ทำความรู้จัก ร้อนใน แผลในช่องปากที่อาการไม่รุนแรง รักษาได้ง่ายๆ
คือ การมีแผลเปื่อยในช่องปากที่พบได้บ่อย อาจเกิดบริเวณส่วนใดของช่องปากก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลิ้น และอาจจะมีเพียงแผลเดียว หรือหลายแผล http://winne.ws/n15241
เคยเป็นกันไหมคะ รู้สึกแสบๆ เหมือนมีตุ่มอะไรอยู่ในปาก เวลาฟันหรือลิ้นไปโดนก็รู้สึกเจ็บ แน่นอนค่ะว่ามันคือ “ร้อนใน” เป็นทีไรสุดแสนจะรำคาญ ทานอะไรก็ไม่อะไรทุกที แถมอาหารบางอย่างก็ทานไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะเป็นหนักกว่าเดิมขึ้นไปอีก วันนี้เรามาทำความรู้จักอาการร้อนในกัน มาดูสิว่ามันเกิดจากอะไร แล้วเราจะจัดการมันอย่างไร เมื่อเลาที่เราเป็น
แผลร้อนใน หรือ แผลแอฟทัส (Aphthous ulcer, Aphthous stomatitis, Canker sore, Recurrent aphthous ulcer – RAU, Ulcerative stomatitis) คือ การมีแผลเปื่อยในช่องปากที่พบได้บ่อย อาจเกิดบริเวณส่วนใดของช่องปากก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลิ้น และอาจจะมีเพียงแผลเดียว หรือหลายแผล ขนาดของแผลอาจเป็นตุ่มเล็กๆ หรือมีขนาดใหญ่หลายเซนติเมตรก็ได้ ซึ่งร้อนในนั้นจัดว่าไม่มีอาการรุนแรงอะไรมาก เพียงแต่จะสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นเท่านั้นเอง
อาการของแผลร้อนใน
ผู้ที่มีอาการร้อนในนั้นจะเกิดแผล หรือช่วงแรกอาจเกิดตุ่มแดงขนาดเล็กในช่องปาก บริเวณริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม หรือขอบลิ้น และหลังจากนั้นตุ่มแดงก็จะกลายเป็นสีแดงนูน ส่งผลให้มีอาการปวดบวม และรู้สึกเจ็บปวดเมื่อถูกสัมผัส โดยอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ก็สามารถหายไปได้เอง
สาเหตุของแผลร้อนใน
1. พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก นอนน้อย เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้
2. ความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า อารมณ์โมโหฉุนเฉียว เช่น เครียดจากการทำงาน การอ่านหนังสือสอบมาก ๆ หรือเครียดจากปัญหาภายในครอบครัว
3. การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปากหรือลิ้นถูกกัดในขณะเคี้ยวอาหาร หรือถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรือจากอาหารแข็งๆ เข้าไปกระทบกระแทกในช่องปาก
4. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาอะเลนโดรเนตที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน (Alendronate) เป็นต้น
5. การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ของทอด ของมัน เนื้อติดมัน เหล้า เบียร์ ขนมปังเบเกอรี่ ของหวาน ไอศกรีม ผลไม้ที่มีรสหวานมาก ๆ
6. การรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
7. การแพ้อาหารบางอย่าง เช่น นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต แป้งข้าวสาลี ของเผ็ด ผลไม้จำพวกส้ม ฯลฯ รวมไปถึงสารเคมีในอาหารหรือในสิ่งที่บริโภคบ่อย ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก
8. การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเริม
9. ดื่มน้ำน้อย รวมถึงร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี (โดยเฉพาะวิตามินบี 12)
10. การมีประจำเดือนของสตรี บางครั้งโรคนี้อาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนของฮอร์โมน เนื่องจากพบโรคนี้ได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงใกล้หรือมีประจำเดือน แต่จากการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนได้
วิธีรักษาแผลร้อนใน
1. ทายาแก้ร้อนใน
– ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) ยาชนิดป้ายปาก สามารถทาได้ หลังอาหาร 3 มื้อ หรือก่อนนอน
– ฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ (Fluocinolone acetonide) เป็นยาที่มีทั้งชนิดทา และชนิดสารละลาย
– คลอร์เฮ็กซิดีน กลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate) ซึ่งเป็นยาที่ใช้บ้วนปาก โดยใช้อมวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที หลังอาหาร
2. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
น้ำเกลือนอกจากจะช่วยรักษาแผลได้แล้ว ยังช่วยทำให้ปากสะอาด แบคทีเรียลดลงอีกด้วย ซึ่งเราสามารถบ้วนได้วันละ 2-3 ครั้ง
3. เปลี่ยนยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่เคยใช้
หากคุณเป็นผู้ที่ไม่ได้ทานอาหารรสจัด ทานของทอดๆ มันๆ หรือไม่ได้นอนดึก สาเหตุหนึ่งก็อาจมาจากเยื้อบุปากของคุณแพ้ยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากที่คุณเคยใช้ ลองเปลี่ยนดู อาจจะทำให้อาการดีขึ้นก็ได้นะ
4. ดื่มน้ำให้มากๆ
เราควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
5. หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท รวมถึงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้
เราควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน จำพวกของทอดต่างๆ นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เพราะมันสามารถเข้าไปทำให้แผลเกิดการระคายเคืองได้ ทั้งนี้ก็ควรทานอาหารที่มีปนะโยชน์และครบ 5 หมู่ด้วยนะ
6. ผ่อนคลายความเครียด
หากเราไม่ผ่อนคลายความเครียด นอกจากแผลจะไม่หายแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วยนะ
7. พักผ่อนให้เพียงพอ
จะเห็นได้ว่า แม้แผลร้อนในจะมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่การดูแลและใส่ใจในสุขภาพของตัวเองนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ เราควรพักผ่อนให้เพียงพอ และระวังเรื่องอาหารการกิน รวมถึงความสะอาดในช่องปากของเราด้วย เพียงเท่านี้ปัญหากังวัลใจเรื่องร้อนในของเราก็จะหมดไป
ที่มา : www.medthai.com และ www.เกร็ดความรู้.net