ดอนปู่ตา!!!ป่าวัฒนธรรมของชาวอีสาน

ชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องอำนาจของผีบรรพชนและป่าดอนปู่ตาอย่างจริงจัง ปฏิบัติ ยึดถือ และละเว้นอย่างเคร่งครัด จะไม่มีชาวบ้านคนใดเข้าไปตัดต้นไม้หรือจับสัตว์น้ำโดยเฉพาะเต่า ตะพาบน้ำ ตะกวด เป็นต้น http://winne.ws/n12676

6.0 พัน ผู้เข้าชม
ดอนปู่ตา!!!ป่าวัฒนธรรมของชาวอีสาน

        เมื่อประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคอีสานมีพื้นที่ป่าถึง 44 ล้านไร่เศษ แต่ปัจจุบันไม่น่าจะเหลือถึง 10 ล้านไร่ ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในแต่ละปีป่าถูกทำลายไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่ หากไม่ช่วยกันรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ไว้เสียตั้งแต่วันนี้ คาดว่าพื้นที่อีสานจะสิ้นสภาพป่าอย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาอันใกล้

  อันที่จริงมนุษย์มีความผูกพันอย่างเน้นแฟ้น จนไม่อาจจะแยกป่าออกจากวงจรชีวิตได้

         ป่าเป็นสังคมของพืช สัตว์ และมนุษย์ เป็นแหล่งกำเนิด แหล่งขยายพันธุ์ เป็นต้นน้ำ ลำธาร เป็นขุมทรัพย์แร่ธาตุ ผลิตผลพืชพันธุ์หลายชนิด ทั้งอาหารเครื่องใช้ไม่สอย ตลอดจนยาสมุนไพรที่เกี่ยวโยงผูกพันเกี่ยวกับการสอดคล้องต่อเนื่องมานานนับศตวรรษ

         สภาพป่าอีสานที่เป็นอยู่ มีสองประเภทกล่าวคือ “ป่าหลวง” ซึ่งเป็นป่าขนาดใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวางมีลักษณะเป็นดงทึบ มักอยู่ห่างไกลชุมชน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์และสัตว์ป่าหลากหลายชนิด และ “ป่าวัฒนธรรม” อันเป็นผืนป่าส่วนรวมของชุมชน ซึ่งชุมชนได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตปริมณฑลขึ้นตามความจำเป็นในการดำรงชีพตามแบบอย่าง กรอบจารีตประเพณีอีสาน 

         ป่าวัฒนธรรมจึงเป็นป่าที่มีบริเวณอยู่รอบชุมชน มีพื้นที่ไม่มากนักแต่ชาวบ้านจะพึ่งพาได้ค่อนข้างเต็มรูปแบบ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ตามลักษณะสภาพที่เป็นจริง หรือตามประโยชน์ใช้สอย เช่น ป่าปู่ตา ป่าช้า ป่าทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าวัดป่า เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ป่าไม่ว่าจะเป็นปะเภทใดก็ตาม จัดเป็นระบบนิเวศวิทยาที่ธรรมชาติได้จัดสรรไว้อย่างกลมกลืน สอดคล้องและสมดุลไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือมนุษย์ต่างก็ได้พึ่งพาอาศัยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันเสมอมา

         ไม้ใหญ่น้อย ไม่เถา ไม้เลื้อย รวมไปถึงผลิตผลป่าด้านอื่นๆ มีเห็ดชนิดต่างๆทั้งเห็ดปลวก เห็ดผึ้ง เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดไค เห็ดดิน เห็ดขอน เห็ดขาว หรืออาหารพืชพันธุ์ผักประเภทผักหวาน ผักกูด ผักเม็ก ผักกระโดน สะเดา กะบก ผักติ้ว ดอกกระเจียว ยอดหวาย หน่อไม้ ก็มีให้เก็บเกี่ยวได้อย่างไม่ขาดมือ ดอกไม้ ผลไม้ป่า ก็มักจะแต้มสีสันแข่งขันกันประดับป่าได้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งเงาะป่า มะม่วง มะเฟือง มะไฟ พลับ ตะโก ตะคร้อง หว้า มะหวด สมอ มะขามป้อม เป็นต้น แมลงจำพวก กุดจี่ แมงแครง กินูน แมงตับเต่า จักจั่น ตั๊กแตน แมงกี่ชอน แมงมัน ผึ้ง แตน ต่างดำเนินชีวิตไปตามเพศพันธุ์ ได้พึ่งพาอาศัยแมกไม้ทั้งดอก ผล ใบ ยอด ตามฤดูกาลแห่งพืชพันธุ์ทั้งปวง

ความเป็นมา

         อีสานเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่สืบทอดมรดกจากบรรพชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยผูกพันกับธรรมชาติป่าวัฒนธรรมชุมชนอย่างเน้นเฟ้น ได้รับการสั่งสมแนวคิด ภูมิปัญญา ปลูกศรัทธา คติ ความเชื่อจนเป็นแบบแผนการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า อันแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของทรัพยากรบุคคลและสังคมพื้นถิ่น

         สังคมอีสานเคร่งครัดในรูปแบบของประเพณี พิธีกรรม เชื่อถือในเรื่อง บาป-บุญ คุณ-โทษ ขวัญ-วิญญาณ เทวดาอารักษ์ ตลอดจนผีสางนางไม้อย่างจริงจัง โดยมีการเซ่นสรวงบัดพลีตามฤดูกาลพร้อมกันนี้ กังปฏิบัติภารกิจทางศาสนาด้วยความมั่นคงตามค่านิยมของชุมชน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ หรือแก้ไขปัญหาชีวิตที่พึงมี อันจะเป็นประหนึ่งภูมิคุ้มกันภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวงมิให้มากล้ำกรายตน หรือครอบครัวตลอดจนทุกชีวิตในชุมชน นอกจากนี้ยังได้แสดงถึงความกตัญญูเชิดชูคุณความดีของบรรพชนผู้กลายเป็นผีไปแล้วอีกด้วย

         คติความเชื่อเรื่อง “ผี” นั้นชาวอีสานเชื่อกันว่า ผีมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเป็นผีประเภทแผ่คุณความดี ช่วยคุ้มครองปกป้องภัยพิบัติทั้งปวงที่จะมากล้ำกราย ตลอดจนดูแลรักษาชุมชนให้เกิดสันติสุข ขณะเดียวกันก็อาจบันดาลให้เกิดความเดือดร้อนยุ่งยากได้ หากผู้ใดล่วงละเมิดขาดความเคารพยำเกรง หรือมีพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาของชุมชน กลุ่มผีดังกล่าวมีผีเจ้า ผีนาย ผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีปู่ย่า ผีปู่ตา ผีตายาย ผีมเหสักข์ หลักเมือง ผีฟ้า ผีแถน ผีมด ผีหมอ ผีเจ้าปู่หลุบตา หรือผีที่ชาวบ้านนับถือเฉพาะถิ่นซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เป็นต้น ส่วนผีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผีร้ายที่คอยมุ่งทำลายล้าง เบียดเบียน ก่อความวุ่นวายสับสนให้เกิดโทษภัยอยู่เนืองๆ เช่น ผีปอบ ผีเปรต ผีแม้เล้ง ผีห่า เป็นต้น

         เมื่อชาวอานได้ก่อตั้งชุมชนขึ้นมา ณ บริเวณใดก็ตามย่อมจะต้องสร้างบ้านเรือน โรง หอ หรือศาล (ตูบ) ไว้เป็นที่พำนักอาศัยของกลุ่มผีประเภทที่ให้คุณไว้เสมอ ณ บริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นที่พึ่งพิงสำหรับบูชาเซ่นสรวงสังเวยเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ

         กลุ่มผีให้คุณที่ชาวอีสานดูจะให้ความเคารพศรัทธาค่อนข้างมากนั้นดูจะเป็น “ผีปู่ตา” ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผีบรรพชน หรือกลุ่มผีประจำตระกูลที่ล่วงลับไปแล้วของชาวอาน แต่ดวงวิญญาณยังเป็นห่วงบุตรหลานอยู่จึงเฝ้าคอยดูแล รักษา คุ้มครอง ป้องกันภัยร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในชุมชนโดยมอบหมายกำหนดให้ “เฒ่าจ้ำ” ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานสื่อสารระหว่างผีบรรพชนกับชาวบ้าน ความเชื่อถือ ศรัทธาเรื่องผีบรรพชน หรือ “ผีปู่ย่าตายาย” ของชาวอีสานนั้นปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นประเพณีทุกท้องถิ่นชุมชน และดูเหมือนว่าชุมชนจะยึดมั่นเคารพในผีเพศชายเป็นสำคัญ จึงคงเหลือชื่อเป็น “ผีปู่ตา” หรือ “ผีตาปู่” ส่วน “ผีย่ายาย” นั้นกลับเลือนหายไป อย่างไรก็ตามการคงชื่อ “ปู่” และ “ตา” อาจมุ่งหวังเป็นบรรพชนทั้งฝ่ายบิดามารดา ให้ทัดเทียมกันด้วย “ปู่” เป็นญาติข้างฝ่ายชาย และ “ตา” เป็นญาติข้างฝายหญิง

เงื่อนไขผูกพันระหว่างผีกับป่า

        ในการเริ่มแรกตั้งชุมชนของชาวอีสานนั้น มักจะมีครอบครัวเครือญาติเพียงไม่กี่ครอบครัวเข้ามาบุกร้างถางพง ปลูกสร้างบ้านเรือนและยึดพื้นที่ทำไร่นา สิ่งสำคัญที่ทุกชุมชนไม่ลืมจะเป็นเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่ป่าทึบออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่พำนักอาศัยของ               ผีบรรพชน “ผีปู่ตา” โดยสร้างเรือน โรง หรือศาล (ตูบ) ให้หนึ่งหรือสองหลังอยู่ในทิศทางที่ต่างกันตามความเหมาะสม โดยทั่วไปแล้วมักนิยมให้อยู่ด้านทิศตะวันออกของชุมชน บริเวณป่าอีกส่วนหนึ่งจะกำหนดให้อยู่ด้านทิศเหนือ หรือทิศใต้ของชุมชน เป็นป่าสำหรับเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หรือสัตว์ใช้งานอื่น ซึ่งเรียกว่า “ป่าทำเลเลี้ยงสัตว์”

         โดยเฉพาะการกำหนดเลือกพื้นที่อยู่อาศัยของผีปู่ตานั้นต้องให้พื้นที่เป็นเนินสูง โนนโคกหรือดอน ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพป่าหนาทึบ ร่มครึ้ม มีสัตว์ป่าชุกชุมหลากหลายพันธุ์                    มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ทั้งเสียงร้ององส่ำสัตว์ คลุกเคล้าประสานไปกับเสียงเสียดของต้นไม้เครือเถาทั้งปวง ซึ่งทำให้อาณาเขต “ปู่ตา” “ดอนปู่ตา” หรือ “ดงปู่ตา” ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

        เรือน โรง หอ หรือโรงศาลที่ต้องสร้างไว้เป็นที่พักอาศัยของผีปู่ตานั้น บางทีก็เรียกว่า             “หอปู่ตา” “ศาลปู่ตา” “ตูบปู่ตา” หรือ “โฮงปู่ตา” นิยมสร้างกันเป็นสองลักษณะกล่าวคือ ใช้เสาหลักเพียงตัวเดียวเหมือนศาลพระภูมิทั่วๆไป แล้วสร้างเป็นเรือนยอดบนปลายเสากับใช้เสาสี่ต้นแล้วสร้างโรง เรือน หรือศาลาให้มีห้องขนาดเล็กหรือใหญ่ตามต้องการ โดยทั่วไปแล้วจะมีห้องโถงเพียงห้องเดียว และภายในห้องนั้นต้องให้บริเวณสำหรับเป็นที่วางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมทั้งวัสดุที่แกะสลักด้วยไม้หรือรูปปั้น ตามที่เชื่อถือกันว่าเป็นสิ่งของที่มีผีปู่ตาต้องการ เช่น เป็นรูปคน สัตว์ ข้าทาส และบริวาร ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นไว้สำหรับให้ผีปู่ตาได้ใช้สอยไม่ขาดแคลน ส่วนด้านหน้าตูบหรือศาล มักจะสร้างให้มีชานยื่นออกมาสำหรับเป็นที่ตั้งหรือวางเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นสังเวยไว้ด้วย

        เฒ่าจ้ำ เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของชุมชนติดต่อสื่อสารกับผีปู่ตา หรือรับบัญชาจากผีปู่ตามาแจ้งแก่ชุมชน ตลอดจนมีภาระหน้าที่ในการดำเนินกิจการด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ตาและบริเวณที่อยู่อาศัย เฒ่าจ้ำอาจเรียกได้หลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระจ้ำ ขะจ้ำ ข้าวเจ้า เฒ่าประจำ เจ้าจ้ำ หรือ จ้ำ

       นอกจาก เฒ่าจ้ำ จะมีภารกิจดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำยังต้องเอาใจใส่ดูแลป้องกันรักษาพื้นที่บริเวณป่า ต้นไม้ สัตว์ รวมไปถึงทรัพยากรผลิตผลจาก “ดงปู่ตา” เช่น เห็ด แมลง ฟืนไม้แห้ง ผัก และพืชสมุนไพร เป็นต้น ต้องขออนุญาตผีปู่ตาเป็นส่วนตัวและผ่าน “เฒ่าจี้” เสมอ มิฉะนั้นจะถูกผีปู่ตาลงโทษให้ผู้นั้นได้รับภัยพิบัติต่างๆจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

         เมื่อ เฒ่าจ้ำ มีบทบาทผูกพันกับผีปู่ตาและชุมชนดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนสถาบันอันศักดิ์สิทธิในชุมชนทุกสถาบัน นับตั้งแต่ “ดงปู่ตา” พระภูมิเจ้าที่ เทวดา หลักเมือง มเหศักดิ์ และหลักบ้าน

         บุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของเฒ่าจ้ำนั้นน่าจะได้พิจารณาเชื่อมโยงจากการเลือกเฟ้นหรือกำหนดตัวบุคคลให้ทำหน้าที่นี้ โดยปกติแล้วเมื่อเฒ่าจ้ำถึงแก่กรรมลงจะต้องหาเฒ่าจ้ำคนใหม่มาทำหน้าที่แทนทันที โดยคัดเลือกจากบุคคลในหมู่บ้านที่มีความประพฤติดี บุคลิกน่าเลื่อมใส เป็นที่ยอมรับของชุมชน ในแต่ละชุมชนอาจมีวิธีการเลือกเฒ่าจ้ำแตกต่างกัน เป็นต้นว่าอาจเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นที่ปรารถนาในหมู่บ้านมา 5 - 10 ราย พร้อมไม้คานหรือไม้ไผ่ที่มีความยางเท่ากับวาของแต่ละคน แล้วมากำหนดวาอีกครั้งต่อหน้าศาลปู่ตา และผู้อาวุโสในหมู่บ้านร่วมเป็นพยานรู้เห็น ถ้าผู้ใดวัดวาแล้วปรากฏว่าไม้คานหรือไม้ไผ่ยากเกินวา แสดงให้เห็นว่าผีปู่ตาจงใจเลือกบุคคลผู้นั้นไว้เป็นเฒ่าจ้ำ

         ในบางชุมชนอาจเลือกเฒ่าจ้ำโดยสืบทอดบุคคลในตระกูลนั้นๆ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะได้เฒ่าจ้ำมาโดยวิธีใดก็ตาม ถือได้ว่าเฒ่าจ้ำเป็นบุคคลที่ชุมชนมีความเคารพ ศรัทธา เชื่อถือ และผีปู่ตาก็ยอมรับไว้วางใจเช่นกัน

ป่าปู่ตากับการใช้ประโยชน์ของชุมชน

         ลักษณะการใช้ประโยชน์จากป่าดอนปู่ตา โดยทั่วไปนั้นมีอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ กล่าวคือ ประการแรกใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรม โดยปกติแล้วดอนปู่ตาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้าน ชาวบ้านจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อันเกี่ยวกับความศรัทธาที่มีต่อผีปู่ตา พิธีกรรมต่างๆมีเช่น พิธีกรรมเลี้ยงประจำปีในเดือนสาม และเดือนหกซึ่งเรียกว่า “เลี้ยงขึ้น” (เป็นการเลี้ยงเมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว) และ “เลี้ยงลง” (เป็นการเลี้ยงเมื่อจะเริ่มต้นฤดูการปักดำ) นอกจากนี้มีพิธีเสี่ยงทายสภาพดิน ฟ้า อากาศ ก่อนจะเริ่มต้นไถหว่านและพิธีบนบานเฉพาะราย (ชาวอีสานเรียกว่า “บ๋า”) ซึ่งทุกพิธีกรรมจะมีการเซ่นไหว้บูชา และเลี้ยงดูด้วยความสำนึกในพระคุณ พร้อมกับอัญเชิญบวงสรวงผีปู่ตาให้มาช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีมีสุขโดยทั่วหน้า

         นอกจากจำใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ดอนปู่ตาบางพื้นที่ยังใช้เป็นสถานที่เผาศพในบางโอกาสอีกด้วย

         ประการที่สอง เป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ทั่วๆไปของชุมชน เช่น เลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควาย ชุมชนอาจร่วมมือกันจับวัตว์น้ำตามหนองน้ำในบริเวณป่าดอนปู่ตาโดยมีเงื่อนไข ในป่าดอนปู่ตาเหล่านี้มีต้นไม้ประเภทต่างๆ และมีพืชพันธุ์ผัก เห็ด แมลง พืชสมุนไพร เป็นต้น คนในชุมชนสามารถขออนุญาตตัดไม้ ค้นหาเก็บผลิตผลป่ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามความจำเป็นเฉพาะราย บางบ้านเก็บใบตองของไม้บางชนิดมาเย็บเป๋นฝากั้นห้อง หรือแม้แต่ใช้เศษไม้และกิ่งไม้มาเป็นเชื้อเพลิง ตลอดจนทำเป็นไม้หลักสำหรับพืชประเภทแตงกวา แตงร้าน เป็นต้น ซึ่งการใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องได้รับความนิยมจากกรรมการหมู่บ้านและเฒ่าจ้ำ

          อนึ่งเมื่อได้สำรวจการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากป่าดอนปู่ตาในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 15 หมู่บ้านของชุมชนอีสาน 12 จังหวัดแล้ว พบว่าชาวบ้านได้ใช้ทรัพยากรผลิตผลป่าอย่างประหยัดและเกิดคุณค่าแท้จริง ซึ่งอาจแจกแจงผลิตผลป่าบริเวณป่าดอนปู่ตาทั้ง 15 พื้นที่ พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ ดังตารางหน้า 22 - 25

ภาวะอำนาจและการยอมรับ

        ชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องอำนาจของผีบรรพชนและป่าดอนปู่ตาอย่างจริงจัง ปฏิบัติ ยึดถือ และละเว้นอย่างเคร่งครัด เป็นต้นว่า จะไม่มีชาวบ้านคนใดเข้าไปตัดต้นไม้หรือจับสัตว์น้ำโดยเฉพาะเต่า ตะพาบน้ำ ตะกวด เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านคนใดเข้าไปตัดไม้หรือจับสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนบุคคลนั้นก็จะมีอันเป็นไปต่างๆตามที่ผีปู่ตาบันดาลให้เป็นไป

         ป่าดอนปู่ตาบางแห่งยังมีข้อห้ามสำหรับกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งปวง เป็นต้นว่า ห้ามหนุ่มสาวมาพลอดรักในบริเวณป่าดอนปู่ตา ห้ามปัสสาวะหรืออุจจาระในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้แม้เดินทางผ่านก็จะต้องแสดงความเคารพเสมอ

         อันที่จริงความเชื่อเกี่ยวกับผีดอนปู่ตาของชาวบ้านนั้น ค่อนข้างจะส่งผลให้ชาวบ้านเชื่อว่าหากล่วงละเมิดต่อป่าดอนปู่ตา ผีปู่ตาจะโกรธและบันดาลให้เกิดผลร้ายขึ้นแก่ชุมชน และคนในหมู่บ้านไม่ยกเว้นแม้นะเป็นสัตว์เลี้ยงก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านได้เคยประสบพบเห็นมาแล้ว และเล่าสืบต่อกันมา ชาวบ้านจึงเชื่อถือและยอมรับว่าดอนปู่ตาและผีปู่ตา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

        ข้อห้ามและข้อปฏิบัติกับปู่ตานั้น ถือว่าเป็นกฎระเบียบที่ทุกคนในชุมชนต้องยอมรับพร้อมกับปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถูกลงโทษโดยมติชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากบุคคลใดไม่ปฏิบัติตาม หรือแสดงกิริยาอาการอันสื่อแสดงว่าดูถูกสถาบันดอนปู่ตา หรือไม่ยอมรับภาวะอำนาจของผีปู่ตาลงโทษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นต้นว่าให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ เกิดอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นไข้ เจ็บแขนขา หรือเกิดการอาเจียนตลอดเวลา และบางรายอาจถึงกับเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสุดที่แพทย์วินิจฉัยได้ ซึ่งชุมชนก็เชื่อว่าลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจของผีปู่ตาที่บันดาลให้เกิดขึ้น

         ข้อห้ามต่างๆในแต่ละชุมชนนั้นอาจกำหนดขึ้นจากมติที่ประชุมของชาวบ้าน หรือเฒ่าจ้ำจะเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเองก็ได้ตามคำขอของผีปู่ตา ซึ่งได้มาเข้าฝันเฒ่าจ้ำให้กำหนดข้อห้ามต่างๆ ขึ้นมาเป็นต้นว่าห้ามผู้ใดยึดครองพื้นที่บริเวณป่าดอนปู่ตา หรือห้ามจับจองทรัพยากรต่งๆในอาณาบริเวณป่าดอนปู่ตา เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด

          ห้ามจับสัตว์ทุกประเภทในบริเวณดอนปู่ตา ให้ถือว่าเป็นเขตอภัยทาน บ้างก็เชื่อว่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ที่อยู่อาศัยในบริเวณดอนปู่ตาคือบริวารของท่าน ห้ามผู้ใดล่าสัตว์เด็ดขาด จึงมักพบเสมอว่าในพื้นที่ดอนปู่ตาจะมีสตว์หลายประเภทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

         ห้ามตัดไม้ทุกชนิดในป่าปู่ตา จนกว่าจะได้รับปนุญาตจากเฒ่าจ้ำหรือได้รับปนุญาตจากมติของชาวบ้าน จึงจะสามารถเข้าไปตัดไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ในบางพื้นที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องปลูกต้นไม้ชดเชย 1 ต้น หรือมากกว่านั้นในกรณีที่ตัดมา 1 ต้น

          ห้ามแสดงกิริยาและพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อสถานที่ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ ในเขตพื้นที่ดอนปู่ตา

          ห้ามประพฤติตนในเชิงกามารมณ์ในดอนปู่ตา หรือมั่วสุมเสพของมึนเมา เพราะถือว่ามีเจตนาไม่เคารพต่อปู่ตา

           ห้ามลบหลู่ และกล่าววาจาใดที่ส่อเจตนาไม่เคารพปู่ตา

           ด้วยเหตุที่มีข้อห้ามเหล่านี้ พื้นที่ดอนปู่ตาจึงมักเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หนาแน่น      มีสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดอนปู่ตาจึงกลายเป็นวิธีการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรของชุมชนได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

ศักยภาพของชุมชน

        เนื่องจากพื้นที่ป่าดอนปู่ตาส่วนใหญ่ อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลความเจริญ ความเชื่อดั้งเดิมจึงยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของผู้คน ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อและศรัทธาในสถาบันดอนปู่ตาอยางจริงจัง แม้ว่าบางคนจะเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่ก็ยอมปฏิบัติตนต่อข้อห้ามที่ชาวบ้านได้ร่วมกันกำหนดขึ้นมาโดยดี ข้อห้ามต่างๆ เช่น ห้ามตัดไม้ ห้ามล่าสัตว์ หรือแม้แต่ห้ามประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ในพื้นที่อาณาบริเวณดอนปู่ตา ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ชาวบ้านทุกคนเคารพในสิทธิส่วนบุคคลไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และต่างก็ให้เกียรติกันเป็นสำคัญ อาจกล่าวได้ว่า ผีปู่ตาสามารถกำหนดบทบาทพฤติกรรม อันเป็นศักยภาพของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        สถาบันป่าดอนปู่ตายังถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเฒ่าจ้ำเป็นผู้สื่อสารนำคำสั่งสอนของปู่ตามมาอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้ทุกคนยึดมั่นในจริยธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ดังนั้นชาวบ้านจึงมักจะรักใคร่สามัคคี เมื่อคราวมีกิจกรรมส่วนรวม ก็จะให้ความร่วมมือกันอย่างดี

         จากอดีตที่ยาวนานจนถึงปัจจุบันพบว่า บริเวณป่าดอนปู่ตานั้น ชาวบ้านยังให้ความเคารพและเกรงกลัวมาก

         อนึ่ง การลงโทษของผีปู่ตานั้น ดูเหมือนว่าจะมิได้มุ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างจริงจังนักแต่ เพื่อเป็นการสั่งสอนให้คนรู้จักกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควรเท่านั้น ป่าดอนปู่ตาจึงเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญของหมู่บ้านชนบทอีสาน ด้วยถือว่าเป็นที่สิงสถิตวิญญาณของบรรพชนจากอดีต เป็นผู้ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติทั้งปวง แผ่อำนาจบันดาลให้ชาวบ้านอยู่อย่างเป็นสุขและยังคุ้มครองป้องกันภับพิบัติทั้งปวง แผ่อำนาจบันดาลให้ชาวบ้านอยู่อย่างเป็นสุขและยังคุ้มครองไปถึงทรัพย์สิน ไร่ นา วัว ควาย อันเป็นทรัพย์สินสมบัติของคนในหมู่บ้านไม่ให้ถูกลักขโมยหรือสูญสลายอีกด้วย 

         นอกจากนี้ยังป้องกันชาวบ้านมิให้ประพฤติปฏิบัติผิดครรลองครองธรรม โดยยกเอาผีปู่ตามาเป็นข้อบังคับให้ชาวบ้านอยู่ในกรอบประเพณีอันดีงามของสังคม เพื่อให้อยู่ร่าวมกันโดยสงบสุข ป่าดอนปู่ตายังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจำไม่เข้าไปตัดไม้ทำลายทรัพยากรป่าหรือทำอันตรายสัตว์ที่อยู่บริเวณนั้น ยกเว้นกรณีที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่ก็ปฏิบัติด้วยความเชื่อถือเคารพและศรัทธา ดอนปู่ตาจึงเสมือนเป็นวนอุทยานหรือสวนป่าสาธารณะของหมู่บ้าน

        บางกรณี ชาวบ้านอาจบนบาน (การบ๋า) ขอร้องหรือความอนุเคราะห์จากผีปู่ตาให้อำเภอประโยชน์หรือขจัดปัดเป่า ความทุกข์ร้อนที่พึ่งมีในขณะนั้นและเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย หรือประสบผลสำเร็จก็จำเป็นต้องมาทำพิธีแบน (การปลงบ๋า) ซึ่งจำเป็นต้องนำเครื่องเซ่นมาถวายโดยมีเฒ่าจ้ำ เป็นผู้ซึ่งบอกกล่าวทำพิธีอีกเช่นกัน

         อาจกล่าวได้ว่า ผีปู่ตา เฒ่าจ้ำ และชุมชน เป็นองค์ประกอบประสานร่วมกันของสังคม อันที่จะผลักดันให้ชุมชนเกิดแรงศรัทธา ความเชื่อ ความสมัคคี ที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร “ดงปู่ตา” ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติส่วนรวมของชุมชนนอกจากนี้ลักษณะพิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงผีปู่ตา หรือการบ๋าก็ตาม เป็นเงื่อนไขที่อาจแสดงให้เห็นถึงปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมการกินอยู่ ความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม และความมุ่งหวังในอนาคตเพื่อปรับสภาวะจิตใจให้มั่นคงจากผลอันเกิดจากการเสี่ยงทายที่เป็นไปในลักษณะใดก็ได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้เตรียมรับสถานการณ์อันอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ประมาท

ความขัดแย้งและการกลืนกลายความเชื่อถือ

       ความจริงที่ปรากฏ ผีปู่ตาจะมีโรงเรือน หอ หรือ ศาล อาศัยอยู่ในดงดอนที่เป็นป่าทึบ พื้นที่เฉลี่ย 1 - 100 ไร่ เกือบทุกชุมชนในเขตภาคอีสาน และยังเฒ่าจ้ำเป็นสื่อเชื่อมระหว่างผีปู่ตากับชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง

         ป่าดงบ้านหรือผีปู่ตา ซึ่งเรียกรวมกันว่า ป่าดอนปู่ตานั้นปัจจุบันในหลายชุมชน กำลังได้รับความกระทบกระเทือนจากบุคลากร องค์กร ทั้งของรัฐและเอกชน บุกรุกทำลายในรูปแบบต่างๆอยู่ตลอดเวลา เช่น ดอนปู่ตาบ้านตาหลุง บ้านเสือกินวัว บ้านป่าชาด บ้านหนองแดง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ที่ทางสภาตำบลต้องการสร้างโรงเรียนมัธยมบนพื้นที่นี้ แต่ได้เกิดการทักท้วงจากชาวบ้าน ซึ่งได้เข้าชื่อร้องเรียนให้ระงับการดำเนินการโดยอ้างเหตุผลความเชื่อถือศรัทธาผีปู่ตา จากจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณกาล ด้วยเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญยิ่ง จนกระทั่งสภาตำบลต้องเลิกล้มมติไป

         แต่อีกหลายชุมชน สภาพป่าดอนปู่ตาต้องสูญสลายไป โดยสิ้นเชิงหรือเบียดบังพื้นที่           บางส่วนหรือส่วนใหญ่ไป โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลายเป็นสถานีอนามัย สถานีตำรวจ             ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน ค่ายลูกเสือ หรือสถาบันทางสังคมอื่นๆ หรือกลายเป็นสำนักสงฆ์ตลอดจนวัดป่า ซึ่งดูจะเอื้อประโยชน์ที่แตกต่างกันจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

         ดงหรือดอนปู่ตา เป็นสถานที่สาธารณะอันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธามาอย่างต่อเนื่อง ผลของความเชื่อนั้นอาจพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่การดำรงวิถีชีวิตที่พึ่งพิงป่าดอนปู่ตา ทั้งทางจิตใจและปัจจัยทางกายที่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรและผลิตผลจากป่าอันอุดมสมบูรณ์ ย่อมบ่งชี้ได้ว่าชุมชนดำเนินชีวิตและมีความหวังอยู่ได้ในทุกฤดูกาล และแม้ผสมผสานความเชื่อศรัทธาจากผีบรรพชนมาเป็นพุทธศาสนาในรูปลักษณ์ของสำนักสงฆ์ และวัดป่าซึ่งปฏิเสธเรื่องผีโดยเด็ดขาดนั้นก็ดูจะไม่สามารถเชื่อมโยงความคิดทัศนคติที่เคยมีหรือปฏิบัติกับผีปู่ตาได้ เนื่องจากผีปู่ตามีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับชาวบ้านมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างชุมชน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันยังมีพิธีกรรมบูชาเซ่นสรวงก่อนการปักดำหรือแสดงความชื่นชมยินดี เมื่อได้ผลผลิตจากไร่นาแม้การจากบ้านเรือนไปแสวงหาโชคลาภที่อื่น   ก็ต้องมากราบลาขอพรผีปู่ตาเพื่อให้เกิดสิริมงคล เป็นต้น

        กล่าวได้ว่า ผีปู่ตายังคงมีอำนาจแฝงลึกในห้วงสำนึกของชาวบ้าน แม่จะขาดเหตุผลในการพิสูจน์ความจริงที่เป็นรูปธรรมก็ตาม อย่างไรก็ดีสภาพสังคมปัจจุบันที่ค่อนข้างจะกลืนกลายปรับสภาพให้คล้ายคลึงกันไปทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชนบท แต่ในความเป็นจิงแล้วมนุษย์คงจะปฏิเสธสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงมิได้ ด้วยพื้นเพดั้งเดิมของเรานั้นกำเนิดและดำรงชีวิตมาพร้อมๆกับการเก็บหาของป่าเป็นสังคมเกษตรกรรม แม้จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหรือลกษระอื่นใดก็ตาม มนุษย์จะหลีกเร้นธรรมชาติไปมิได้เด็ดขาดยังต้องโหยหา ชื่นชมพึ่งพิง ทั้งประเทืองอารมณ์ จิตใจ และเลี้ยงชีพ “ป่าดอนปู่ตา” ที่บรรพชนได้หวงแหนยังคงอนุรักษ์ไว้ได้นานนับศตวรรษนี้น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ป่าดอนปู่ตาเป็นป่าวัฒนธรรมที่มีค่ายิ่งของชุมชนอีสาน

กระบวนการจัดการทรัพยากรป่าดอนปู่ตาของชุมชน

         เท่าที่กล่าวมา เป็นความเชื่อถือศรัทธาในผีบรรพชน “ผีปู่ตา” ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของชุมชนชาวอีสาน ที่สืบทอดเกี่ยวโยงไปถึงความผูกพันระหว่างคนกับป่าอย่างแนบแน่น ด้วยเหตุที่ชุมชนต้องพึ่งพาป่า เพื่อยังชีพตั้งแต่ก่อตั้งบ้านเรือนเป็นต้นมา จึงต้องกระทำตนให้ประสานกลมกลืนกับป่า ทั้งใช้สอยทรัพยากรผลิตผลอย่างประหยัดด้วยจิตสำนึกและรู้คุณค่าเรื่อง “ผีปู่ตา หรือ ผีอารักษ์บ้าน”

        อย่างไรก็ดี องค์กรชุมชนหลายพื้นที่ยังมีกลวิธีในการบริหารจัดการป่าดอนปู่ตาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในอีกหลายพื้นที่ยังปล่อยปละละเลย ดูจะเนื่องมาจากหลายปัจจัย เป็นต้นว่าความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ความมีจิตสำนึกร่วมกันของชาวบ้าน ความใส่ใจของพระ ที่ต่างได้เล็งเห็นคุณค่าของป่าวัฒนธรรม ที่จะสามารถอำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนได้อย่างต่อเนื่องครบวงจรนั่นเอง ประกอบกับการสร้างเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดเป็นมรดกมาในรูปแบบของ “ขะลำ” หรือข้อห้าม เป็นต้นว่า ห้ามกินเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น เต่า กระรอกเผือก ผู้ฝ่าฝืนจะทำให้มนต์เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์หรือมีอันเป็นไปต่างๆ ในกรณีเก็บยาสมุนไพรก็เช่นกัน ต้องมีพิธีกรรมเซ่นสรวง บัดพลีกัยผี หรือเทวดาที่รักษาต้นไม้นั้นๆ เพื่อขออนุญาตก่อนที่จะลิดรอน ขุด ตัด เอาเฉพาะราก หัว เปลือก กิ่ง ใบ ยอด ดอก ผล เท่านั้นมิได้ทำลายต้น มิฉะนั้นแล้วจะถือว่าผิดครูที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้มาแต่ต้น

         ผลิตผลทรัพยากรป่าที่ได้เก็บเกี่ยวจัดหานั้นส่วนใหญ่ก็เพื่อการบริโภคในครัวเรือน ต่อมาได้มีการแ แลกเปลี่ยนซื้อขายกันไปตามตลาดย่อยในชนบท หรือตลาดในชุมชนเมือง เราจึงมักเห็นผลิตผลพืชพันธุ์ป่าวางขายอยู่เนืองๆ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะสภาพที่เกิดขึ้นใน แต่ละฤดูกาล เป็นต้นว่า ฤดูฝนจะมีเห็ดชนิดต่างๆ แมลงบางประเภท หรือพืชพันธุ์ผักบางชนิด เป็นต้น ฤดูร้อนจะมีสัตว์เลื่อยคลานจำพวกแย้ แมลง ไข่มดแดง น้ำผึ้ง หรือฤดูหนาวก็มีแมลงอีกบางประเภท พืชพันธุ์ผักชนิดที่แตกต่างกับในฤดูร้อนและฤดูฝน อาจกล่าวได้ว่า ผลิตผลป่าในรอบปีนั้นจะมีต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนไปตามสภาพลมฟ้าอากาศ

         แต่เดิมมานั้นเวลาเช้าตรู่ในแต่ละวัน ตลาดสดจะคลาคล่ำกลายเป็นชมุชนของชาวบ้านจากชุมชนที่มีป่าวัฒนธรรม ซึ่งนิยมนำผลิตผลป่าในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันไปเท่าที่จะพึงเก็บหาได้จากเวลาบ่ายถึงใกล้ค่ำของวันก่อนมาเสนอขาย ทั้งกับพ่อค้าคนกลาง หรืออาจวางขายเองตามความประสงค์จนล่วงเวลาสายหรือใกล้เที่ยวจึงเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อไปสร้างงานถัก ทอ สาน เครื่องมือ เครื่องใช้จำพวกกระบุง ตะกร้า หวด-นึ่งข้าว กระจาด กระด้ง คราด ไม้กวาด บุ้งกี๋ ชะลอม กระติบ เป็นต้น ซึ่งก็ใช้วัสดุจากป่าเช่นเดียวกัน ผลิตผลดังกล่าวมักนำมาส่งตามห้างร้านเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งก่อนที่จะมุ่งเข้าป่าหาผลิตผลสำหรับเช้าวันต่อไป

         จะเห็นได้ว่า ชุมชนเมืองยังต้องพึ่งพาผลิตผลจากชนบทโดยเฉพาะของป่า “ดอนปู่ตา” อย่างมิขาดสาย ป่าจึงเป็นเสมือนสายใยชีวิตที่เกี่ยวโยงให้ผู้คนในเมืองกับชนบทได้มาพบปะทักทาย สร้างความคุ้นเคยต่อกัน เกิดกุศลจิตเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทั้งได้เรียนรู้พฤติกรรมตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         การพึ่งพาป่า “ดอนปู่ตา” ของชุมชนดูจะเป็นไปเพื่อการยังชีพ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องประสานกลมกลืนกับป่าอย่างมีเงื่อนไข เป็นต้นว่า เก็บผลิตผลหรือใช้ประโยชน์จากป่าอย่างประหยัดหวงแหน และด้วยความเคารพ ด้วยเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของชุมชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดก็ตาม

          ป่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกี่ยวโยงถึงการดำรงชีวิตพื้นฐาน ซึ่งมีผลทำให้มนุษย์ผูกพันอยู่กับธรรมชาติอย่างเน้นแฟ้น แม้ช่วงเวลาจะเปลี่ยนไปปัจจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นก็ตาม แต่ทรัพยากรผลิตผลที่เก็บได้จากป่าดูจะยังมีคุณค่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลิตผล อาหาร พืชพันธุ์ผัก ลำต้น ราก เปลือก แก่น กิ่ง ใบ ยอด ดอก ผล ที่นำมาใช้ประโยชน์โดยตรง หรือเปลี่ยนแปรรูปมาเป็นสมุนไพร สีย้อมผ้า เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ทั้งในบ้านและครัวเรือน เครื่องมือทางการเกษตรกรรมและวัสดุในการจับหรือดักสัตว์ตลอดจนแมลง อย่างไรก็ดีการใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะสภาพดังกล่าว ชาวบ้านต่างมีสำนึกและจำไม่ทำลายระบบนิเวศให้เสื่อมสภาพจนขาดความสมดุลลง อันจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงแหล่งต้นน้ำลำธาร สภาพดิน แร่ธาตุและสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง แต่ละชุมชนก็จะอยู่กันอย่างเป็นสุข เพราะได้พึ่งพิงธรรมชาติเกือบทุกด้าน

         องค์กรชุมชนจึงน่าจะมีบทบาทอำนาจหน้าที่ ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าวัฒนธรรมของคนอย่างจริงจังแข็งขัน โดยไม่ยอมให้ปัจจัยภายนอกเข้ามามีอิทธิพลทำลายพื้นที่ป่าวัฒนธรรมลงเสียได้ โดยมีข้อกำหนดเงื่อนไขเป็นแนวปฏิบัติสำหรับชุมชน ซึ่งอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกั

แชร์