โรคประสาท อาการ การรักษา

สรุปข้อมูลเกี่ยวกับโรคประสาท http://winne.ws/n14859

4.2 หมื่น ผู้เข้าชม
โรคประสาท อาการ การรักษาbloggang.com

โรคประสาท (Neurosis) เป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ให้เหมือนคนทั่วไปได้ ด้วยสาเหตุจากความวิตกกังวล ความไม่สบายใจจิตใจแปรปรวน อ่อนไหวง่าย มีความขัดแย้งในจิตใจ มีความรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวลซึ่งจะมีอาการแสดงออกตามมา โดยผู้ป่วยมักแสดงออกทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เห็นได้ชัด แต่ไม่รุนแรงเท่าโรคจิต ผู้ป่วยสามารถมีจิตนึกคิดตามเหตุการณ์ที่เป็นจริงรู้ตัวเองอยู่เสมอ ไม่มีอาการประสาทหลอนหรือเห็นภาพลวงตา หูแว่วและสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป โรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกวัยเริ่มตั่งแต่วัยเด็กจนถึงคนสูงอายุเลยทีเดียว

โรคประสาทแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆเช่น  โรคประสาทวิตกกังวล (Anxiety Neurosis) และโรคประสาทซึมเศร้า (Depressive Neurosis)

โรคประสาทแบ่งเป็นประเภทต่างๆ คือ

1.ประเภทวิตกกังวล (AnxietyNeurosis) เป็นอาการทางประสาทประเภทหนึ่งที่จิตมีอาการวิตกกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไปความวิตกเหล่านี้มักเกิดในเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจมาก่อนเรื่องที่เคยทำให้เกิดความสูญเสีย เรื่องต่างๆเหล่านนั้นอาจเป็นเรื่องเดิมๆหรือเรื่องใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ความวิตกในเรื่องหนึ่งๆอาจหายได้เมื่อเวลาผ่านไปแต่บางเรื่องอาจคงอยู่ในจิตใต้สำนึกนานหลายปีความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมีผลทำให้เกิดภาวะเครียด หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น  เบื่ออาหาร มีอารมณ์หงุดหงิดง่ายมักมีอาการเก็บไปฝันขณะนอนหลับ เพ้อ

2.ประเภทหวาดกลัว (Phobic Neurosis)มักเกิดขึ้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยประสบกับเหตุการณ์มาก่อนจนทำให้เกิดความกลัวอย่างรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวข้องรวมถึงวัตถุที่เป็นองค์ประกอบของเหตุการณ์นั้น ๆอาการหวาดกลัวจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะและรวดเร็วกว่าคนปกติ เมื่อสัมผัสกับเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันมีผลทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วรัว เหงื่อออก หวาดระแวง คลื่นไส้แต่อาการจะหายเองเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความกลัวได้ง่ายได้แก่ การอยู่ตามลำพัง การได้รับสารกระตุ้นประสาท เป็นต้น

3.ประเภทย้ำคิดย้ำทำ (ObscessiveCompulsive Neurosis) เป็นสภาวะที่เกิดจากความวิตกกังวลเป็นพื้นหลังและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือการกระทำเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากสภาวะเหล่านั้นด้วยการกระทำแบบเดิมซ้ำๆกันจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ถูกปลูกฝังในจิตใจต่อการแก้ไขปัญหาของตนเองด้วยการกระทำหรือแสดงลักษณะอาการแบบเดิมโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวหรือควบคุมตัวเองไม่ได้

4.ประเภทซึมเศร้า (DepressiveNeurosis) สภาวะซึมเศร้ามักเกิดจากสภาวะจิตใจที่มีความแปรปรวนและมีความขัดแย้งภายในใจ รวมไปถึงภาวะเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียและเศร้าเสียใจตามมา ผู้ป่วยประเภทนี้มักคบคิดถึงเรื่องราวนั้นเป็นประจำและไม่ลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทำให้มีอาการเหม่อลอย ซึมเศร้า ชอบเก็บตัวตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้า เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และมีอาการท้องผูก ฯลฯ

5.ประเภทบุคลิกวิปลาส (Depersonalization)เป็นโรคประสาทที่เกิดกับการครุ่นคิดเกี่ยวกับการกระทำหรือพฤติกรรมของตนเองที่รู้สึกเหมือนไม่ใช่ตัวเองกระทำ มักเกิดร่วมด้วยกับอาการวิตกจริต

 

สาเหตุการเกิดโรค

1.สาเหตุทางพันธุกรรม และโครงสร้างของร่างกาย ที่ทำให้เกิดความบกพร่องของร่างกาย เช่นการสูญเสียอวัยวะ การพิการแต่กำเนิด เป็นต้นสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นมูลเหตุทำให้เกิดความท้อแท้ และเป็นปมด้อยในชีวิตได้

2.สาเหตุทางสังคม และการใช้ชีวิตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วทำให้การปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ทันการถูกตอกย้ำทางสังคมในจุดด้อยที่ตนเองมี รวมไปถึงปัญหาชีวิตในด้านต่างๆ เช่นความยากจน การหย่าร้าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียดความวิตกกังวล และภาวะทางประสาทตามมา

3.สาเหตุทางชีวะเคมี ที่เกิดจากภาวะร่างกายเจ็บป่วยหรือผิดปกติจากสาเหตุต่างๆทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่างๆผิดปกติ มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท สมองส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมของโรคทางประสาท

4.สาเหตุจากสารเสพติดที่ผู้ป่วยมีการใช้สารเสพติดหรือสารที่มีผลต่อระบบประสาทมากเกินขนาดหรือสะสมเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการทางประสาทตามมา

5.สาเหตุทางอายุในวัยเด็กเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัวอย่างรุนแรงเด็กมักจดจำได้นาน และเก็บฝังภายในจิตใจ รวมไปถึงจุดพร่องที่ตนเองมีในวัยเด็กเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านั้นก็มักจะเกิดความกลัวได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับการเผชิญเมื่อเป็นวัยผู้ใหญ่จะก่อให้เกิดความแปรปรวนของนิสัย เช่น การกัดเล็บ การดูดนิ้วมือการปัสสาวะรดที่นอน บางรายอาจมีการกระตุกเกร็ง และบางคนมีความรู้สึกหวาดกลัวส่วนวัยผู้สูงอายุมักเกิดอาการทางประสาทได้ง่ายในภาวะที่จิตใจอ่อนแอหรือรู้สึกทอดทิ้ง

โรคประสาท อาการ การรักษาthaihealth.or.th

อาการของโรคประสาท

อาการของโรคประสาทมีลักษณะเด่นในเรื่องของการวิตกกังวลเป็นพิเศษและมีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเหล่านี้ คือ

1.มีอารมณ์เครียด วิตกกังวลหรือกลัวเกินกว่าปกติ

2.ชีพจรเต้นแรง เร็ว ใจสั่น มีอาการแน่นหน้าอก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องท้องเสีย และปัสสาวะบ่อย

3.มีอาการเกร็งของระบบกล้ามเนื้อ มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก

4.มักมีความคิดซ้ำซาก ย้ำคิดย้ำทำ วนไปวนมา ในสิ่งที่ตนเองกังวล และมักคิดในแง่ร้ายร่วมด้วยอาการกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

5.มีอาการเหม่อลอย ซึมเศร้า

6.มีอาการตกใจง่ายเมื่อมีเสียงดังหรือมีเหตุการณ์ที่น่าตกใจ

 

การรักษาโรคประสาท

การรักษาอาการของโรคประสาทจะเน้นที่การเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการคิดของผู้ป่วยเป็นหลักที่จะส่งผลต่อพฤติกรรม และความคิดให้เหมือนคนปกติทั่วไปปัจจุบันทางการแพทย์มักใช้แนวทาง ดังนี้

1.การใช้ยา ในระยะการรักษาขั้นต้นอาจมีการใช้ยาหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือใช้ยาเพื่อลดอาการในระยะแรก ในการลดความวิตกกังวล เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาบำรุงประสาทเป็นต้น

2.การรักษาทางจิตใจหรือทางแพทย์เรียก จิตบำบัดผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดทำให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจตนเอง  ยอมรับในความเป็นจริง

3.พฤติกรรมบำบัดวิธีนี้มักใช้ควบคู่ไปกับกระบวนการจิตบำบัดโดยการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความเครียดความวิตกกังวลของตนเองด้วยวิธีการต่างๆ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เพื่อลดความเครียด และอาการที่อาจแสดงออกทางร่างกายจากภาวะวิตกกังวล

4.แต่หากผู้ป่วยบางรายสามารถรับรู้ถึงภาวะที่ตนเองเป็นอยู่ก็อาจสามารถบำบัดอาการป่วยทางจิตได้ด้วยตนเองด้วยการจัดการความเครียดหรือความวิตกกังวลด้วยวิธีต่างๆ เช่น การนั่งสมาธิการเข้าวัดฟังธรรม การท่องเที่ยวหรือการปรึกษาคนใกล้ชิด เป็นต้น

โรคประสาท อาการ การรักษาhealth.mthai.com

การป้องกัน

1.สำหรับวัยเด็กปัจจัยทางด้านครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญ การอบรมเลี้ยงดู การเอาใจใส่การไม่สร้างความรุนแรงกับเด็กทั้งทางร่างกาย และจิตใจย่อมสามารถป้องกันภาวะโรคประสาทในเด็กได้เป็นอย่างดี

2.สำหรับผู้ใหญ่การฝึกจิตให้รู้จักตนเอง คนรอบข้าง และยอมรับถึงสถานการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้ย่อมทำให้เป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับทุกเรื่องราวได้

3.การรู้จักให้อภัยในสิ่งที่ผิดพลาดจากการกระทำ และไม่ซ้ำเติม

4.การให้กำลังใจเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์หรือสภาวะที่ทำให้เกิดความเสียใจหรือการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต รวมถึงกำลังใจในการต่อสู้ต่อสิ่งบกพร่องต่างๆของผู้ป่วยอาทิ คนกำพร้า ผู้พิการ เป็นต้น

5.การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพของตนเอง รวมถึงการสร้างความสุขให้ตนเองและครอบครัวด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การกีฬา การเที่ยวพักผ่อน เป็นต้นถือเป็นยาช่วยเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตที่ดีที่สุด

ขอบคุณที่มา :  thaihealthlife.com/โรคประสาท

แชร์