'ภูมิต้านทานอุปสรรค' โปรแกรมที่ต้องพร้อมตั้งแต่เด็ก

ภูมิต้านทานอุปสรรคก็เป็นเหมือนนิสัยมนุษย์ ไม่ได้สร้างขึ้นมาได้ในวันเดียว นอกจากการให้กำลังใจเชิงบวกที่ช่วยให้คนรู้จักคุณค่าของตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ทักษะการรับมือกับความผิดหวัง http://winne.ws/n20509

765 ผู้เข้าชม
'ภูมิต้านทานอุปสรรค' โปรแกรมที่ต้องพร้อมตั้งแต่เด็ก

ทัศนคติต่อโลกและชีวิต

          ถ้าโยนปัญหาเรื่องหนึ่งไปให้คนจำนวนหนึ่ง เราจะได้เห็นปฏิกิริยาที่แต่ละคนมีต่อปัญหานั้นอย่างหลากหลายเพื่อผ่านมันไป แต่ถ้านั่นไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ที่เพียงมีสติปัญญาก็อาจแก้ไขไม่ได้ แต่ต้องใช้แรงใจมหาศาลและความอดทนที่ก็ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

          เราอาจได้เห็นคนที่พยายามปัดปัญหาให้พ้นตัว โทษคนอื่น หรือหนีปัญหา

          เราอาจได้เห็นคนที่ทดท้อและยอมแพ้ ล้มเลิกทุกอย่างที่ทำมา

          และเราอาจได้เห็นคนที่อดทนรอ และค่อยๆ แก้ปัญหาให้คลี่คลายไป

          อะไรทำให้แต่ละคนมีท่าทีต่ออุปสรรคปัญหาแตกต่างกัน คำตอบแรกๆ ที่พอจะนึกออกได้เร็วๆ คือ ทัศนคติต่อโลกและชีวิต คนที่มีทัศนคติตรงนี้ดี ก็ย่อมไม่โทษคนอื่น ไม่ท้อแท้ หรือล้มเลิกอะไรง่ายๆ และเข้าใจได้ว่าอุปสรรคทุกอย่างจะผ่านพ้นไปและมีสิ่งดีๆ รออยู่ข้างหน้า หากรู้จักอดทนและรอคอย เหมือนคำกล่าวที่ว่า 'ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ'

                                                                                                                                                                                                  'ภูมิต้านทานอุปสรรค'

          'ภูมิต้านทานอุปสรรค' เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยป้องกันโรคย่อท้อต่ออุปสรรคและความยากลำบากในชีวิต ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่คนทุกคนต้องพบเจอ

          อย่างไรก็ตาม ภูมิต้านทานอุปสรรคก็เป็นเหมือนนิสัยอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาได้ในวันเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากการหล่อหลอม สั่งสม และสร้างเสริมมาเป็นระยะเวลายาวนาน เราอาจต้องมองย้อนไปไกลถึงการเลี้ยงดูในช่วงต้นของชีวิตเลยทีเดียว

          ว่ากันว่าช่วงวัยเด็ก ตั้งแต่เริ่มรู้ความจนถึงหกขวบ เป็นวัยที่สมองกำลังติดตั้งโปรแกรมให้กับชีวิต ไม่ว่าจะปลูกฝังหรือสร้างอะไรให้กับเด็กวัยนี้ ก็จะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต ระยะเวลาช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่สำคัญมากที่สุดช่วงหนึ่ง

          แล้วเราจะช่วยเด็กๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือคนใกล้ชิด ติดตั้งโปรแกรมที่เรียกว่า 'ภูมิต้านทานอุปสรรค' ได้อย่างไรบ้าง แพทย์หญิง เสาวภา พรจินดารักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ให้คำแนะนำไว้ดังนี้

          1. ฝึกความรับผิดชอบ โดยต้องทำอย่างมีสติ เพราะเราต้องการให้เด็กฝึก 'ควบคุมตนเอง' ไม่ใช่เราที่ไปควบคุมเขา การสร้าง 'วินัยเชิงบวก' จะเน้นให้เด็กร่วมคิดและตัดสินใจ โดยผู้ใหญ่เป็นฝ่ายควบคุมกติกา รวมทั้ง 'บทลงโทษเชิงบวก' ก็เน้นที่การเปลี่ยนแปลงโดยเด็กต้องเข้าใจ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเพราะกลัว

          2. ฝึกช่วยเหลือตนเอง เด็กที่ได้โอกาสนี้จะรู้สึกมั่นใจในการคิดและทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง และมุ่งมั่นที่จะทำให้มากขึ้น ซึ่งความมุ่งมั่นนี่แหละที่จะทำให้เด็กอยากทำงานที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ

          3. ฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ตนเอง โดยผู้ใหญ่ต้องควบคุมอารมณ์ตนเองเป็นแบบอย่างด้วย

          4. ฝึกไม่ให้เด็กติดความสบาย เช่น เปิดพัดลมแทนการเปิดแอร์ในวันที่อากาศไม่ร้อนมาก วิ่งเล่นในที่แจ้งแทนการนั่งดูการ์ตูนในบ้าน รวมทั้งการมอบหมายให้ช่วยงานบ้าน

          5. เมื่อเด็กมีปัญหาและอุปสรรค ผู้ใหญ่ควรชะลอการช่วยเหลือ โดยสังเกตวิธีการแก้ปัญหาของเด็ก และหากพบว่าติดขัดจริงๆ ค่อยเข้าไปช่วยเหลือ โดยมุ่งไปที่การช่วยตีโจทย์ปัญหา วางแผนการแก้ไข และติดตามการแก้ปัญหาไปด้วยกัน

          คุณหมอเสาวภาฝากข้อคิดไว้ด้วยว่าพ่อแม่ยุคใหม่ต้องเลี้ยงลูกให้รู้จักอดทนและมีความมุ่งมั่น เพื่อสร้างภูมิต้านทานอุปสรรคให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะคุณลักษณะที่ดีนี้จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต

                                                                                                                                                                                                ทักษะการรับมือกับความผิดหวัง

          นอกจากการให้กำลังใจเชิงบวกที่ช่วยให้คนเรารู้จักคุณค่าของตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ทักษะการรับมือกับความผิดหวัง ไม่มีใครที่อยากทำอะไรไม่สำเร็จ แต่บนโลกใบนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถ้าชีวิตต้องเจอสภาวะความผิดหวัง หรือยากลำบาก เราจะจัดการกับจิตใจตัวเองได้อย่างไร

          อะไรที่จะทำให้เด็กมีภูมิต้านทานอุปสรรค เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหากันอย่างจริงจัง

          ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูเชิงบวกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับทักษะทางสมองด้วย เรียกว่า Executive Fuctions หรือ EF เป็นทักษะทางสมองที่มีทั้งหมด 9 ด้าน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการสร้างภูมิคุ้มกันอุปสรรคให้คนเราตั้งแต่เด็ก ได้แก่ 

           กลุ่มทักษะพื้นฐาน หมายถึงทักษะความจำเพื่อนำมาใช้งาน การยั้งคิดไตร่ตรอง และการยืดหยุ่นการคิด 

          กลุ่มทักษะกำกับตนเอง คือทักษะการใส่ใจจดจ่อ ควบคุมอารมณ์ และประเมินตนเอง 

          และกลุ่มทักษะปฏิบัติ หมายถึงการริเริ่มลงมือทำ การวางแผนจัดระบบดำเนินการ การมุ่งที่เป้าหมาย

          สมองของเด็กปฐมวัยมีศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้อย่างดี โดยเฉพาะช่วง 3-6 ขวบซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้า ซึ่ง EF ทำงาน กำลังมีพัฒนาการมากที่สุด ผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเด็กจึงควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทักษะ EF อย่างต่อเนื่อง

          กิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาทักษะ EF เช่น การให้เล่นและลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ได้ออกแบบวิธีการเล่นด้วยตนเอง หรือวางแผนการเล่นด้วยตนเอง ซึ่งการเล่นจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งนี้ ควรเลือกของเล่นให้เหมาะ เพราะมีของเล่นหลายประเภทที่ช่วยกระตุ้นสมองส่วนหน้าของเด็กให้ตื่นตัว ทำให้พัฒนาด้านความคิดได้ เช่น เลโก้ หมากฮอส ไม่เพียงเท่านั้น การทำกิจกรรมด้านดนตรีทุกอย่าง ไม่ว่าจะฟังเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือเคลื่อนไหวตามจังหวะ ก็ช่วยฝึกทักษะทางสมองให้กับเด็กได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ พื้นฐานสำหรับคือการอ่านหนังสือ การชวนเด็กเล็กให้อ่าน หรืออ่านนิทานให้ฟัง ก็จะช่วยเสริมสร้างทักษะการอ่าน การเขียน มีเชาวน์ปัญญาดีขึ้น นอกจากนี้ ยังควรตั้งคำถามชวนคิดชวนคุย เพื่อให้เด็กได้ลองคิดหลากหลาย คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกการวิเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการคิด การตัดสินใจ และสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้ใหญ่

          นอกจากนี้ เด็กๆ ควรได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่ตามวัยที่เขาทำได้ เช่น มอบหมายงานบ้าน หรือให้ดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นการฝึกความรับผิดชอบและฝึกการวางแผนด้วยตนเอง

          การปลูกฝังภูมิต้านทานอุปสรรคและพัฒนาทักษะทางสมองเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิต พ่อแม่ที่มีลูกเล็กไม่ควรรีรอ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างและพัฒนาให้งอกงามในความคิดและจิตใจของเขา เพื่อที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่งดงาม เพราะอนาคตเริ่มต้นจากวันนี้

ABOUT THE AUTHOR     :      THE MOMENTUM TEAM

ที่มา                        :       http://themomentum.co/advertorial-executive-fuctions

Postedon            :       16 พ.ย. 2560

แชร์