ทำไมใคร ๆ ก็ผ่าฟันคุด ไม่ผ่าได้ไหม?
ฟันคุด หมายถึง ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างสุดท้าย http://winne.ws/n19206

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกัเจ้าฟันคุดที่ว่ากันก่อนดีกว่าว่า ฟันคุด หมายถึงอะไร?
ฟันคุด หมายถึง ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างสุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 – 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอกในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ ฟันอื่นๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย แต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย
ถ้าเกิดมีฟันคุด ฟันคุดอาจไปดันฟันข้างเคียงซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณใบหน้าและขากรรไกรจากการผุทะลุโพรงประสาทฟัน หรือการอักเสบของเนื้อเยื้อรอบๆ ได้
จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุดในช่องปาก
จากการตรวจในช่องปาก เพื่อให้แน่ใจก็ควรจะเอกซเรย์ดู ก็จะทำให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง การเอ็กซเรย์จะช่วยให้เห็นทิศทางการฝังคุดของฟัน และเห็นอวัยวะข้างเคียง ฟันคุดอาจเป็นฟันคุด ตั้งตรง ฟันคุดเอียงๆ หรืออาจฝังคุดในแนวนอน ซึ่งการผ่าออกมีความยากง่ายแตกต่างกัน
จุดประสงค์ของการผ่าฟันคุดมีหลายประการ ดังนี้
1. เพื่อป้องกันอาการปวด เพราะฟันคุดเองมีแรงผลักเพื่อจะงอกขึ้นมาในขากรรไกร แต่ถูกกันหรือติดโดยฟันข้างเคียง ทำให้มีแรงย้อนกลับไปกดที่เส้นประสาทของขากรรไกร อาการปวดมีตั้งแต่ทนได้จนกระทั่งปวดมาก ในบางครั้งอาจมีอาการปวดแบบส่งต่อหลังจากตำแหน่งฟันคุดไปยังบริเวณอื่นของใบ หน้า เช่น ปวดหน้าหู ปวดตา ปวดศีรษะ เป็นต้น
2. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
3. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
4. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่ พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น หากไม่เคยได้รับการตรวจฟัน มักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียงหรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง ซึ่งถ้าพบและรีบทำการผ่าตัดออกได้เร็ว การสูญเสียอวัยวะ ขากรรไกรก็น้อย ยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออก การรักษารูปใบหน้าให้เหมือนเดิมก็ทำได้ยากขึ้น
6. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
7. วัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น ในการจัดฟัน มักต้องถอนฟันกรามซี่ที่สาม ออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่น ๆ และแรงดันของฟันคุด ยังมากพอที่จะผลักให้ฟันข้างเคียงรับแรงกระทบต่อๆ กันไปจนฟันบิดซ้อนเกได้ ในการจัดฟันทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ถอนฟันคุดออกก่อนใส่เครื่องมือ
ทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่า “ฟันคุด” เนี่ยไม่น่ารักเอาเสียเลย จำเป็นต้อถอนหรือผ่าทิ้งเสีย ไม่อย่างงั้นคงทรมานช่องปากอย่างแน่นอนค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
www.thaihealth.or.th/healthcontent/healthtips/29077
www.nmd.go.th/dc/index.php?option=com_content&view=article&id=68&Itemid=90 , http://www.todayhealth.org