พุทธวิธีแก้ปัญหากรณีการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ ที่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

พุทธวิธีแก้ปัญหากรณีการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ http://winne.ws/n24141

1.9 พัน ผู้เข้าชม

จากการที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้กล่าวขึ้นท่ามกลางรายการ “ถามตรงๆกับจอมขวัญ  เมื่อวันที่ 14 มิ.ย 61 ที่ผ่านมา ในกรณีการห้ามพระภิกษุจับเงิน   นายไพบูลย์ได้กล่าวถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย ดังต่อไปนี้

 นาทีที่ 16.16    

            นายไพบูลย์   “ ..พระพุทธเจ้าห้ามพระภิกษุรับเงิน.. “


 นาทีที่ 16.22

            นายไพบูลย์  “ ..การห้ามพระภิกษุรับเงินได้กำหนดไว้เป็นกฎหมายของสงฆ์  เป็นพระธรรมวินัย..”


 นาทีที่ 17.26

            นายไพบูลย์     “.. การรับเงินของพระภิกษุ  จะพาลให้ผิดศีลข้ออื่นๆ...”

 

กล่าวโดยสรุปคือ  นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้กล่าวยืนยันอย่างชัดเจนหลายครั้งในเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ทรงห้ามพระภิกษุรับเงินอย่างเด็ดขาด  และได้ทรงบัญญัติไว้เป็นพระธรรมวินัยให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดนั้น

 

  พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์  ได้แสดงความเห็น ถึงรายละเอียดพุทธวิธีแก้ปัญหากรณีการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์  ไว้ดังนี้  

พุทธวิธีแก้ปัญหากรณีการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ ที่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

สมัยเมื่อพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง(คาดว่าน่าจะประมาณ ๑๐-๓๐ รูป) จะสัญจรจาริกไปในถิ่นทุรกันดารยากลำบากอัตคัดขัดสนแร้นแค้นข้าวน้ำอาหาร หากไม่แสวงหาตระเตรียมเสบียงเดินทางข้าว สารอาหารแห้ง เนยใส เนยข้นเป็นต้นเอาไว้ล่วงหน้า ก่อนเดินทางไกลจาริกไปนั้นจะสุ่มเสี่ยงอันตรายเสียชีวิตในระหว่างทางได้ง่ายๆ


เมณฑกเศรษฐีเห็นข้อจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์จึงเข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้าขอให้ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุกลุ่มนั้นให้พวกท่านแสวงหาตระเตรียมเสบียงเดินทางไกลได้พุทธานุญาต นั้นว่าดังนี้ :-

 

  มีอยู่ ภิกษุทั้งหลายหนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัตอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไปทำไม่ได้ง่ายเราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสารต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาสต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมันต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส

   มีอยู่ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการกสั่งว่าสิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย”

พุทธวิธีแก้ปัญหากรณีการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ ที่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

พุทธานุญาตตอนหลังนี้ต่างไปจากพุทธบัญญัติตอนแรกแล้วพุทธบัญญัติเดิมตอนแรกนั้นคือ :-

“ โย ปน ภิกฺขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคเณฺหยฺยวา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ : อนึ่งภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”.

 

ความหมายในระหว่างวรรคว่า เกิดการอนุโลมผ่อนผันปรับเปลี่ยนพระวินัยบัญญัติแล้วและผู้ที่ทำการอนุโลมผ่อนผันปรับเปลี่ยนเป็นคนแรกก็คือ “พระพุทธศาสดา” นั่นเอง (พระพุทธเจ้ามิได้เอาเป็นเอาตายกับพระภิกษุสงฆ์หรอก)

พระพุทธองค์ทรงหาทางออกให้แก่พระภิกษุสงฆ์ไปตามสภาวการณ์ข้อจำเป็นบางอย่างเพื่อดำรงชีวิตประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

 

จากเดิมพุทธบัญญัติว่า

  “ให้รับก็ดีซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสัคคียปาจิตตีย์”  

 ก็ทรงปรับเปลี่ยนเป็นพุทธานุญาตใหม่ในภายหลังว่า

“เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการกสั่งว่าสิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์ (เงินทอง)นั้นได้”

กล่าวคือ  จากเดิมที่ไม่ทรงอนุญาตให้คนอื่นรับเงินทองแทนพระภิกษุสงฆ์ไม่ให้คนอื่นรับเก็บไว้เพื่อพระภิกษุสงฆ์ ไม่ให้ยินดีในปัจจัยเงินทองที่ฝากไว้ในธนาคารเป็น๑๐-๒๐ ล้านบาท โดยที่พระเจ้าอาวาสรูปนั้นมิได้แตะธนบัตรสักใบเลยพระก็ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์อยู่ดี ตามที่ไม่ทรงอนุญาตนั้นต่อมาในภายหลังก็ทรงอนุญาตให้คนอื่นคือกัปปิยการกรับเงินทองแทนพระภิกษุสงฆ์ได้

พุทธวิธีแก้ปัญหากรณีการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ ที่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

อนึ่ง จากเดิมที่พระภิกษุรูปหนึ่งรับเงินทองมาทำการสละในท่ามกลางสงฆ์สงฆ์มอบเงินทองให้แก่กัปปิยการกไปทำในสิ่งที่ควร กัปปิยการกได้นำกัปปิยวัตถุ เนยใสเนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มาถวาย พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปรับฉันได้หมดยกเว้นพระภิกษุที่รับเงินทองมาเพียงรูปเดียวนั้นรับฉันไม่ได้ต่อมาภายหลังก็ทรงอนุญาตให้รับฉันได้ตามสภาวการณ์ข้อจำเป็นในการเดินทางไกลดังกล่าวนั้น

 นี้คือความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของนายไพบูลย์ นิติตะวันเอง ที่มาบอกว่า 

“ผมเป็นนักกฎหมายอ่านวินัยบัญญัติของพระสงฆ์ออก ถ้าท่านรับเงินนำเข้าสู่บัญชีกองกลางของวัดแล้วเบิกออกมาใช้ ท่านใช้ได้ แต่ต้องไม่ใช้ว่าเป็นเงินของท่าน ใช้ว่าเป็นเงินของวัดอย่างเดียวเท่านั้น ทำอย่างนี้ท่านก็ไม่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์” 

จากต้นพุทธบัญญัติจริงๆ ที่นายไพบูลย์ นิติตะวันไปอ่านตีความเข้าใจเอาเองและมาเอาเป็นเอาตายกับพระภิกษุสงฆ์ในยุคปัจจุบันนี้ แท้จริงนั้นพระที่รับเงินมาและสละในท่ามกลางสงฆ์แล้ว ท่านจะเอามาใช้อีกว่าเป็นของสงฆ์มิใช่ของท่านไม่ได้เลย แม้ข้าวน้ำอาหารที่สงฆ์มอบเงินให้กัปปิยการกนำมาถวายในท่ามกลางสงฆ์ พระรูปที่รับเงินมาสละแล้วนั้นก็รับฉันไม่ได้ด้วย ถือเอาเคร่งครัดกันจริงๆ ตามพุทธบัญญัติเดิม วัตถุอนามาส ๓ สิ่งนี้ คือ กหาปณะเงินทอง ๑ อาวุธยาพิษ ๑ สตรี ๑ เพียงพระเอื้อมมือไปแตะถูกต้อง เช่น ถูกต้องกายสตรี โดยไม่มีจิตกำหนัดใดๆ พระท่านก็ต้องอาบัติทุกกฏเป็นอย่างต่ำ คือจะอย่างไรก็หนีไม่พ้นจากอาบัติ ต้องอาบัติกันอยู่ดีนั่นแหละ

สภาวการณ์ข้อจำเป็นของพระภิกษุกลุ่มหนึ่งในครั้งพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าทรงหาทางออกให้ได้แล้ว โดยมีกัปปิยการก (คนวัดที่มาขวนขวายในสิ่งที่ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ ทำแทนในสิ่งที่พระภิกษุสงฆ์ทำไม่ได้ เช่น จับรับเงินทองแทนมิให้ท่านถูกต้องวัตถุอนามาสอาบัติทุกกฏ ขวนขวายซื้อหาข้าวน้ำอาหารมาถวาย ถือย่ามติดตามไปออกค่าพาหนะค่าเดินทางให้แก่พระสงฆ์ได้ทุกที่) ติดตามพระภิกษุกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไกลจาริกไปนั้น

.........................................


แต่ทีนี้ปัญหาก็คือว่า กัปปิยการกจิตอาสาในยุคปัจจุบันนี้จะมาประจำพระภิกษุสงฆ์ถือย่ามติดตามไปได้ทุกที่นั้นมีไหม คำว่า “มี” ในที่นี้ หมายถึง “มีประจำ” ทุกวัดและทุกรูป กัปปิยการกคนนั้นคือใคร คนที่มาเอาเป็นเอาตายกับพระภิกษุสงฆ์อยู่ในขณะนี้ควรจะเป็นคนแรกเลย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ใช่ไหม คุณมาทำหน้าที่เป็นกัปปิยการกขวนขวายช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์องค์เณรถือย่ามติดตามไปทุกที่ได้ไหม

พุทธวิธีแก้ปัญหากรณีการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ ที่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

ในยุคปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าขอเสนอทางออกให้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่นายไพบูลย์ นิติตะวันปรารถนาให้เคร่งครัดกันยิ่งนัก ตรงตามพุทธานุญาตนั้นเลยทีเดียว คือ

๑. รัฐสรรหาบุรุษชายที่จะมาเป็นกัปปิยการกให้แก่พระภิกษุสงฆ์ โดยให้เป็นข้าราชการมีเงินเดือนรองรับตามอัตราที่เหมาะสม ปริญญาตรีจะให้เท่าไหร่ก็พิจารณาดูกันอีกที


๒. รัฐโอนเงินจำนวนหนึ่งเข้าสู่บัญชีของพระภิกษุสงฆ์ บนหน้าบัญชีนั้นให้ระบุเป็นชื่อของพระสงฆ์ ๒ รูปขึ้นไป มอบให้กัปปิยการกถือไว้ก่อน ทุกครั้งพระจะเซ็นมอบฉันทะให้กัปปิยการกคนนั้นไปเบิกเงินเอามาซื้อหากัปปิยวัตถุถวายแก่ท่าน กัปปิยการกจะเบิกเงินเอามาซื้อหากัปปิยวัตถุสิ่งใดก็ตาม ต้องแสดงบิลค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนทุกครั้งไป สมุดเงินฝากในธนาคารนั้นต้องอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ มีพนักงานบัญชีคอยตรวจสอบอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริต


๓. รัฐทำข้อตกลงกับชาวบ้านว่า หากศรัทธานำเงินมาถวายพระ พระจะให้กัปปิยการกคนนั้นรับต่อหน้าแทน และให้นำเข้าสู่บัญชีกองกลางของวัดของพระภิกษุกลุ่มนั้นทันที


๔. คัดเลือกพระภิกษุผู้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่มนี้เดินทางไปเรียนมคธภาษาบาลีที่วัดสามพระยา กลุ่มนี้เดินทางไปเรียนที่ม. มจร. มมร. กลุ่มนี้ทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรม กลุ่มนี้เดินทางไปทำศาสนกิจในต่างจังหวัด กลุ่มนี้มีกิจกรรมภายในวัดที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย กลุ่มพระภิกษุนั้นๆ เร่ิมตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป กัปปิยการกหลายคนที่ได้รับเงินเดือนจากรัฐแยกกันรับผิดชอบพระภิกษุแต่ละกลุ่มนั้นไป


๕. ให้ยกเลิกนิตยภัตรทั้งหมด เร่ิมตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกเรื่อยมาถึงพระสังฆาธิการ พระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยค รวมทั้งงบประมาณที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดสรรให้แก่วัดใดวัดหนึ่ง ๑๐ ล้าน ๒๐ ล้านนั้นก็ให้ยกเลิกเสีย ทั้งนี้ เพื่อนำเอามาเป็นเงินเดือนให้แก่กัปปิยการกซึ่งเป็นข้าราชการในการกำกับดูแลของรัฐนั้น (คนตกงานจะได้งานทำอีกเยอะมากเลยละคราวนี้)


๖. รัฐรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟทุกวัด โดยใช้เงินที่มีอยู่ในบัญชีกองกลางของวัดนั่นเองออกจ่ายก่อน ถ้าประชาชนศรัทธาถวายปัจจัยเติมเงินในบัญชีกองกลางของวัดของพระภิกษุกลุ่มนั้นไม่พอ รัฐก็ต้องจ่ายเพิ่มเติมเงินนั้นให้เพียงพอ

..............................................


ข้อมูลจากเฟซบุ๊ค : Phramaha Uten Sejjang

ขอบคุณภาพจาก :  pixabay

แชร์