ทำไม ? นอนละเมอ เดินละเมอ แก้อย่างไร ?

ทำไม ? นอนละเมอ เดินละเมอผวา กรีดร้อง แก้อย่างไร ? http://winne.ws/n8501

839 ผู้เข้าชม
ทำไม ? นอนละเมอ เดินละเมอ แก้อย่างไร ?ขอบคุณภาพจาก www.matichon.co.th

ผลการศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐฯ พบว่า ร้อยละ 3.6 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะเดินละเมอ ซึ่งสูงกว่าที่เคยมีการเข้าใจกัน ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากอาการที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิต  อาทิ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ และอาการผิดปกติขณะนอนหลับอื่น ๆ

         วารสารประสาทวิทยาลงพิมพ์ผลการศึกษา โดยศึกษาในผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 19,000 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใน 15 รัฐ โดยใช้คำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนหลับ สุขภาพทั่วไป การรับประทานยา และความผิดปกติทางสมอง โดยผู้ที่มีรายงานว่ามีพฤติกรรมนอนละเมอ จะถูกสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับความถี่ ความยาวนานของการละเมอ ประวัติครอบครัว และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือมีแนวโน้มที่เสี่ยงอันตรายระหว่างการนอน

        นอกจากนั้น พบว่าร้อยละ 29 เคยนอนละเมออย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 ของร้อยละ 3.6 ที่เคยมีพฤติกรรมเช่นนี้ภายใน 1 ปี  กล่าวว่า พวกเขานอนละเมอ 2 ครั้งหรือมากกว่าในแต่ละเดือน  ทั้งนี้ ประวัติครอบครัวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากพบว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่เคยเดินละเมออย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา  มีสมาชิกในครอบครัวที่เคยมีอาการผิดปกติ

         นักวิจัยสอบถามผู้เข้าร่วมการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการนอนหลับ สุขภาพโดยรวม และความผิดปกติในการนอนหลับพบว่า คนบางกลุ่มมักเดินละเมอมากกว่าคนอื่น คนกลุ่มนี้มักมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนไม่หลับ ดื่มสุราหนัก รับประทานยานอนหลับ โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ มีโอกาสมากกว่าคนปกติถึง 3.5-3.9 เท่าที่จะนอนละเมอ และผู้ที่ใช้กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ในการต้านอาการซึมเศร้า (SSRI) มีโอกาสที่จะเดินละเมอ 2 ครั้งหรือมากกว่าต่อเดือน มากกว่าคนปกติ 3 เท่า  นอกจากนี้ ยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนนอนละเมอมีคนในครอบครัวนอนละเมอเช่นกัน

          ผลการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าการเดินละเมอมักเกิดขึ้นในวัยเด็กและจะค่อย ๆ หายไปเมื่อโตขึ้น อาการนอนละเมอมีตั้งแต่พูดขณะหลับไปจนถึงลุกขึ้นเดินจากเตียง ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่หากเดินละเมอลงบันไดหรือเดินละเมอออกจากบ้าน (ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1337068680 )

ปัญหาการนอนละเมอในเด็ก แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

       1. ละเมอฝันผวา (night terror) ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุ 4-7 ปี อาการสำคัญคือ ตกใจตื่นขึ้นอย่างฉับพลัน บางครั้งก็หวีดร้องด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากฝันร้ายตรงที่เด็กจะจดจำอะไรไม่ได้เลย กรณีนี้มักไม่เกี่ยวกับสิ่งกระตุ้น แต่เกิดจากระบบประสาทของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้การจัดเรียงข้อมูลในสมองทำงานไม่เป็นระเบียบ อาการจะเกิดขึ้นในวันที่เด็กมีความเครียด แต่ไม่ใช่เพราะเด็กมีปัญหาทางอารมณ์

       การปลุกให้ลูกตื่นจากละเมอฝันผวาหรือพยายามคุยกับเขาในช่วงนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะอาจยิ่งทำให้มีอาการนี้นานขึ้น เช่น แทนที่ลูกจะตื่นมาร้องแค่ 5 นาที ต่อไปอาจจะกินเวลาถึง 15 นาทีได้

       วิธีที่ควรทำก็เพียงแต่อุ้มลูกมากอดไว้ ลูบหัว ตบก้น โยกตัวเบาๆ และปลอบให้เขานอนต่อ เพราะถึงอย่างไรเขาเองก็จะจำฝันนี้ไม่ได้ในวันรุ่งขึ้น

       2. ละเมอเดิน (sleepwalking) มักเกิดกับเด็กโต ลูกอาจจะเดินไปรอบห้อง หรือเดินไปข้างนอกห้องหรือนอกบ้านทั้งๆ ที่ไม่รู้ตัวก็ได้ และเมื่อตื่นก็จะจำอะไรไม่ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้

       หากลูกมีอาการไม่มาก พ่อแม่สามารถปรับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอันตรายไว้ก่อนได้ โดยจัดห้องนอนให้โล่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เดินชนสิ่งกีดขวาง ประตูหน้าต่างต้องแน่นหนาเพื่อไม่ให้ละเมอเดินออกไปข้างนอก ควรหลีกเลี่ยงเตียงสองชั้น หันมาใช้เตียงธรรมดาหรือฟูกแทน หากมีอาการมากก็ไม่ควรให้ลูกนอนคนเดียว( http://www.manager.co.th)

ที่มา http://beautyallskins.blogspot.com/2013_11_01_archive.html

ทำไม ? นอนละเมอ เดินละเมอ แก้อย่างไร ?ขอบคุณภาพจาก www.todayhealth.org
แชร์