"วันวสันตวิษุวัต" กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน!?!
สดร. เผย 20 มีนาคมนี้ เป็น“วันวสันตวิษุวัต” กลางวันเท่ากับกลางคืน ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาล ของประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ... http://winne.ws/n22718
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรโลก (ละติจูด 0 องศา ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ละติจูด 15 องศา) ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี จึงมีช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันวสันตวิษุวัต” (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) โดย “วิษุวัต” (Equinox) หมายถึง จุดที่ดวงอาทิตย์ตรงตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี แปลเป็นภาษาไทยว่า “ราตรีเสมอภาค” นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้ สำหรับประเทศไทยในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)
ทั้งนี้แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา หลังจากนี้ ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เฉียงไปทางเหนือเรื่อยๆ และหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิ.ย. 61 หรือที่เรียกว่าวันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) หลังจากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่เฉียงลงมาทางใต้อีกครั้งหนึ่ง และในหนึ่งปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี เพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ “วันวสันตวิษุวัต” (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มี.ค. และ “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 ก.ย.
ดร.ศรัณย์ กล่าว ว่า เนื่องจากแกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับระนาบตั้งฉากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณต่างกัน ทำให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว
อย่างไรก็ดีการที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของดวงอาทิตย์ ใน 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้
1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า“ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
ขอขอบคุณ : เดลินิวส์