มงคล ที่ 2 คบบัณฑิต

บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ ทำให้มีความเห็นถูก ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา http://winne.ws/n24816

2.8 พัน ผู้เข้าชม
มงคล ที่ 2 คบบัณฑิต

                                      คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล

                                           ผ้าที่ห่อหุ้มของหอม

                        ย่อมพลอยหอมตลบอบอวลตามไปด้วยฉันใด

                                             ผู้ที่คบบัณฑิต

                           ก็ย่อมพลอยได้รับความรู้ ความสามารถ

                            และความดีตามบัณฑิตไปด้วยฉันนั้น

 

บัณฑิตคือใคร ?

            บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติทำให้มีความเห็นถูก ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา

           - เป็นผู้รู้ดี        คือรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว

           - เป็นผู้รู้ถูก      คือรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

           - เป็นผู้รู้ชอบ    คือรู้ว่าอะไรบุญอะไรบาป

           บัณฑิต อาจเป็นใครก็ได้ เช่น อาจเป็นผู้อ่านหนังสือไม่ออกอาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจเป็นญาติของเรา ฯลฯ  แต่ไม่ว่า  จะเป็นอะไรก็ตาม  จะต้องเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส  และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นคนดีนั่นเอง

           คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญานั้นคือบัณฑิต ความจริงแล้วนั่นเป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้นยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริงเพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้วถ้าความประพฤติไม่ดีอาจไปทำผิดติดคุกติดตะรางได้แต่บัณฑิตที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบ ประกอบแต่ความดีความถูกต้อง ความสุจริต สามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกจากตะราง แม้กระทั่งจากนรกได้

 

“บัณฑิตมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา

แต่คือผู้อุดมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา”

ลักษณะของบัณฑิต

           เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูกดำเนินชีวิตอยู่ด้วย ปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย 3 ประการ คือ

           1.        ชอบคิดดีเป็นปกติ ได้แก่ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอ ไม่ผูกพยาบาทคิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่  มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น

           2.        ชอบพูดดีเป็นปกติ ได้แก่ พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำ   มีประโยชน์  พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา และพูดถูกต้องตามกาลเทศะ

           3.        ชอบทำดีเป็นปกติ ได้แก่ มีเมตตากรุณา ประกอบสัมมาอาชีวะทำบุญให้ทานเป็นปกติ รักษาศีล ทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

 

องค์คุณของบัณฑิต

           1.        กตัญญู           รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน

           2.        อัตตสุทธิ          ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป

           3.        ปริสุทธิ           ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป

           4.        สังคหะ           สงเคราะห์แก่ชุมชนทั้งหลาย

 

มงคล ที่ 2 คบบัณฑิต

วิธีสังเกตบัณฑิต

           บัณฑิตมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ

           1.        บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุราเลิกเล่นการพนัน เลิกเสพยาเสพติด ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอน ให้รักษาศีลให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ให้ทำมาหากินในทางสุจริต เป็นต้น

           2.        บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใคร ๆเร่งรีบทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ปล่อยงานให้คั่งค้างและไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่นเว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้องหรือเพื่ออนุเคราะห์

           3.        บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น ชอบพูดและทำตรงไปตรงมา ชอบสนทนาธรรมรังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นเป็นต้น

           4.        บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธ  มีนิสัยถือเอาความถูกความดี และความมีประโยชน์เป็นที่ตั้งไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น แต่เห็นว่าผู้ที่ตักเตือนตนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้นโดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่าและหากมีผู้เข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบแล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เขาเข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นและเย็นใจให้แก่ทุกคน

           5.        บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัยรักที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่าวินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริงทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวายจริง ทำให้เกิดความผาสุกจริง ฯลฯ  จึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาด รกรุงรัง

 วิธีคบบัณฑิต

           1.        หมั่นไปมาหาสู่

           2.        หมั่นเข้าไปนั่งใกล้

           3.       มีความจริงใจให้ความเกรงอกเกรงใจต่อท่าน

           4.        ฟังคำแนะนำ ฟังคำพูดของท่าน  (ฟังธรรม)

           5.        จำธรรมที่ได้ฟังนั้นไว้

           6.        พิจารณาใจความของธรรมที่จำได้นั้นให้ดี

           7.        พยายามปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟังและใคร่คราญอย่างดีแล้วนั้น

 

                              ใบพ้อพันห่อหุ้ม          กฤษณา

                              หอมระรวยรสพา         เพริศด้วย

                              คนเสพเสน่หา            นักปราชญ์

                             ความสุขซาบฤๅม้วย     ดุจไม้กลิ่นหอม

 

ประเภทของบัณฑิต

           บัณฑิตมี 2 ประเภท ได้แก่

        1.        บัณฑิตภายนอกคือบุคคลทั่วไปไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

        2.        บัณฑิตภายในคือตัวเราขณะที่คิดดี พูดดี และทำดีนั่นเอง ดังนั้น การคบบัณฑิตภายในก็คือการพยายามฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีสติรำลึกถึงแต่ความคิดที่ดี ๆเพื่อการสร้างสรรค์  คำพูดที่ดี ๆเพื่อยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น และการกระทำที่ดี ๆเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งทำได้โดยการหมั่นให้ทาน รักษาศีลและเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

 

 

อานิสงส์การคบบัณฑิต

           1.        ทำให้มีจิตใจผ่องใส สามารถทำความดีตามไปด้วย

           2.        ทำให้ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นคนหนักแน่น มีเหตุผล

           3.        ทำให้มีความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ

           4.        ทำให้ไม่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อนเพราะทำผิด

           5.        ทำให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป

           6.        ทำให้มีความสุข ปลอดภัยจากอุปสรรคภัยพาลต่าง ๆ

           7.        ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว

           8.        ทำให้แม้ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์

           9.        ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

                                                           ฯลฯ

           “แท้จริง บุคคลผู้มีปกติเที่ยวสมคบคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนานเพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ในกาลทุกเมื่อเหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนบัณฑิตมีการอยู่ร่วมเป็นสุขเหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ เพราะเหตุนั้นแล นรชนพึงคบบัณฑิต ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูตเอาการเอางาน มีศีล มีวัตร ไกลจากกิเลส และเป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น”

                                                                                    ขุ. ธ.๒๕/๒๕/๔๒-๔๓

ขอบคุณธรรมะจากเว็บ  http://www.kalyanamitra.org

แชร์