"คามิคัทสึ" เมืองเล็กๆ กับความมุ่งมั่นในการเป็นเมือง zero-waste

เมืองเล็กๆ ในญี่ปุ่นอย่างคามิคัทสึ (Kamikatsu) กับเป้าหมายสุดเจ๋ง “ภายในปี 2020 จะต้องเป็นเมือง zero-waste ให้ได้” http://winne.ws/n25547

2.3 พัน ผู้เข้าชม

     บ้านเรา เจอถังแยกขยะ 4 สี 4 แบบยังต้องดูดีๆ ก่อนจะหย่อนขยะในมือลงไป แต่เมืองเล็กๆ ในญี่ปุ่นอย่างคามิคัทสึ (Kamikatsu) พลเมือง 1,580 คน อาศัยในบ้านราว 800 หลังคาเรือน ต้องแยกขยะ 45 อย่าง 13 ประเภททุกวัน! ตั้งแต่ปี 2003 ชาวเมืองนี้ตั้งเป้าหมายสุดเจ๋งว่า “ภายในปี 2020 จะต้องเป็นเมือง zero-waste ให้ได้” แปลง่ายๆ ว่าจะไม่เหลืออะไรทิ้งเป็นขยะให้เผาหรือฝังกลบเลยแม้แต่ชิ้นเดียว 

"คามิคัทสึ" เมืองเล็กๆ กับความมุ่งมั่นในการเป็นเมือง zero-waste

     “เรารีไซเคิลทุกอย่างที่ทำได้” คาซึยูกิ คิโยฮาระ (Kazuyuki Kiyohara) ผู้จัดการสถานีขยะประจำเมืองกล่าว “อะไรที่ยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เราขายเป็นรายได้ของเมือง ส่วนที่เหลือเราพยายามหาวิธีจัดการในราคาย่อมเยา หากขยะทั้งหมดนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นั่นก็คือ zero-waste”

     ในอดีต ก่อนทศวรรษ 1950 ญี่ปุ่นเป็นสังคมรีไซเคิลตัวยงอยู่แล้ว โดยมีอัตราการรีไซเคิลขยะสูงกว่าปัจจุบันเสียอีก แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ญี่ปุ่นฟื้นประเทศ เศรษฐกิจเฟื่องฟูและโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นเต็มไปหมด ทำให้ญี่ปุ่นมีขยะอุตสาหกรรมจำนวนมาก ประกอบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง ทำให้เกิดขยะจากการก่อสร้าง และขยะจากบ้านเรือน ภายในเวลา 20 ปี (1960-1980) ปริมาณขยะทั่วญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่า ทำให้ทางการต้องขึ้นภาษีเพื่อจัดสร้างเตาเผาขยะและหาวิธีจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ จนปัจจุบัน ญี่ปุ่นไม่ถือว่าเป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องการรีไซเคิลอีกต่อไป

"คามิคัทสึ" เมืองเล็กๆ กับความมุ่งมั่นในการเป็นเมือง zero-wasteภาพ : sparcthai.org

     แม้ว่าเมืองคามิคัทสึจะไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม แต่ก็ตื่นตัวในเรื่องการจัดการขยะมากกว่าเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่น จนถูกยกให้เป็นต้นแบบ บ้านเรือนบางส่วนในเมืองตั้งอยู่ห่างๆ กัน หากจัดให้มีรถเก็บขยะไปเก็บทุกบ้านแล้วนำมาเผา จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ในปี 1994 ส่วนราชการท้องถิ่นของเมืองจึงระดมสมองกันเพื่อคิดวิธีลดและจัดการขยะ การสำรวจเบื้องต้นพบว่า ขยะสดมีปริมาณสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณความชื้นสูง จึงสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการเผาหนักเข้าไปอีก ทางการจึงลองวิธีที่ดีกว่านั้น คือทำเป็นปุ๋ยหมัก และให้เงินอุดหนุนแก่ชาวบ้านที่ต้องการซื้อเครื่องแปรรูปขยะสด (ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับญี่ปุ่นในขณะนั้น) บ้านเรือนร้อยละ 97 ต่างซื้อเครื่องนี้มาใช้ ก่อนจะเริ่มใช้กระบวนการรีไซเคิลขยะอื่นๆ ในปี 1997 เป็นต้นมา

     ชาวเมืองคามิคัทสึต้องปรับตัวในระยะแรกๆ เพื่อ ‘เตรียม’ ขยะก่อนนำไปส่งมอบให้สถานีจัดการขยะ โดยต้องล้างให้สะอาดและแยกเองก่อนหนึ่งรอบ และทางการท้องถิ่นจะจัดหาผู้ประกอบการที่จะนำวัสดุต่างๆ ไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เมื่อจำนวนผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนเมืองนี้ต้องแยกวัสดุต่างๆ ที่ต้องการทิ้งออกเป็น 45 อย่างเพื่อนำมาให้ “สถานีจัดการขยะ” ประจำเมืองที่สะอาดสะอ้านและเป็นระเบียบเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่แน่ใจว่าขยะนี้จะลงถังไหนดี โลหะถูกแยกทิ้งเป็น 5 ชนิด พลาสติก 6 ชนิด และกระดาษ 9 ชนิด ขยะบางประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้จริงๆ เช่น พีวีซี ยาง ผ้าอ้อมเด็กแบบใช้แล้วทิ้ง ผ้าอนามัย จะถูกนำไปเผา

"คามิคัทสึ" เมืองเล็กๆ กับความมุ่งมั่นในการเป็นเมือง zero-wasteภาพ : sparcthai.org

     ในเมือง มีร้านที่ชาวบ้านนำเสื้อผ้าหรือเครื่องเรือนที่ไม่ใช้แล้วไปฝากไว้ ใครเอาของไปให้ จะแลกกับของชิ้นอื่นๆ ที่ร้านก็ได้ นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่เหล่าพนักงานช่วยกันทำผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัสดุเหลือใช้ เช่น เอากิโมโนเก่าๆ มาทำตุ๊กตาหมี เป็นต้น 

     การคัดแยกวัสดุเหลือทิ้งแบบ ‘ละเอียดสุดๆ’ ทำให้ขายขยะได้ราคาสูง เฉพาะกระดาษกับโลหะสามารถขายนำเงินเข้าชุมชนได้มากถึง 2.5-3 ล้านเยนต่อปี (ราว 7.3-8.7 แสนบาท) และเงินจำนวนนี้จะถูกนำกลับมาสนับสนุนการจัดการขยะของเมืองต่อไป ทำให้ชาวเมืองร่วมแรงร่วมใจกันคัดแยกขยะ จนปัจจุบันมีอัตราการรีไซเคิลขยะอยู่ที่ 81% ซึ่งสูงมากๆ (เมื่อเทียบกับในระดับประเทศที่ญี่ปุ่นรีไซเคิลขยะได้เพียง 19% สหรัฐอเมริกา 35% อังกฤษ 43% เกาหลีใต้ 59% และออสเตรีย 58%) 

     แน่นอนว่า เมืองเล็กๆ อย่างคามิคัทสึจะบริหารจัดการขยะได้ง่ายกว่าประเทศใหญ่ที่มีประชากรหลักสิบล้าน ร้อยล้าน แต่หากลองเปรียบเทียบว่าเมืองๆ นี้ก็มีประชากรไม่มากไม่น้อยไปกว่าละแวกบ้านของเราในรัศมีไม่ถึงสิบกิโลเมตร หากเขารีไซเคิลขยะได้ถึง 81% เราก็ย่อมทำได้ในชุมชนของเรา บ้านของเรา แค่ลองช่วยกันแยกขยะและนำวัสดุที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ปล่อยให้หน้าที่นี้เป็นของคุณลุงซาเล้งแต่เพียงผู้เดียว


ขอขอบคุณภาพ / เนื้อหา : creativethailand

เรื่อง : กรณิศ รัตนามหัทธนะ

แชร์