ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนี 'SME' ร้อยละ 69 เชื่อกิจการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีเอสเอ็มอี พบร้อยละ 69 เชื่อกิจการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว แม้ยังมีเอสเอ็มอีมากกว่าครึ่งตอบว่า ยอดขายและรายได้ ยังทรงตัวเท่าปีก่อน http://winne.ws/n19791

836 ผู้เข้าชม
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนี 'SME' ร้อยละ 69 เชื่อกิจการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว

          นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งทำทุก 3 เดือน ล่าสุดพบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม 1,592 รายทั่วประเทศ มีสถานการณ์ทางธุรกิจทรงตัว ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

          โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.6 ระบุว่า ยอดขายหรือรายได้ในปีนี้ จะอยู่ในระดับใกล้เคียงปีก่อน ขณะที่ร้อยละ 24.9 บอกว่า รายได้และยอดขายต่ำกว่าปีก่อน โดยธุรกิจขนาดเล็ก มองว่ายอดขายจะต่ำกว่าปีก่อนมากกว่าธุรกิจขนาดกลาง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63 สามารถประคองธุรกิจได้นานที่สุด 7 เดือน หากไม่มีรายได้เข้ามาเลย และร้อยละ 32 ตอบว่า เคยขาดส่งเงินต้น ดอกเบี้ย หรือคืนเงินกู้ไม่ตรงตามกำหนดเวลา

          อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.8 คิดว่า กิจการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว โดยส่วนใหญ่ที่ตอบเช่นนี้เป็นธุรกิจขนาดกลาง โดยมีข้อมูลสำรวจที่น่าสนใจคือ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร้อยละ 3 ตอบว่า จะเริ่มต้นลงทุนอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2560 ส่วนปี 2561 มีเอสเอ็มอีที่บอกว่าจะลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 1 ร้อยละ 13.6 ไตรมาส 2 ร้อยละ 12.6 และ ครึ่งหลังปี 2561 ร้อยละ 13 

          ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีขณะนี้ ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และอยู่ในระยะฟื้นตัว แม้ว่าดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาส 3 ที่สำรวจพบยังอยู่ที่ระดับ 41.1 แต่เมื่อรวมกับดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.3 และดัชนีความยั่งยืนธุรกิจที่ระดับ 51.7 ก็ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีสัญญาณดีขึ้น ประกอบการการส่งออกที่ดีขึ้น น่าจะทำให้เห็นการลงทุนของเอสเอ็มอีได้ตั้งแต่กลางปี 2561

          จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังพบว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2560 ความกังวล 5 เรื่องสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กระทบการส่งออกและท่องเที่ยว ร้อยละ 57.1 ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ ร้อยละ 47.2 กำลังซื้อภายในประเทศลดลง ร้อยละ 34.2 ความไม่สงบทางการเมือง ร้อยละ 32.2 และ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ร้อยละ 32

          พร้อมกับประเมินว่า หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีไทยปีนี้ เติบโตที่ร้อยละ 3.9 ตามที่คาดการณ์ จะมีผลให้จีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัวอัตราร้อยละ 4.5 โดยเอสเอ็มอีขนาดใหญ่จะขยายตัวได้ดีที่สุด ตามมาด้วยเอสเอ็มอีขนาดกลางและเล็ก ตามลำดับ  

          ส่วนปี 2561 นายธนวรรธน์ คาดว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนดเวลา จะทำให้มีเงินสะพัดในระบบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท บวกกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเงินฉีดเข้าระบบอีก 5 หมื่นล้านบาท รวมกับงบประมาณประจำปี ซึ่งทั้ง 3 กิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2-3 แสนล้านบาท และทำให้ภาพการกระจายเงินไปสู่เศรษฐกิจชนบทชัดเจนขึ้น มีผลให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มจากประมาณการที่มีอยู่โตขึ้นได้ร้อยละ 0.5-1.0 และคาดว่าจะทำให้จีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัวได้อีกร้อยละ 0.7-1.2 จากการประมาณการปัจจุบันที่คาดว่า จีดีพีปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 และจีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัวร้อยละ 4.4   


รายงานโดย อังศุมาลิน บุรุษ

ขอขอบคุณภาพและแหล่งข่าว https://news.voicetv.co.th

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://news.voicetv.co.th/business/533245.html

แชร์