ที่มาที่ไป..ทำไมต้องเป็น"เเพะรับบาป"

ท่านคงเคยได้ยินได้ฟังสำนวนไทยที่ว่า “แพะรับบาป” และก็คงจะสงสัยว่าเหตุใดไฉนแพะจึงเป็นสัตว์ที่ต้องมารับบาปด้วย จะเป็นสัตว์อื่นไม่ได้หรือ? http://winne.ws/n8091

2.1 พัน ผู้เข้าชม
ที่มาที่ไป..ทำไมต้องเป็น"เเพะรับบาป"ภาพจาก google.com

ท่านคงเคยได้ยินได้ฟังสำนวนไทยที่ว่า “แพะรับบาป” และก็คงจะสงสัยว่าเหตุใดไฉนแพะจึงเป็นสัตว์ที่ต้องมารับบาปด้วย จะเป็นสัตว์อื่นไม่ได้หรือ?

           “สมัยนั้น แพะคงหาได้ง่ายกว่าสัตว์อื่นมั้ง”
           “แพะเป็นสัตว์ไม่มีอันตรายจับได้ง่ายมั้ง”
           “ไม่รู้ซิ”

           หากถามหลาย ๆ ท่านก็คงจะได้รับคำตอบทำนองนี้ แต่คำตอบเช่นนี้เป็นคำตอบที่คาดเดา หาความแน่นอน ชัดเจนถูกต้องไม่ได้ ส่วนคำตอบที่ถูกต้องมีหลักฐานยืนยันได้ถึงสาเหตุที่ทำให้แพะต้องมารับบาปนั้น ผู้เขียนขอนำศัพที่คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากลแห่งราชบัณฑิตยสถานได้พิจารณาแล้วและมีมติ ดังนี้

           คำว่า “แพะรับบาป” หมายถึง ผู้ที่มิได้กระทำผิด แต่กลับต้องเป็นผู้รับโทษ หรือรับความผิดที่ผู้อื่นกระทำไว้ ที่มาของคำนี้ปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นคัมภีร์ของชาวอิสราเอลผู้มีภูมิหลังเป็นผู้เลี้ยงแพะ แกะเป็นอาชีพ

           แพะรับบาปเป็นพิธีปฏิบัติในวันลบบาปประจำปีของชาวอิสราเอล (the annaul day of atonement) ซึ่งเริ่มด้วยการปุโรหิตถวายวัวเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของตนเองและครอบครัวเมื่อเสร็จพิธีแล้วนั้น ปุโรหิตจะนำแพะ ๒ ตัวไปถวายพระเป็นเจ้าที่ประตูเต็นท์นัดพบ และจะเป็นผู้จับสลากเลือกแพะ ๒ ตัวนั้น

           สลากที่ ๑ เป็นสลากสำหรับแพะที่ถวายแก่พระเป็นเจ้าอีกสลากหนึ่งเป็นสลากสำหรับแพะรับบาป หากสลากแรกตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นจะถูกฆ่าและถวายเป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของประชาชน เรียกว่า “แพะไถ่บาป”

           ส่วนสลากที่ ๒ หากตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นเรียกว่า “แพะรับบาป” ซึ่งปุโรหิตจะถวายพระเป็นเจ้าทั้งยังมีชีวิตอยู่ แล้วใช้ทำพิธีลบบาปของประชาชนโดยยกบาปให้ตกที่แพะตัวนั้นเสร็จแล้วก็จะปล่อยแพะตัวนั้นให้นำบาปเข้าไปในป่าลึกจนทั้งแพะและบาปไม่สามารถกลับมาอีก (ลนต. ๑๖ : ๖–๑๐ ๑๕–๒๒)

           ส่วนในศาสนาฮินดู เซอร์มอเนียร์ วิลเลียมส์ (Sir Monier Williams) สันนิษฐานว่า การฆ่ามนุษย์บูชายัญคงไม่เป็นที่ถูกอัธยาศัยพื้นฐานของพวกอารยัน คัมภีร์พราหมณะจึงอธิบายว่าเทวดาฆ่ามนุษย์ ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญก็ออกไปจากมนุษย์เข้าสู่ร่างม้า ม้าจึงกลายเป็นสัตว์ที่เหมาะสมจะใช้ฆ่าบูชายัญ เมื่อฆ่าม้า ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชาก็ออกจากตัวม้าไปเข้าสู่ร่างโค เมื่อฆ่าโค ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชา ก็ออกจากตัวโคไปเข้าสู่ร่างแกะ จากแกะไปสู่แพะ ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชา คงอยู่ในตัวแพะนานที่สุด เพราะฉะนั้น แพะจึงกลายเป็นสัตว์เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ฆ่าบูชายัญ ซึ่งก็ทำให้เห็นที่มาอีกแห่งหนึ่งของคำว่า “แพะรับบาป”

           คำอธิบายของคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล คงตอบปัญหาข้อสงสัยของท่านผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจาก : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๐๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

แชร์