รู้จัก "สมาธิ" Know-how เพื่อชีวิตดีๆ ที่คุณต้องไม่พลาด

สมาธิ สามารถเพิ่มศักยภาพมนุษย์ได้อย่างมหาศาล ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพใจและกาย และเป็นแหล่งของกระบวนการความรู้แบบ Intuition ที่เหนือกว่าคนทั่วไป http://winne.ws/n24374

4.6 พัน ผู้เข้าชม

สมาธิ ใครๆก็รู้ว่าดีแน่ๆ แต่ดีอย่างไร และ หน้าตาของสมาธิเป็นอย่างไร หลายคนอาจยังเห็นภาพไม่ชัด  วันนี้ขอนำเรื่องราวของสมาธิ มาเล่าให้ฟัง เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า“สมาธิ” คำ 1 คำนี้ มีดีซ้อนอยู่อย่างไรบ้าง

ประการสำคัญอันดับแรกที่อยากบอกเล่า คือ ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของสมาธิ ซึ่งนำมาชี้แจงใน 3 ประโยชน์ใหญ่ๆดังนี้

1. สมาธิ เพิ่มศักยภาพมนุษย์ได้อย่างมหาศาล มีคำกล่าวว่าศักยภาพที่มนุษย์ใช้อยู่ทุกวันนี้แค่ 10 % เท่านั้น เพราะสมาธิ หรือความสามารถในการ Focus ของมนุษย์อยู่ในระดับอ่อนมากๆ แต่ถ้า มนุษย์มีสมาธิที่ดีที่เข้มแข็งเราจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ เข้าใจ จำ คิด วิเคราะห์ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นหลายสิบเท่า

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับ  การรวมแสง : แสงแดดมีพลังงานความร้อนแต่เมื่อแสงกระจายตัว พลังงานความร้อนที่มีก็กระจายกำลังอ่อนกำลัง  แต่ถ้านำเลนส์มารวมแสง ณ จุดFocus ที่ยิ่งเล็กก็ยิ่งมีพลังงานทับทวีจนกระทั้งลุกเป็นไฟได้

สภาพ “ใจ” ของมนุษย์ กับการฝึกสมาธิก็มีลักษณะการเพิ่มพลังศักยภาพในทำนองเดียวกัน จะสังเกตจากตัวเราเองก็ได้ว่า  ถ้าวันไหนสภาวะจิตใจราบรื่น ไม่มีเรื่องรบกวนใจสงบ มีสมาธิดี การทำงานวันนั้นจะเป็นไปด้วยดี ไม่ว่าจะคิด พูดหรือทำอะไรก็ราบรื่นสำเร็จ แต่ถ้าวันไหนมีเรื่องรบกวน เกิดหงุดหงิดฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อ อารมณ์ว้าวุ่นวันนั้น...ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำอะไร ก็ขลุกขลักติดขัดไปหมด 

2. ด้วยเหตุผลที่ว่า ร่างกาย กับ จิตใจส่งผลสัมพันธ์กัน  ผู้ที่มีสมาธิดีจิตใจจะดี เมื่อจิตใจดี สุขภาพจะดีตามไปด้วย ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีข้อมูลพิสูจน์อยู่มากมาย  

ยกตัวอย่างมีการทดลองกับผู้ป่วย 2 คน ที่มีอายุ เพศ อาการโรค และอื่นๆ อยู่ในระดับเดียวกัน (ออกจะเป็นการทดลองที่สะเทือนใจอยู่, ต้องขออภัยในการยกตัวอย่าง) โดยให้นอนอยู่คนละห้อง,  

ห้องที่ 1 เขียนทำพูดที่ให้กำลังติดไว้ที่ปลายเตียงให้ผู้ป่วยเห็นทุกวันและสำหรับคนที่มาเยี่ยมก็ให้พูดคำพูดที่เป็นบวก เช่น วันนี้คุณดูดีมากหน้าตาดูสดใสนะ ... 

ห้องที่ 2 ให้เงื่อนไขตรงกันข้าม  คำพูดที่เขียนให้ผู้ป่วยเห็น และคำพูดของคนที่มาเยี่ยม เป็นถ้อยคำติดลบ

ผลการทดลองเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน  ผู้ป่วยห้องที่ 1มีอาการดีขึ้นและใกล้จะหายป่วยได้เลย ส่วนผู้ป่วยห้องที่ 2 อาการทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด ( คาดว่าทีมงานทดลองคงจะรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วน หลังการทดลอง : ผู้เขียน )

3. สมาธิทำให้เกิดปัญญาในระดับภาวนามยปัญญา  คือ ปัญญาที่เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง  และมีความสามารถในการกระบวนการหาความรู้ วิธีการในเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความรู้และปัญญาในขั้นนี้ก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอ่อนๆ ไปจนกระทั้งรู้แจ้งและกำจัดกิเลส พาตัวเองหลุดพ้นจากวงจรทุกข์ในวัฏฏสงสาร เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย  

มนุษย์ธรรมดาสามัญก็สามารถเข้าถึงภาวนามยปัญญา ได้ 

ยกตัวอย่าง สตีฟ จ๊อบส์ ครั้งหนึ่งเคยมาใช้ชีวิตอยู่อินเดีย 7 เดือนและเขาค้นพบกระบวนการหาความรู้ที่เขาใช้คำว่า Intuition คือ การผุดรู้ ( ซึ่งแม้ยังเป็นระดับอ่อนแต่ก็นำมาซึ่งนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่างมากมาย ) เป็นการหาความรู้ที่เรียบง่าย แต่ทรงพลัง  ด้วยกระบวนการ Intuition ที่เกิดจากใจที่เป็นสมาธิของเขา เขาสามารถหาวิธีการ และผลิตเทคโนโลยีที่ผสานระหว่างโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ ออกแบบให้ทุกคนสามารถพกพาได้ และใช้งานได้ง่ายสะดวกสบายที่ในขณะนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM คิดไม่ทัน! ด้วยกระบวนการความรู้แบบ Intuition ช่วยให้เขาได้แนวคิดที่ล้ำหน้า  และทำให้บริษัท Apple ประสบความสำเร็จและนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตของคนทั้งโลกได้

เพียงแค่หนึ่งคนที่ฝึกสมาธิในระดับภาวนามยปัญญายังสามารถสร้างคุณูปการให้กับมวลมนุษยชาติได้ขนาดนี้  ลองคิดดูว่า หากมีเป็น 10 คน 100 คน แสนหรือล้านคน สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์ในด้านต่างๆ มากมายแค่ไหน  

รู้จัก "สมาธิ"  Know-how เพื่อชีวิตดีๆ ที่คุณต้องไม่พลาด

เมื่อได้รู้คุณค่าที่มีผลสำคัญของสมาธิต่อชีวิตแล้วเรามาทำความรู้จักกับข้อมูลเบื้องต้นของสมาธิเพื่อที่ว่าหากท่านใดต้องการศึกษาฝึกฝนจะได้ไม่สับสน เพราะสมาธิในโลกนี้มีหลายสายหลายแบบ  ความรู้เบื้องต้นนี้ อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้รู้ว่าควรจะเริ่มต้นตรงไหนอย่างไร( ซึ่งในคราวหน้า จะได้นำเสนอวิธีการฝึกสมาธิเบื้องต้น สำหรับท่านที่สนใจ)  

สมาธิ คือ สภาวะที่ใจสงบหยุดนิ่งในอารมณ์เดียว แล้วเกิดความสบายใจ ใจผ่องใส บริสุทธิ์และเป็นสุข ...ซึ่งสภาวะดังกล่าวเป็น เหตุ และ ผล ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ

คล้ายกับปฏิกิริยาของธรรมชาติเช่น น้ำที่ขุ่น เมื่อทำให้นิ่ง ใส ก็จะสามารถมองเห็นพื้นใต้น้ำ มองเห็นปลา มองเห็นสิ่งที่มีอยู่ในน้ำได้

ทำนองเดียวกัน  คนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำและมีใจเป็นสมาธิตั้งมั่น สงบนิ่ง ผ่องใส และเยือกเย็น ย่อมสามารถวินิจฉัยเรื่องราววิเคราะห์ปัญหาได้อย่างแจ่มชัด และสามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้ดี วิสัยทัศน์ไม่พร่าเบลอไม่หวั่นไหว ไม่ว้าวุ่น

จากตำราที่มีในพระพุทธศาสนาสมาธิมี 2  ประเภท แบ่งโดยวิธีปฏิบัติ คือ

1.สมาธินอกพระพุทธศาสนา คือ การทำสมาธิโดยการวางใจไว้นอกตัว เช่น การเพ่งนิมิตตรงหน้า หรือวางใจไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่หน้าผาก  จมูก ... เป็นต้น ซึ่งมีปฏิบัติกันอยู่หลายสายในโลก

2.สมาธิในพระพุทธศาสนา คือ การทำสมาธิโดยการรวมใจมาไว้ในตัวเอง  ซึ่งเป็นวิธีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติจนกระทั้งได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณนั้นเอง  

โดย เมื่อครั้งที่เป็นเจ้าชายสิทธิธัตถะหลังจากออกบวช ได้บำเพ็ญสมาธิด้วยวิธีที่สุดโต่ง จนในที่สุดทรงเข้าใจได้ว่าการปฏิบัติแบบสุดโต่งไม่ใช่หนทางที่จะประสบความสำเร็จ ครั้นแล้ว...ทรงระลึกได้ว่าเมื่อพระชนม์มายุได้ 7 พรรษา ทรงเคยทำสมาธิใต้ต้นหว้าขณะที่พระบิดาทำพิธีแรกนาขวัญ ในการทำสมาธิครั้งนั้น พระองค์ได้เข้าถึงดวงปฐมมรรคที่สว่างไสวอยู่ภายในพระวรกายของพระองค์ เมื่อระลึกถึงประสบการณ์วัยเยาว์ของพระองค์ดังนั้น  พระองค์จึงพิจารณาว่า วิธีที่ทรงทำนั้นน่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องและทำให้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้  แล้วพระองค์ก็เริ่มปฏิบัติสมาธิด้วยวิธีนั้นคือ รวมใจของพระองค์กลับมาวางตั้งมั่น ณ ศูนย์กลางวรกายของพระองค์  เป็นสมาธิตั้งมั่นสงบนิ่งแน่วแน่กระทั้งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่สุด


ความสำคัญของการทำสมาธิ โดยรวมใจมาวางไว้ในตัวนั่น เพราะจุดสมดุลระหว่างความกว้างและยาวของร่างกายคือ  ศูนย์กลางของจุด Focus  ที่ตรงกันระหว่างร่างกาย กับจิตใจคล้ายๆกับหลักการของกล้องจุลทรรศน์  ที่เมื่อปรับ Focus ได้ถูกต้องภาพที่เห็นก็จะชัด ไม่ว่าจะเพิ่มกำลังขยายกี่เท่าก็สามารถเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน

ซึ่งการทำสมาธิโดยการนำใจมาไว้ในตัว ณ จุดที่สมดุลของร่างกายจิตใจและสามารถทำให้ผู้ทำสมาธิพัฒนาศักยภาพของใจได้อย่างยิ่งยวด ในระดับก้าวสู่ความเป็นอริยะบุคคลได้นี้เองคือ จุดเด่นของสมาธิในพระพุทธศาสนา 

รู้จัก "สมาธิ"  Know-how เพื่อชีวิตดีๆ ที่คุณต้องไม่พลาด

ต่อมา,เมื่อกล่าวถึงร่างกาย กับ จิตใจ หลายคนอาจสงสัยคำกล่าวที่ว่า  สมอง กับ จิตใจ คือ สิ่งเดียวกันหรือเปล่า ?  คำตอบคือ สมอง กับ จิตใจ  ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  โดยสามารถเปรียบให้เห็นภาพได้ว่า  สมอง คือ Hardware  ส่วน จิตใจ คือ User เป็นผู้ใช้hardware

อย่างไร? ยกตัวอย่างลองคิดตามดังนี้ ... เรานั่งฟังเพื่อนพูดเรื่องอะไรสักอย่างถ้าเราจดจ่อตั้งใจฟังเพื่อนเราจะรู้เรื่องและจับสาระที่เพื่อนพูดได้ทั้งหมด...แต่เชื่อว่าหลายคนเคยเป็นกันบ่อยที่ว่า...นั่งอยู่กับเพื่อนที่กำลังคุยกันตรงหน้านั่นแหล่ะแต่ไม่สามารถจับสาระที่เพื่อนพูดได้เลย แถมมีการถามอีกว่า...เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ? ... เพราะแม้เราจะได้ยินเสียงที่เพื่อนพูด แต่ที่จับสาระไม่ได้ว่าเพื่อนพูดอะไรเพราะ “ใจ” กำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น อาจเป็นความคิดอื่น หรือเรื่องอื่นๆที่อยู่ในใจในขณะนั้น  คือ “ใจ” กำลังอยู่กับสิ่งอื่นไม่ใช่เพื่อนและเรื่องที่เพื่อนกำลังพูดอยู่ตรงหน้า ฉะนั้น เสียง ที่เพื่อนพูดมาเราก็ได้ยินแค่ว่าเพื่อนพูด แต่สาระที่เพื่อนพูดไม่ได้ถูกส่งจาก hardware คือ ระบบอวัยวะการได้ยิน ผ่านสมอง ...ไปที่ “ใจ” เมื่อวงจรการรับรู้ไม่ครบ ...เราจึงไม่รู้ว่าเพื่อนพูดว่าอะไร

กระบวนการดังกล่าวทำให้เราเห็นได้ว่า  สมอง กับ จิตใจ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ซึ่งตรงกับพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า“ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ”  หรือที่ปราชญ์โบราณกล่าวสรุปให้เข้าใจง่ายๆว่า “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว”  ด้วยเหตุนี้ การฝึกใจให้เป็น "นายที่ดี" จึงมีผลต่อชีวิตอย่างสำคัญยิ่ง

สมาธิไม่ใช่ให้แค่ความสงบสุขแก่จิตใจเท่านั้น แต่ สมาธิ คือ แหล่งแห่งการเกิดของปัญญาอันยิ่งใหญ่ คือ ความรู้แจ้งซึ่งเป็นปัญญาที่สามารถทำให้มนุษย์กำจัดอาสวะกิเลสที่ทำให้เห็นต้นเหตุแห่งทุกข์  และสามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ 

ทั้งนี้ ระดับของปัญญามี 3  ระดับ คือ

1.สุตมยปัญญา  เป็นปัญญาที่ได้จากการอ่าน การฟัง การจำมา

2.จินตมยปัญญา  ปัญญาหรือความรู้ที่ได้จากการคิดวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ ค้นคว้าจากสมมุติฐานการทดลองต่างๆ

ซึ่งมนุษย์ปกติทั่วไปจะปัญญาอยู่ใน 2 ระดับ นี้

3.ภาวนามยปัญญา  คือ ปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้ง (ในความจริงของสรรพสิ่งทั้งปวง)  ที่เกิดจากการฝึกใจให้เป็นสมาธิในระดับสูงได้แก่ ปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้า พระอริยะเจ้าทั้งหลาย

 และแน่นอนที่สุดเหมือน Skill ในเรื่องอื่นๆ ของมนุษย์ที่มีมากน้อยไม่เท่ากัน ความชำนาญในการทำสมาธิของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับ “การฝึกใจ” ที่มากน้อยต่างกัน

ระดับของสมาธิมีทั้งหมด 2 ระดับใหญ่ๆ คือ

1.สมถกัมมฐาน คือ การทำสมาธิเบื้องต้น ใจ จะอยู่สภาวะที่สงบหยุดนิ่งตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว  มีวิธีฝึกกล่าวไว้ในตำราวิสุทธิวาจา  40 วิธี โดยทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อทำให้ใจสงบ หยุดนิ่ง ตั้งมั่น อย่างมั่นคง จนกระทั้งสามารถเข้าถึงดวงปฐมมรรคได้ เมื่อถึงดวงปฐมมรรค นั่นก็คือการเข้าถึงเส้นทางสายกลางเดียวกัน 

เปรียบเหมือนการฉีดยา ที่สามารถฉีดที่แขนซ้ายหรือ แขนขวา  ที่ต้นแขน หรือข้อพับแขน ก็ได้  ที่ในที่สุดยาก็ไหลเข้าไปสู่เส้นเลือดเดียวกันฉันนั้น

2.วิปัสสนาสมาธิ  คือ สมาธิขั้นสูง,   โดยคำศัพท์ วิ แปลว่า วิเศษ, ปัสสนา หรือ ทัสสนาแปลว่า การเห็น : วิปัสสนา แปลว่า การเห็นอันวิเศษ  คือ การเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริงด้วยญานทัสสนะ โดยมีคุณลักษณะสำคัญ คือเมื่อเห็นแล้ว  รู้แจ้งแล้ว สามารถทำได้ด้วยคือ สามารถกำจัดกิเลสได้ด้วยตนเอง  เช่น เห็นตัวตัณหา ก็รู้ว่านี้คือตัณหา แล้วก็สามารถละตัณหานั้นได้จริงๆ  

( ไม่ใช่วิปัสสนาแบบที่อ้างๆกันว่า...ทำวิปัสสนาแต่พอลืมตามาก็ยังหวั่นไหวไปตามอารมณ์โลภ โกรธ หลง, แบบนี้ไม่ใช่ ) ผู้ที่มีความชำนาญในการทำสมาธิในระดับรู้แจ้งในขั้นวิปัสสนาได้ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยะตั้งแต่ระดับพระโสดาบันขึ้นไป

นี้ก็คือ เรื่องราวเบื้องต้นของสมาธิ ที่ชาวพุทธหรือผู้ที่สนใจควรรู้ไว้เป็นกรอบเบื้องต้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและการฝึกฝนเพื่อให้เห็นผลจริงที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตในทุกด้าน 


เรียบเรียงโดย : โฆษิกา 

แชร์