ดูแลพ่อแม่อย่างไร ให้ท่านสุขใจ

ถ้ายังมีโอกาสที่จะทำให้พ่อแม่บ้าง ก็น่าทำนะคะ ก่อนที่จะไม่มีพ่อกับแม่ให้ได้ดูแล…ลูกทุกคนปากบอกว่า “รักพ่อ รักแม่” แต่การปฏิบัติต่อท่านไม่เหมือนอย่างที่พูด http://winne.ws/n6454

1.5 หมื่น ผู้เข้าชม
ดูแลพ่อแม่อย่างไร ให้ท่านสุขใจ

คุณหมอสิรินทร ฉันศิริกาญจน ผู้แต่งหนังสือ “คู่มือดูแลพ่อแม่” สำนักพิมพ์ More of Life มาฝากท่านผู้อ่านกันค่ะ ซึ่งบทความนี้นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือฉบับดังกล่าวแล้ว ยังเหมาะสำหรับลูก ๆ ทุกคนที่มีโอกาสได้ดูแลพ่อแม่ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และทำให้อยู่ร่วมกันกับพ่อแม่วัยชราได้อย่างมีความสุขนะคะ ส่วนเนื้อหาจะเป็นเช่นไร และมีประโยชน์อย่างไรนั้น ติดตามกันได้เลยค่ะ

แค่รักยังไม่พอ

ลูกทุกคนปากบอกว่า “รักพ่อ รักแม่” แต่การปฏิบัติต่อท่านไม่เหมือนอย่างที่พูด บางครั้งเราก็ลืมนึกถึงใจท่าน ความต้องการของท่าน และศักดิ์ศรีของท่าน

หมอ เห็นญาติคนไข้บางคนบ่นว่าพ่อแม่ดูแลยากกว่าดูแลเด็กอีก หมอเห็นด้วยว่ายากกว่า เพราะจะดุหรือตีไม่ได้ ถึงแม้ท่านจะอายุมาก หลง ๆ ลืม ๆ ความสามารถถดถอยลงไป แต่อย่างไรเสีย

เราก็ยังต้องนึกถึงความมีศักดิ์ศรีของท่าน ไม่ควรไปบั่นทอนความรู้สึกนี้ลงไป ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า เราต้องปฏิบัติต่อท่านด้วยความเคารพและให้เกียรติเสมอ


และ นี่เป็นเหตุผลให้หมอพบเสมอ ๆ ว่า ความไม่เข้าใจกันในเรื่องนี้เป็นปัญหาอุปสรรคในการดูแลผู้สูงอายุอยู่บ่อย ๆ ลูกมักบอกว่าพ่อแม่ดื้อ อยากให้พ่อแม่เป็นอย่างใจต้องการ ไม่อยากให้ท่านต้องเหนื่อย ก็บังคับให้อยู่เฉย ๆ บ้าง หรือลูกบางคนอาจตามใจมากเกินไปจนเหนื่อยใจเสียเองก็มี

 
ลูก หลานบางคนก็ดี มีปัญหาก็มาถามหมอว่าเขาควรจะจัดการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างไร พออธิบาย เขาก็เข้าใจนำไปปฏิบัติได้..ซึ่งมีน้อยมาก แต่ลูกหลานอีกจำนวนหนึ่งพึ่งหมออย่างเดียว คิดว่าพาผู้สูงอายุมาหาหมอแล้วหมอจะสามารถทำให้ท่านอยู่ดีมีสุข ซึ่งก็มีส่วน แต่คนสำคัญที่สุดก็คือลูกหลานซึ่งเป็นคนใกล้ชิดกับท่านมากที่สุด รู้นิสัยใจคอ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับท่าน              

ดูแลพ่อแม่อย่างไร ให้ท่านสุขใจ

ลองเปรียบเทียบลูก 2 ครอบครัวนี้     

ครอบครัวแรก…

“ดูซิ พ่อของหนูเขาชอบนอนกระดาน ปูเสื่อ ไม้ท่อนนึง ให้นอนอย่างอื่นนอนไม่ได้ ไม่หลับ มีเงินตั้งเยอะแยะ” น้ำเสียงที่พูดไม่พอใจ
    

ครอบครัวที่สอง…

เรื่องเดียวกัน ประโยคคล้ายกัน แต่น้ำเสียงที่พูดมีความอ่อนโยนแสดงความเข้าอกเข้าใจ

“พ่อเขาก็นอนอย่างนั้นละครับ ผมถามเขาว่าขึ้นมานอนบนเตียงมั้ย พ่อบอกนอนไม่ถนัด ก็แล้วแต่เขาแล้วกันครับ”


พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะรู้สึกว่าถูกลูกหลานกระทบกระเทียบ หรือเข้าใจยอมรับ ก็จากน้ำเสียงและท่าทางการพูดที่แสดงออกนี่แหละ ตามหลักแล้ว การนอนพื้นกระดานอาจไม่เหมาะกับท่านนัก แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ไม่ถึงกับเสียหายร้ายแรงก็ต้องยอมให้ท่านบ้าง และรู้จักปรับไปตามสถานการณ์ แต่ก็ไม่ใช่ตามใจทุกอย่าง

ดูแลพ่อแม่อย่างไร ให้ท่านสุขใจ

ปัญหาประจำบ้าน เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก      

 ความ ไม่เข้าใจกันระหว่างผู้สูงอายุและลูกหลานทีรวมรวบมาเล่าสู่กันฟังนี้ เป็นปัญหาที่พบบ่อยจากประสบการณ์ที่หมอดูแลคนไข้มาและได้พูดคุยกับญาติผู้ สูงอายุ บางครั้งหมอก็ต้องดูแลใจของญาติผู้สูงอายุไปด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่ทำให้ขัดแย้งกันบ่อย ทำให้เครียด ไม่มีความสุขด้วยกันทุกฝ่าย ถ้าเข้าใจกันมากขึ้นลดการทะเลาะเบาะแว้งลง คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจะดีขึ้น นอกจากไม่ตกอยูในบรรยากาศที่ตึงเครียดแล้ว ผู้สูงอายุจะให้ความร่วมมือกับผู้ดูแลมากขึ้น


ขี้เกรงใจ ขี้น้อยใจ      

หมอ พบบ่อย ๆ ว่า ผู้สูงอายุมักจะไม่เอ่ยปากว่าอยากได้หรือต้องการอะไรบ้าง ดังนั้นลูกหลานต้องจัดหามาให้เอง โดยทำให้ก่อนแล้วดูว่าท่านชอบไหม ถ้าปลื้มก็คอยคอยหามาเอาใจ ของดี ๆ ที่เราตั้งใจให้ ท่านอาจจะไม่รับก็มี หมอจึงเข้าใจพวกลูกหลานที่อยากเอาใจผู้ใหญ่ว่ารู้สึกอย่างไร ***คุณตาคุณยายก็มักจะเป็นแบบนี้ ถึงเราจะเสียใจหรือโกรธก็ลองพูดดี ๆ กับท่าน ว่าเราอยากให้ท่าน อยากตอบแทนพระคุณ ถ้าท่านไม่เปลี่ยนใจก็พยายามทำใจว่าท่านเป็นอย่างนี้ แล้วปล่อยผ่านไปเสียบ้าง

ให้อะไรก็เก็บหมด หรือไม่ก็แจกหมด  

เวลา ลูกหลานหาของมาให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายายก็จะเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุด จะเป็นของกินหรือของใช้ก็ตาม แต่ผู้สูงอายุมักจะเก็บของกินดี ๆ เอาไว้ใส่บาตร ถวายหลวงพ่อที่นับถือไม่ยอมกินเอง หรือท่านอาจจะนึกถึงหลาน ๆ ก็จะเก็บไว้ให้หลาน คนให้ก็โกรธเพราะคาดหวังว่าท่านจะได้กินได้ใช้ ไม่ใช่ยกให้คนอื่น

ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องถนอมน้ำใจกันและกัน บางทีก็ต้องบอกผู้สูงอายุให้ทราบด้วยว่าลูกหลานมีความตั้งใจอย่างไร ขอให้ท่านได้กินได้ใช้ให้เขาเห็นบ้างเพื่อให้เขาสบายใจ ยิ่งมีลูกหลาย ๆ คน ของที่คนนี้ให้เอาไปยกให้อีกคน อาจทำให้คนให้น้อยใจ และเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ส่วนคนให้ ถ้าไม่อยากโกรธหรือเสียใจเวลาให้ของท่านแล้ว จิตควรจะตั้งอยู่ที่การให้ ส่วนท่านจะนำไปทำอะไรต่อไม่ต้องคิดมาก


รักคนไกลไม่รักคนใกล้  

ลูก คนที่ดูแลพ่อแม่ใกล้ชิดอยู่ทุกวันมักจะรู้สึกว่า พ่อแม่รักลูกคนอื่นที่อยู่ไกลตัวมากกว่า ถามว่าท่านรักคนที่อยู่ใกล้ตัวไหม ท่านย่อมรัก แต่ไม่ได้แสดงออก เวลาเราทำให้ท่าน ก็อยากได้รักตอบแทนมากเท่ากัน แต่ความรักเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ ถึงเราจะทำดีที่สุด ท่านยังแสดงออกว่ารักลูกคนอื่นมากกว่าก็ต้องทำใจ อาจทำใจยาก แต่ถ้าทำได้แล้วจะไม่เป็นทุกข์ อย่างน้อยเรากับท่านก็มีช่วงเวลาดี ๆ ด้วยกัน มาเพิ่มช่วงเวลาดี ๆ เหล่านี้จะดีกว่า และคิดเสียว่า เป็นความสุขของท่าน เราควรจะดีใจ คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องอย่าลืมว่า ลูกคนที่อยู่ใกล้คือคู่ทุกข์คู่ยาก จะชื่นชมลูกคนไกล หรือลูกสุดรักสุดโปรดก็ควรจะเบา ๆ หน่อย

ดูแลพ่อแม่อย่างไร ให้ท่านสุขใจ

พ่อแม่ลูกแบบไหนทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก  

ผู้สูงวัยกับลูกหลานที่อยู่ใกล้ชิดดูแลกันอยู่ บางคู่ก็กังฟูไฟติ้งกันตลอดเวลา ทำให้การดูแลที่ควรจะง่ายกลับกลายเป็นเรื่องยาก ก็ด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัวแบบนี้

ผู้สูงวัยแบบ “ใหญ่” ตลอดกาล  

เมื่อ ก่อนเคยเป็นใหญ่ทั้งในบ้านและที่ทำงาน เคยเก่งนอกบ้าน อยู่บ้านก็กดดันคนอื่น ๆ บุคลิกแบบนี้จะปรับตัวกับการเจ็บป่วยได้ยาก ดังนั้นต้องหาคนที่ผู้สูงอายุชอบพอ ไว้วางใจ มาพูดมาอธิบายให้ท่านเข้าใจว่า เวลานี้สภาพร่างกายเปลี่ยนไป ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น ท่านจะต้องทำตัวอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ พูดให้ท่านเห็นใจลูกหลานคนดูแลด้วยว่าเขาลำบากอย่างไรหากท่านไม่ยอมให้ความ ร่วมมือ และให้ท่านมีมุมมองว่า การปรับตัวนี้ไม่ได้เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของตัวท่าน


ผู้สูงวัยแบบปฏิเสธทุกกรณี  

ผู้สูงอายุบางคนชอบบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ปวด ไม่ไปหาหมอ ไม่ตรวจ ไม่ทำอะไรทั้งนั้น ผู้สูงวัยลักษณะนี้ดูแลยากมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลัวลูกจะเสียสตางค์ มาเจออีกทีกลาเป็นว่า เสียน้อยเสียยากมีอาการมากแล้ว บางคนชอบพูดว่า “ฉันป่วยก็เผาฉันเลย” หรือ “แก่แล้วเดี๋ยวก็ตาย” ที่ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ตาย ไม่ตายง่ายอย่างที่คิดสักราย เพราะฉะนั้นถ้ายอมให้ดูแลรักษาง่ายขึ้นอีกนิด ผู้สูงอายุจะไม่ต้องทรมานร่างกาย และมีโอกาสพึ่งพาตัวเองอย่างที่ต้องการได้ด้วย


ลูกที่ “จัดการธุรกิจ” ลืมนึกถึงจิตใจ

     
คนไข้รายหนึ่งมานอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล มีลูกชายคนเดียว ลูกชายทำธุรกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยกว่าอยู่เมืองไทย จึงให้เงินติดกระเป๋าไว้มากทีเดียว ใครมาเยี่ยมกี่คนคุณยายก็แจกสตางค์ไปจนหมด ลูกชายโกรธมาก มาเยี่ยมก็ขึ้นเสียงว่า ต่อไปนี้จะไม่ให้เงินแล้ว แล้วก็กลับไปทำงาน โดยไม่รู้ว่าแม่เสียใจแค่ไหน

กรณี ของคนไข้อีกรายหนึ่งก็น่าสงสารเช่นเดียวกัน รายนี้อาการดีพอกลับบ้านไหว หมอบอกับคนไข้ว่าจะให้กลับบ้าน คนไข้ดีใจลุกขึ้นมาคว้าวอล์กเกอร์เดินรอบห้อง ช่วงนั้นปีใหม่พอดี ญาติมาบอกหมอว่า ขอฝากคนไข้ไว้ก่อน วันที่ 5 ค่อย มารับ ไม่ได้บอกเหตุผล รู้แต่ว่าช่วงนี้ญาติ ๆ ไม่อยู่ หมอบอกกับญาติว่าอยากให้ท่านกลับบ้าน เพราะอยู่ที่นี่หลายวัน กลางคืนท่านจะนอนน้อย ก็ตกลงวันกันใหม่ ลูกบอกแม่ว่าจะมารับวันที่ 3 แม่ลงไปนอนเตียงไม่ลุกขึ้นมาอีกเลย


ลูก ๆ ประเภทนี้ ถ้าหมอบอกว่าคุณยายเศร้า เขาก็จะบอกหมอให้ยาต้านเศร้า แต่จริง ๆ แล้วท่านต้องการการดูแลเอาใจใส่ทางด้านจิตใจมากกว่า


ที่มา https://ac127.wordpress.com/2014/12/14/คู่มือ-การดูแลพ่อแม่

ขอบคุณภาพ  www.thaihealth.or.th

                                www.google.com



แชร์