มงคลชีวิต ที่ 27 มีความอดทน ( มงคลชีวิต38 ประการ )
ความอดทน มาจากคำว่าขันติ หมายถึงการรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่ก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดินงานทุกชิ้นในโลกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่สำเร็จมาได้ก็ด้วยคุณธรรมข้อนี้คือ ขันติ http://winne.ws/n23766
หญ้าแม้เป็นพืชต้นเล็กๆ แต่เพราะมีความทนทรหด
จึงสามารถแพร่พันธุ์ไปได้ทั่วโลกฉันใด
คนเราแม้กำลังทรัพย์ กำลังความรู้ความสามารถ จะยังน้อย
แต่ถ้ามีความอดทนแล้วย่อมสามารถฝึกฝนตนเอง
ให้ประสพความสุขความสำเร็จในชีวิตได้ฉันนั้น
ความอดทนคือ อะไร ?
ความอดทน มาจากคำว่า ขันติหมายถึงการรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตามมีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทอะไรลงไปของเสีย ของสกปรก หรือของหอม ของดีงามก็ตาม
งานทุกชิ้นในโลกไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ ที่สำเร็จขึ้นมาได้นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้วล้วนต้องอาศัยคุณธรรมข้อหนึ่งเป็นพื้นฐานจึงสำเร็จได้ คุณธรรมข้อนั้นคือขันติ
ถ้าขาดขันติเสียแล้ว จะไม่มีงานชิ้นใดสำเร็จได้เลยเพราะขันติเป็นคุณธรรมสำหรับทั้งต่อต้านความท้อถอยหดหู่ขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่างๆเป็นเครื่องท้าทายความสามารถ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของงานทุกชิ้นทั้งทางโลกและทางธรรม คืออนุสาวรีย์ของขันติทั้งสิ้น
ลักษณะความอดทนที่ถูกต้อง
1. มีความอดกลั้น คือเมื่อถูกคนพาลด่า ก็ทำราวกับว่าไม่ได้ยิน ทำหูเหมือนหูกระทะ เมื่อเห็นอาการยั่วยุก็ทำราวกับว่าไม่ได้เห็นทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ ไม่สนใจใยดี ไม่ปล่อยใจให้เศร้าหมองไปด้วยใส่ใจสนใจแต่ในเรื่องที่จะทำความเจริญให้แก่ตนเอง เช่นเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
2. เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือสามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่โกรธไม่ทำร้ายทำอันตรายด้วยอำนาจแห่งความโกรธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทน มีคำตรัสของท้าวสักกะเป็นข้อเตือนใจอยู่ว่า
“ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อนแล้ว
ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน
ผู้ที่ไม่โกรธต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่
ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากยิ่ง”
สํ. ส.๑๕/๘๓๕/๓๒๕
3. ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใคร ๆ คือไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่นไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของเรา
4. มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ คือมีปีติอิ่มเอิบใจเสมอๆ ไม่พยาบาทไม่โทษฟ้า โทษฝน โทษเทวดา โทษโชคชะตา หรือโทษใครๆ ทั้งนั้นพยายามอดทนทำการงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน
ลักษณะความอดทนนั้น โบราณท่านสอนลูกหลานไว้ย่อๆ ว่า
“ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง
ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย”
คนบางคนขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ บางคนเกะกะเกเรพอมีผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติ บารมีอย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น
พวกที่จนก็ทนจนต่อไป ไม่ขวนขวายทำมาหากิน จัดเป็นพวกตายด้าน
พวกที่โง่ก็ทนโง่ไป ใครสอนให้ก็ไม่เอา จัดเป็นพวกดื้อด้าน
พวกที่ชั่วแล้วก็ชั่วอีก ใครห้ามก็ไม่ฟัง จัดเป็นพวกดื้อดึง
ลักษณะที่สำคัญยิ่งของขันติ คือตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้นจะต้องมีใจผ่องใส ไม่เศร้าหมอง
เราสรุปลักษณะของขันติโดยย่อได้ดังนี้
1. อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้
2. อดทนทำความดีต่อไป
3. อดทนรักษาใจไว้ไม่ให้ผ่องใสไม่เศร้าหมอง
ขอบคุณบทความจากเว็บ http://www.kalyanamitra.org
ขอบคุณภาพจากเว็บ https://pixabay.com