Star Up เถ้าแก่ยุคดิจิตอล Idea ดีจริง มีทุนให้ทำจริง !

อินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อผู้คนได้ง่ายและมากขึ้น มันก็เข้ามาพลิกโฉมระบบการค้าครั้งใหญ่อีกครั้ง และดูเหมือนว่าจะกลายเป็นโอกาสที่ดีขึ้นของเถ้าแก่ยุคใหม่ http://winne.ws/n24879

4.0 พัน ผู้เข้าชม

ผมทำวิจัยและเขียนบทความทางธุรกิจมานาน เคยมีโอกาสได้รับใช้งานราชการเป็นผู้บรรยายโครงการฝึกอบรมการเป็นผู้ประกอบการของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานต่อเนื่องอยู่หลายปี ตั้งแต่สมัยยังเป็นกรมแรงงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นกระทรวงแรงงานในปี พ.ศ. 2536 

เถ้าแก่แบบเก่าในอดีต มันแตกต่างจากเถ้าแก่ยุค 4.0 ในสมัยนี้อย่างมาก

แนวทางการค้าในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามกระแสเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ

เมื่อ 30-40 ปีก่อน ร้านค้าปลีกทุกแห่งจะซื้อสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลางหรือพ่อค้าส่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนในกรุงเทพฯ แหล่งค้าส่งใหญ่ของสินค้าหลายประเภทอยู่ เยาวราช สำเพ็ง และบริเวณใกล้ๆไชน่าทาวน์ พ่อค้าส่งต่างจังหวัดก็มาสั่งซื้อสินค้าจากพ่อค้าส่งรายใหญ่ในกรุงเทพฯ

ร้านขายของชำเบ็ดเตล็ดที่อยากได้สินค้าราคาถูกเพื่อเอาไปขายให้มีส่วนต่างมากหน่อย ต้องไปหาซื้อย่านตลาดเก่าเยาวราช

พอถึงยุคห้างสรรพสินค้าแบบโมเดิร์นเทรดแพร่กระจายไปทุกชุมชน ร้านค้าตามตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ต่างๆก็เริ่มอยู่อยากขึ้น

ร้านขายของชำหายไปเกือบหมด กลายเป็นร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นที่กระจายไปทั่วทุกชุมชน

ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มปรับตัวย้ายเข้าไปเปิดร้านในห้างฯ ร้านค้าปลีกในรูปแบบแฟรนไชส์ชื่อเดียวกันแต่กระจายไปทุกที่มีให้เห็นมากขึ้น

แม้แต่รูปแบบของพ่อค้าคนกลางหรือพ่อค้าส่ง ก็ปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน ห้างอย่างแม็คโครที่ขายสินค้าแบบค้าส่งมีกระจายไปทั่วประเทศ พ่อค้าส่งยุคเก่าเลยหมดหนทางทำมาหากิน

ร้านขายสินค้าเฉพาะทางอย่างเครื่องก่อสร้างหรืออุปกรณ์สำหรับใช้ภายในบ้านที่เคยซื้อจากร้านค้าทั่วไปเริ่มหดหายไป เพราะมีห้างแบบใหม่เป็นทางเลือกที่ดีกว่า สินค้าส่วนใหญ่มีราคาถูกกว่าด้วย โฮมโปร โฮมมาร์ท โกลโบลเฮ้าส์ ไทยวัสดุ มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ

Star Up เถ้าแก่ยุคดิจิตอล Idea ดีจริง มีทุนให้ทำจริง !

ระบบค้าปลีกและค้าส่งแบบโมเดิร์นเทรด ทำท่าจะอยู่ยาวเป็นแบบแผนของวิถีชีวิตสมัยใหม่

แต่พอมาถึงยุคสมาร์ตโฟน อินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อผู้คนได้ง่ายและมากขึ้น มันก็เข้ามาพลิกโฉมระบบการค้าครั้งใหญ่อีกครั้ง และดูเหมือนว่าจะกลายเป็นโอกาสที่ดีขึ้นของเถ้าแก่ยุคใหม่ เป็นเถ้าแก่ยุค 4.0 ที่พอจะต่อสู้กับนายทุนรายใหญ่ในบางตลาดได้

นับตั้งแต่การเปิดตัวสมาร์ตโฟนในปี 2007 อีคอมเมิร์ซเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นกระแสธุรกิจใหม่ยุคดิจิตอล การค้าแบบออนไลน์แย่งสัดส่วนยอดขายจากระบบอ๊อฟไลน์หรือการไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น

แต่เถ้าแก่ใหม่ยุคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การทำงานด้านอีคอมเมิร์ซ์เท่านั้น

ผมอยู่ในแวดวงวิจัยและสื่อมวลชนมานานกว่าสามสิบปี มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมของยุคสมัยหลายครั้ง รูปแบบธุรกิจมันเปลี่ยนไปหมด วันนี้เลยกลายเป็นพี่เลี้ยงช่วยทำงานให้กับสตาร์ทอัพที่เป็นเถ้าแก่ยุค 4.0 

Startup คือผู้ประกอบการยุคใหม่ที่รองรับการค้าขายที่เกี่ยวโยงกับไอทีหรืออินเตอร์เน็ต เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถสร้างรายได้มหาศาล มักจะเป็นธุรกิจหรือบริการรูปแบบใหม่ๆ

แต่ต้องตระหนักไว้ด้วยว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จจริงๆ อาจมีไม่ถึง 10% ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจส่วนใหญ่ที่ไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จล่วงหน้า

สตาร์ทอัพมักเป็นเรื่องใหม่ๆ ก็เลยยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ความเสี่ยงมากหมายถึงโอกาสกำไรมากด้วย

สตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่ได้ลงมือทำจริง แม้จะประสบความล้มเหลว แต่จะได้บทเรียนเก็บไว้เป็นประสบการณ์สำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆอีกครั้งในอนาคต

เคยได้ยินคนไทยพูดแบบคนชอบใช้เส้นสายว่า “Know Who Better Than Know How” หรือ “รู้จักใครดีกว่ารู้ว่าทำอย่างไร” แต่ในยุคของสตาร์ทอัพ Know How สำคัญกว่าแน่ๆ 

คนที่เรารู้จักจะช่วยเราได้ก็เพียงครั้งคราวเท่านั้น จะก้าวหน้าต่อไปข้างหน้าได้จริงๆ ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวเอง

สำหรับการเป็นสตาร์ทอัพ สิ่งแรกที่ต้องมีคือแนวคิดทางธุรกิจ เรื่องที่สองคือเงินทุน 

แต่ไอเดียสำคัญกว่าเงินทุน ถ้าไอเดียดีจริงมีคนพร้อมเป็นนายทุนให้มากมาย

ไอเดียธุรกิจดีๆควรเป็นสิ่งที่มันติดอยู่ในสมองคุณจนไม่สามารถจะปล่อยวางออกไปได้ เป็นอะไรที่คุณมีแพชชั่นลุ่มหลงอยู่กับมัน เป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการของตลาด และหากมันล้มเหลวจะต้องไม่ขาดทุนเงินของตัวเองมากเกินกว่าจะรับได้

ตัวอย่างของการเป็นสตาร์ทอัพในยุคนี้ที่สามารถเริ่มต้นได้โดยใช้เงินทุนไม่มาก เช่น Online Freelancing, Online Learning or Tutoring, YouTube Channel Partner, Live Streaming, Blogger, E-commerce Portal, Create Apps, Viral Video Maker, Making Chatbots, Digital Marketing Consultant, ฯลฯ 

ไอเดียบรรเจิดของสตาร์ทอัพที่เคยได้ศึกษาหลายโครงการ มันดูน่าทึ่งมาก แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ มันจะทำเงินคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่?

ถ้าเป็นช่วงเริ่มตั้งไข่ของไอเดีย สามารถทำต้นแบบที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไรมากก่อน เมื่อมั่นใจในระดับหนึ่งและต้องการระดมทุนก้อนใหญ่ขึ้น ต้องทำการวิจัยและจัดทำ Proposal เสนอผู้ลงทุน แสดงให้เห็นตัวเลขประมาณการทางด้านการเงินของโครงการเพื่อให้ผู้ลงทุนคล้อยตามด้วย และต้องใช้ภาษาที่สื่อความหมายให้เข้าใจได้ง่าย

โดนส่วนตัวแล้ว ผมโชคดีที่มีโอกาสทำงานกับโครงการใหม่ๆมามาก ช่วยทำวิจัยและศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของไอเดีย แต่จะเอาไอเดียนั้นมาตรวจสอบโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ 

ผลการวิจัยโครงการใหม่ที่ออกมาเป็นบวก สามารถเอาไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเสนอผู้ลงทุนได้

สำหรับใครที่สนใจเรื่องสตาร์ทอัพ โอกาสต่อไปจะเอาเรื่อง ไอเดีย และแหล่งเงินทุน มาเขียนให้อ่านกันอีก....

โดย  Suttichai Taksanun

แชร์