สมภาร (สม-ภาระ) : ผู้รับภาระของวัด และพระศาสนา
หน้าที่พระ คือ หน้าที่ในการดำรงไว้ซึ่งพุทธธรรมและตราบใดที่สังคมนี้หรือโลกนี้ยังมี “พุทธธรรม” โลกจะยังสว่างไสวเป็นที่พึ่งและเป็นหนทางที่จะนำพาจิตใจของเพื่อนมนุษย์หันหาและทำดี http://winne.ws/n23544
การเป็นพระนั้นไม่ง่าย เพราะถ้าง่ายและสุขสบายหลายคนคงจะเลือกใช้ชีวิตพระมากกว่า
แต่เพราะ ความเป็นพระ ไม่ใช่เพียงแค่การปลงผม แล้วห่มผ้ากาสาวพัตร์ แต่ความเป็นพระคือการฝึกตนทนต่อความไม่สะดวกสบายหลายประการ มีข้อปฏิบัติศีลาจารวัตรนับร้อยๆข้อมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อพระพุทธศาสนา ต่อญาติโยมประชาชน ไม่น้อยไปกว่าสถานะอื่นๆในสังคม ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจคิดว่า พระคงไม่ได้ทำอะไรมากนอกจาก ออกบิณฑบาต
สวดมนต์ รับนิมนต์งานแต่ง งานฌาปนกิจ ฯลฯ
ทว่าภาระของพระที่ต้องรับผิดชอบนั้นมีมากอย่างที่กล่าวไว้อย่างย่อตอนต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระที่อยู่ในฐานะที่ต้องดูแลภารกิจงานพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่ เจ้าอาวาส ที่ต้องรับผิดชอบงานด้านต่างๆของวัดนั้น ไม่น้อยไปกว่าฐานะของผู้นำผู้บริหาร ต่างๆทางโลกเลย
วันนี้ เราจะพาคุณผู้อ่านมาดูศึกษาดูงานเจ้าอาวาส กันค่ะว่า คำว่า เจ้าอาวาสหรืออีกคำที่หลายคนคุ้นคือ สมภาร ที่แปลว่า สม-ภาระ คือ ผู้รับภาระ(ของวัด) นั้นท่านต้องรับภาระอะไรบ้าง
โดยทีมงานได้รับความเมตตาจาก พระครูวรปัญญาประยุต เจ้าคณะอำเภอรือเสาะ-ศรีสาคร
วัดราษฎร์สโมสร เล่าให้ฟังดังนี้ค่ะ
พระภิกษุที่จะสามารถรับภาระของวัดโดยการเป็นเจ้าอาวาสได้นั้น ต้องผ่านการศึกษาธรรมะ และฝึกตนมาอย่างน้อย 5 พรรษาขึ้นไป และ มีหน้าที่ดังนี้
1. มีหน้าที่บำรุง รักษาวัด คือ งานดูแลศาสนสถาน พื้นที่ ธรณีสงฆ์ตลอดถึงเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆซึ่งในการทำงานนั้นปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องใช้ปัจจัยเพื่อใช้จ่ายตั้งแต่การจัดสร้างจัดหา ตลอดการดูแลรักษา
ฉะนั้น เจ้าอาวาส ต้องเป็นพระภิกษุ ที่มีความรู้และมีศีลาจารวัตร ที่สามารถเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชนได้ จึงจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ญาติโยมประชาชนสละทรัพย์ที่ตนหามาได้ยากมาร่วมสร้างวัด สร้างศาสนสถานต่างๆ และใช้จ่ายไปในการดูแลรักษา เพราะเมื่อเจ้าอาวาส ร่วมตลอดทั้งพระในวัดด้วย มีธรรมวินัยดี ย่อมเป็นต้นแบบที่ดีเป็นเนื้อนาบุญที่ดี และนั้นหมายถึงศรัทธาของประชาชนที่จะมาสู่วัดสู่พระพุทธศาสนาและทำให้งานพระศาสนาไม่ว่างานสร้างวัด หรืออบรมผู้คน สำเร็จได้ในที่สุด
2. งานปกครองดูแลพระภิกษุผู้อยู่ในวัดให้ปฏิบัติตามธรรมวินัย
แม้ว่า เจ้าอาวาส หลวงปู่หลวงตาท่านอาจจะมีการศึกษาทางโลกไม่สูง แต่ความรู้ในทางธรรมโดยเฉพาะการปฏิบัติของท่านมีมากและลึกซึ้งกว่าการศึกษาทางโลกและหลายท่านมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ท่านจึงสามารถรับภาระงานภายในวัดได้อย่างดีซึ่งเป็นเพราะคุณธรรมในตัวของท่าน
3. เป็นธุระจัดการศึกษาอบรมสั่งสอนพระและประชาชน
ในปัจจุบัน พระภิกษุ มีความรู้ทั้งปริยัติและปริญญา ทำให้พระท่านมีความสามารถในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้กว้างขวางขึ้นสามารถรับภาระในการจัดการเรียนการสอน การอบรมพระ-สามเณร ตลอดทั้งญาติโยมประชาชน ท่านเหล่านี้เป็นกำลังให้พระพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากการอบรมให้ความรู้แล้ว ทางวัดยังให้ความช่วยเหลือการศึกษาทั้งด้านการสนับสนุนเงินการศึกษาแก่ลูกหลานประชาชนด้วย เช่น ที่ จังหวัดนราธิวาส ท่านเจ้าคณะจังหวัดมีนโยบายมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์เป็นประจำทุกปีในวันคล้ายวันเกิดของท่าน เป็นต้น
4. อำนวยความสะดวกในการประกอบพิธีบุญกุศลหรือการมาปฏิบัติธรรม ให้แก่ญาติโยมประชาชน นอกจากบุญพิธีตามประเพณีแล้วก็ต้องอำนวยความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือประชาชนในการประกอบพิธีกรรมกุศลอื่นๆเช่น การจัดงานฌาปนกิจ ซึ่งที่วัดราษฎร์สโมสรนั้น หากประชาชนขัดสนเรื่องปัจจัยทางวัดก็ยินดีให้ความช่วยเหลือจัดพิธีให้
ขอเพียงทำตามกฎระเบียบของวัด เช่น ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มเหล้าในงานพิธีเป็นต้น หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานบวชทางวัดก็มีไตรจีวร มีอัฐบริขาร ให้แก่ผู้มาขอบวชส่วนว่าญาติโยมประสงค์จะร่วมบุญปัจจัยกับทางวัดหรือไม่อย่างไรนั้น แล้วแต่ความสะดวกของญาติโยม เพราะ การบวชพระนั้นเป็นหน้าที่ ที่พระภิกษุ และวัด ทำหน้าที่แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการรับธรรมทายาทเข้ามาในพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ที่พระผู้บวชก่อนต้องปฏิบัติ ไม่ใช่การรับจ้างบวชเพราะฉะนั้นญาติโยมประชาชนจะสนับสนุนมากน้อยเพียงได ก็เป็นศรัทธาของญาติโยม
นอกจากหน้าที่แล้ว เจ้าอาวาสยังมีอำนาจเพื่อใช้ในการปกครองให้วัดมีความเรียบร้อยสงบสุข กล่าวคือ
1. สามารถห้ามบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปอาศัยอยู่ในวัดได้
2. สามารถสั่งให้บรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ที่ไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส ให้ออกไปจากวัดได้
3. สามารถสั่งให้บรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ที่อยู่อาศัยในวัด หากพบว่ามีความประพฤติที่ไม่สมควรให้ทำทัณฑ์บนหรือทำการขอขมาโทษ โดยชอบธรรมตามพระธรรมวินัย หรือ โดยคำสั่งของ มส.
นอกจากนี้ เจ้าอาวาส ท่านสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการวัด เพื่อให้ช่วยเหลือในกิจการงานของวัด ตามที่ท่านมอบหมาย แต่ในเรื่องนี้ในขณะที่เป็นข้อดีที่มีคณะทำงานช่วย ก็เป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน คือ บางครั้งคณะกรรมการ ก็ไม่อยู่ในบทบาทของตนเอง ที่อยู่ในฐานะของผู้ช่วย แต่กลับกลายเป็นการเข้ามาควบคุมวัดหรือ/และควบคุมเจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเสียเอง ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับหลายๆ วัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าอาวาส หรือพระในวัด ต้องประคับประคองเพื่อดูแลรักษาทั้งงานพระศาสนาและศรัทธาของทุกฝ่าย ไปพร้อมกัน ก็ถือว่าเป็นภารที่หนักไม่น้อย
ในตอนท้ายหลวงพ่อเจ้าคุณอำเภอได้ให้ข้อคิดไว้ว่า
พระภิกษุมีหน้าที่ทำตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเบื้องต้นเมื่อบวชเข้ามา
ก็ต้องศึกษาธรรมวินัย กิจวัตร 10 ศึกษาธรรมะ คือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ
เพื่อทำความเข้าใจว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงกล่าวไว้อย่างไรซึ่งต่อมาในด้านการศึกษา ล้นเกล้ารัชการที่ 5 ทรงมีพระมหากรุณาว่าหากพระเรียนเพียงพระบาลีอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอจึงทรงโปรดเกล้าให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัยให้เป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงของพระภิกษุ มีหลักสูตรถึงปริญญาเอกและรับรองโดยรัฐบาล
ซึ่งหากประชาชนได้เห็นงานของพระพุทธศาสนาแล้วจะเข้าใจได้ดีว่า พระไม่ได้บวชมาเพื่อเอาเปรียบสังคม หรืองอมืองอเท้า พระส่วนใหญ่ทั่วประเทศเป็นพระภิกษุที่ตั้งใจทำหน้าที่ของท่านอย่างเต็มกำลัง แต่บ่อยครั้งที่ มีพระทำผิดพลาดที่มีเพียงเล็กน้อยแต่สื่อมวลชนหรือประชาชนก็ไปถือเอาตรงนั้นมากล่าวเหมาเอากับพระภิกษุทั้งหมดหรือมองพระพุทธศาสนาในทางเสียหาย เหมือนมองจุดดำบนผ้าขาว แล้วก็ซ้ำเติมด้วยการทำให้เป็นข่าวหน้าหนึ่งต่างๆนานา
แต่พระที่ทำดีทั่วประเทศกลับไม่เคยนำเสนอเรื่องเหล่านี้สู่สังคม คือ ทำดีแล้วก็เงียบหายไป เช่น มีการจัดบวชพระ บวชสามเณร นับร้อยรูปตามวัดต่างๆ กิจกรรมดีๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการบอกเล่า
ฉะนั้น พระทำงานเป็นประจำและตลอดเวลาเพียงแต่ท่านไม่มีสื่อไม่มีใครมาช่วยเผยแพร่สิ่งที่ท่านทำให้ผู้คนในสังคมได้รู้ได้เห็น
หน้าที่พระ คือ หน้าที่ในการดำรงไว้ซึ่งพุทธธรรมและตราบใดที่สังคมนี้หรือโลกนี้ยังมี “พุทธธรรม” โลกจะยังสว่างไสวเป็นที่พึ่งและเป็นหนทางที่จะนำพาจิตใจของเพื่อนมนุษย์หันหาและทำดี
เพราะฉะนั้น หากเราท่านทั้งหลาย มีกำลังใดๆที่จะช่วยพระพุทธศาสนาขอให้ทำด้วยความจริงใจตั้งใจที่ดี แล้วผลแห่งความดีก็จะเป็นบุญกุศลกลับมาหาตัวเราเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย และต่อสังคมโดยรวมด้วย
กราบขอบพระคุณความรู้จาก
พระครูวรปัญญาประยุต เจ้าคณะอำเภอรือเสาะ-ศรีสาคร วัดราษฎร์สโมสร จ.นราธิวาส
ขอบคุณภาพจาก: ไทยรัฐ