เป็นตะคริวบ่อย ๆ อันตราย ทำอย่างไร ? การดูแลตนเองและช่วยเหลือคนเป็นตะคริวทำอย่างไร ?
สาเหตุการเป็นตะคริว : มักจะเกิดจากการนั่ง ยืน หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปหรือจนกล้ามเนื้ออ่อนล้าหรืออ่อนแรง การออกกำลังที่ใช้แรงจนเกินกำลัง ออกกำลังกายที่ไม่คุ้นเคย http://winne.ws/n12739
ตะคริว (Muscle cramps) หมายถึง
อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งที่ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ ร่วมกับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง แต่จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะแล้วอาการจะทุเลาลงไปเอง ตะคริวอาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ อาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกันก็ได้ โดยมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน หรือในขณะนั่งพักหรือนอนพักเป็นเวลานาน ๆ
สาเหตุการเป็นตะคริว
จากการศึกษาเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังเชื่อว่าอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี เป็นต้น
ส่วนใหญ่ตะคริวจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Idiopathic cramps) แต่มีเพียงส่วนน้อยที่พอทราบสาเหตุอยู่บ้าง (Secondary cramps) ซึ่งมักจะเกิดจากการนั่ง ยืน หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปหรือจนกล้ามเนื้ออ่อนล้าหรืออ่อนแรง การออกกำลังที่ใช้แรงจนเกินกำลัง ออกกำลังกายที่ไม่คุ้นเคย หรือออกกำลังกายติดต่อกันนาน ๆ (เช่น การว่ายน้ำ วิ่งทางไกล การเล่นกีฬาหนัก การยกของหนัก หรือในการงานอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ) การออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน หรือการออกกำลังกายโดยที่ไม่ได้อบอุ่นร่างกาย นอกจากนี้ตะคริวยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
อาการเป็นตะคริว
ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น น่อง ต้นขา ฯลฯ มีการแข็งเกร็งและปวดมาก เมื่อเอามือไปคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ๆ ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น (การนวดและยืดกล้ามเนื้อส่วนที่มีอาการจะช่วยทำให้ตะคริวหายเร็วขึ้น) ส่วนใหญ่แล้วอาการมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน นั่งพัก นอนพัก หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ แต่ถ้าเป็นตะคริวในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่นเอง
วิธีรักษาตะคริว
สิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อเป็นตะคริว คือ การหยุดพักการเคลื่อนไหวหรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวชั่วคราว จนกว่าอาการตะคริวจะหายไป
จากนั้นให้ทำปฐมพยาบาลด้วยการใช้มือนวดกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวเบา ๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว ถ้าหากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจนวดต่อด้วยการใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นมาจนถึงข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น หรือจะใช้วิธียืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึงด้วยวิธีดังต่อไปนี้ก็ได้
ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้ได้มากที่สุดอย่างช้า ๆ (ห้ามทำการกระตุกหรือกระชากอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้) และอาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัวด้วยก็ได้ โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที
ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขา ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นให้สูงจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า) โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาทีเช่นกัน
ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการลงได้ หรือเมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมาก การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้
เมื่อมีอาการปวดหลังกล้ามเนื้อคลายตัวหรือหลังตะคริวหายแล้ว ให้กินยาแก้ปวดหรือทายานวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ยานี้ไม่สามารถช่วยลดอาการปวดในช่วงกล้ามเนื้อหดเกร็งได้ เพราะยายังออกฤทธิ์ไม่ทัน
ถ้าสาเหตุการเป็นตะคริวเกิดจากระดับโซเดียมในเลือดต่ำ เช่น เกิดจากอาการท้องเดิน อาเจียน ออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน เหงื่อออกมาก ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ แต่ถ้าดื่มไม่ได้ แพทย์อาจให้น้ำเกลือนอร์มัลทางหลอดเลือดดำ
ถ้าเป็นตะคริวในขณะเข้านอนตอนกลางคืนบ่อย ๆ ก่อนนอนควรดื่มนมให้มากขึ้นและยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองให้สูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 นิ้ว และสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นตะคริวเป็นประจำ แพทย์อาจให้กินยาเม็ดแคลเซียมแล็กเทตวันละ 1-3 เม็ด
เป็นตะคริวบ่อย ๆ เป็นตะคริวแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นในขณะที่เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือในขณะนอนหลับ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาไปตามสาเหตุ เพราะอาการตะคริวอาจพบร่วมกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคตับและไต ฯลฯ
วิธีป้องกันตะคริว
*** ไม่นั่ง นอน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ ในผู้สูงอายุควรค่อย ๆ ขยับแขนขาช้า ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นมาก ๆ
*** หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้กล้ามเนื้อมากเกินกำลัง เช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬาหนัก ๆ
*** ควรทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย (Warm up) หรือเมื่อต้องใช้กล้ามเนื้อทำงานหนักทุกครั้ง เช่น การวิ่งเบา ๆ ประมาณ 10 นาที
*** ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกาย
*** รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม (เช่น กล้วย ส้ม), แคลเซียม (เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานก้างได้), วิตามินอี (เช่น ถั่ว น้ำมันพืช) ส่วนผู้สูงอายุหรือหญิงตั้งครรภ์ที่มักเป็นตะคริวตอนกลางคืน อาจป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารประเภทปลาและไข่ในมื้อเย็น หรือดื่มนมก่อนเข้านอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเป็นอาหารที่เหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย
*** ป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำ และควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนการออกกำลังกาย เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณน้ำที่ร่างกายเสียไป เช่น จากการเสียเหงื่อมาก ท้องเสีย หรือปัสสาวะมาก
*** ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ก่อนและระหว่างการออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนหรือมีเหงื่อออกมาก
*** สวมใส่รองเท้าในขนาดที่พอเหมาะกับเท้าและที่ไม่รัดเท้า เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณขาและเท้าให้มากขึ้น และอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
*** ผู้ที่เป็นตะคริวตอนกลางคืน ควรนอนยกขาให้สูงเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร โดยใช้หมอนรอง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในตอนกลางคืน และก่อนนอนควรบริหารยืดกล้ามเนื้อหรือปั่นจักรยานประมาณ 2-3 นาที
*** รับประทานผักและผลไม้ให้มาก เพราะมีวิตามินและเกลือแร่ที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี วิตามินอี ฯลฯ (การรับประทานผลไม้เป็นประจำ เช่น กล้วย ส้ม จะช่วยป้องกันการขาดโพแทสเซียมได้)
*** ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ในบริเวณที่มักเป็นตะคริวอยู่บ่อย ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เพราะตะคริวมักเกิดกับกล้ามเนื้อน่องและต้นขา
*** การยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ให้นั่งกับพื้นหลังตรง ขาและเข่าเหยียดตรงไปข้างหน้า ให้ขาทั้งสองข้างชิดกัน เท้าอยู่ในท่าปกติ ส่วนส้นเท้าชิดกัน และค่อย ๆ ลากฝ่ามือไปตามพื้นด้านข้างของขาทั้งสองข้างจนถึงข้อเท้า โดยที่เข่ายังเหยียดตรงอยู่และอย่าก้มหลัง เมื่อรู้สึกว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังเหยียดเต็มที่แล้วก็ให้ค้างไว้ในท่านั้นประมาณ 30 วินาที
*** การยืดกล้ามเนื้อน่อง ให้ยืนตัวตรง หลังตรง หันหน้าเข้าหากำแพงให้ห่างประมาณ 2-3 ฟุต ฝ่าเท้าทั้งสองข้างตรง ให้เท้าหลังห่างจากเท้าหน้าเล็กน้อย ฝ่าเท้าวางราบกับพื้น ส่วนเท้าหลังต้องชี้ตรงไปยังเท้าหน้าเสมอ งอเข่าเท้าหน้าพอควร ส่วนเท้าหลังเหยียดข้อเข่าให้ตรง มือทั้งสองข้างยกยันกำแพงในลักษณะเอนตัวไปข้างหน้า โดยที่แผ่นหลังยังเหยียดตรงเสมอ และให้ค้างไว้ประมาณ 15-30 วินาที จากนั้นให้ทำสลับข้างกัน (การบริหารท่านี้จะรู้สึกยืดตึงของกล้ามเนื้อน่องลงมาจนถึงส้นเท้า)References
หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ตะคริว (Muscle cramps)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 771-773.
หาหมอดอทคอม. “ตะคริว (Muscle cramp)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [28 มี.ค. 2016].
เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตะคริว”. (ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 มี.ค. 2016].
หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “How Can Leg Cramps Be Treated ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [28 มี.ค. 2016].
ภาพประกอบ : supertastyrecipes.com, www.garmaonhealth.com, acupuncture.co.in, www.healthcumfitness.com, www.wikihow.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://medthai.com/ตะคริว/