชื่อประสาทสัมผัสของเราอีกไหม หากสมองมีกลไกเล่นตลกอะไรจริง อะไรลวง แม้แต่คุณเอง คนที่สนิทใจที่สุดก็เชื่อไม่ได้



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://thematter.co/byte/out-of-body-experiences-are-scientific-proven/37830

แชร์