มงคลที่ 4 อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

ถิ่นที่เหมาะสม หมายถึง ถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพกายและใจ http://winne.ws/n24890

1.1 หมื่น ผู้เข้าชม
มงคลที่ 4 อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
มงคลที่ 4 อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

ถิ่นที่เหมาะสมหมายถึงอย่างไร ?

           ถิ่นที่เหมาะสม หมายถึง ถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดีไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพกายและใจ ยิ่งกว่านั้นยังสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถประกอบ กิจการงานในหน้าที่อันเป็นสัมมาอาชีพให้เจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย และสร้างสมคุณงามความดีได้เต็มที่

           ถิ่นที่เหมาะสม มีความหมายกว้างครอบคลุมถึงถิ่นที่อยู่ทุกระดับ เช่นบ้านที่เราอาศัย โรงเรียนที่เราเรียน สถานที่ที่เราทำงาน หมู่บ้านชุมชนที่เราอยู่ตำบลที่เราตั้งหลักฐาน  อำเภอ  จังหวัด  ประเทศ  ทวีป เป็นต้น

           

วิธีอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

           1. เลือกที่อยู่ที่เหมาะสมเราควรแสวงหาถิ่นที่เหมาะสมอยู่อาศัยให้ได้จึงจะเจริญ เช่น แสวงหาโรงเรียนดี ๆ ที่ทำงานดี ๆ ทำเลปลูกบ้านดี ๆจะบวชก็หาวัดดี ๆ

           2. พัฒนาที่อยู่ที่ทำงานให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องพยายามพัฒนาถิ่นที่เราอยู่ให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมอย่างเต็มความสามารถไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เราอยู่สถานที่ที่เราทำงานหรือชุมชนที่เราอยู่อาศัยก็ตาม โดยยึดหลักการพัฒนาให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมดังนี้

 

ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสม

           1. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดีเช่น ถ้าเป็นบ้าน  ก็ต้องให้มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก  ถ้าเป็นโรงเรียน ก็ต้องมีสุข-ลักษณะดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอึกทึกมีบริเวณกว้างขวาง มีสนาม กีฬา ถ้าเป็นที่ตั้งร้านค้าก็ต้องเป็นบริเวณที่อยู่ในย่านชุมชน การคมนาคมสะดวก ถ้าเป็นจังหวัดหรือภาคก็ต้องเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ดี เช่น ไม่ลุ่มไม่ดอนเกินไปไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เป็นต้น

           2. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารได้สะดวกเช่น อยู่ใกล้ตลาด หรือบริเวณที่มีการเกษตรกรรมสามารถผลิตอาหารได้เองอย่างพอเพียง และเป็นที่ที่สามารถประกอบธุรกิจการงานหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ดี

           3. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึงบริเวณที่อยู่นั้นต้องไม่มีนักเลงอันธ-พาล โจรผู้ร้ายไม่ชุกชุมคนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า

           4. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง ความดีงาม ความเหมาะสม ใน 2 ลักษณะ คือ

          ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมีโรงเรียนสถานศึกษาสำหรับให้ความรู้ได้อย่างดี ตลอดจนมีหลักการปกครองการบริหารราชการบ้านเมืองที่ดีอีกด้วย                  

ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาสผู้รู้ธรรมเป็นบัณฑิต สามารถให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรมได้อย่างดีหรือถิ่นที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง สามารถให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ทำสมาธิภาวนาได้เป็นนิจ

ลำดับความสำคัญของปัจจัย ๔ ประการ

           องค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง 4 ประการ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้

           ธรรมะเป็นที่สบาย       สำคัญอันดับ 1

           บุคคลเป็นที่สบาย       สำคัญอันดับ 2

           อาหารเป็นที่สบาย       สำคัญอันดับ 3

           อาวาสเป็นที่สบาย       สำคัญอันดับ 4

           เพราะถึงแม้อาวาสจะไม่เป็นที่สบายแต่ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็ยังพออยู่ได้ หรือถ้าอาวาสและอาหารไม่เป็นที่สบายแต่บุคคลเป็นที่สบายแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงอาหารและอาวาสให้เป็นที่สบายได้แต่บุคคลจะเป็นที่สบายได้ก็ต้องมีธรรมะเป็นที่สบายอยู่ในจิตใจเสียก่อน

           ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่เป็นเกาะ มีภัยธรรมชาติจากลมพายุแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อย ๆ พื้นที่ก็น้อย (อาวาสไม่เป็นที่สบาย)อาหารการกินก็ไม่เพียงพอ เลี้ยงตัวเอง (อาหารไม่เป็นที่สบาย)แต่เนื่องจากประชากรเขามีประสิทธิภาพ ขยันขันแข็ง มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า(บุคคลเป็นที่สบาย) และมีหลักในการปกครองประเทศที่ดี มีความรักชาติ(ธรรมะในทางโลกเป็นที่ สบาย) จึงเป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเจริญรุ่งเรืองจนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้

ส่วนประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยมไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง (อาวาสเป็นที่สบาย) อาหารการกินอุดมสมบูรณ์(อาหารเป็นที่สบาย) แต่ที่ยังขาดอยู่คือ คนของเรายังขาดวินัยยังมีความมานะพากเพียรไม่เพียงพอ (บุคคลไม่เป็นที่สบาย)แม้เราชาวไทยจะมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจแต่ทว่าเรายังเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวอยู่มากนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเพียงบางส่วน เช่นมีน้ำใจ มีเมตตา แต่ขาดความพากเพียรและวินัย (ธรรมะเป็นที่สบายแต่บุคคลไม่สบาย)ทำให้แม้ประเทศไทยจะน่าอยู่กว่าหลาย ๆ ประเทศ ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อต่อกันแต่ความเจริญของเรายังล้าหลังประเทศอื่นอยู่

           ดังนั้น ถ้าพวกเราร่วมใจกันพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัยมีความขยันขันแข็งใฝ่หาความก้าวหน้าอยู่เสมอโดยนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติก็เป็นที่หวังได้ว่าชาติไทยของเราจะมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้

มงคลที่ 4 อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

ข้อเตือนใจ

           ในหลาย ๆ ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุมากประชาชนได้รับความสะดวกสบายในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภค หางานทำได้ง่าย เก็บเงินทองได้มากดูเผิน ๆ แล้วน่าไปอยู่อาศัยมาก แต่เมื่อพิจารณาอีกที อาจจะคิดได้ว่า อย่าอยู่เลยเพราะธรรมะไม่เป็นที่สบาย โอกาสที่ผู้อยู่อาศัยจะสร้างความก้าวหน้าทางใจโอกาสที่จะสร้างบุญบารมีมีน้อย ลองคิดดูซิ... คนอยู่ในประเทศเหล่านั้นตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงแต่งาน ไม่เคยได้เวลาหรือมีโอกาสนึกถึงการทำบุญให้ทานการรักษาศีล หรือการทำสมาธิภาวนาเลย หรือบางครั้งนึกถึงแต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้ดังนั้นถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายไปแล้วจากคุณงามความดี

           ในประเทศไทยเรา แม้ความเจริญทางด้านวัตถุอาจจะยังล้าหลังแต่ด้านธรรมะยังเจริญอยู่มาก เรายังมีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้เต็มที่มีโอกาสสร้างบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้

 

วิธีทำบ้านให้น่าอยู่

           1. ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบมีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก

           2. เลือกซื้อเลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัยเป็นแม่บ้านก็ต้องหัดทำอาหารให้เป็น

           3. จูงใจคนในบ้านให้มีความเคารพซึ่งกันและกัน ละเว้นอบายมุข มีความขยันหมั่นเพียร มีน้ำใจต่อกันโดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวน   ผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

           4. ชักนำกันไปวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังเทศน์ฝึกสมาธิ เป็นประจำ จัดบ้าน ให้มีอุปกรณ์เครื่องเสริมสร้างทางใจ เช่นมีหนังสือธรรมะ มีห้องพระหรือหิ้งพระ กำจัดภาพและหนังสือที่ไม่เหมาะสมออกให้หมดเช่น ภาพหรือหนังสือลามกเป็นต้น  และชักชวนกันสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนาที่บ้านอย่างสม่ำเสมอด้วย

 

อานิสงส์การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

           1. ทำให้ได้รับความสุขกายสุขใจเต็มที่

           2. ทำให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

           3. ทำให้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

           4. ทำให้ได้รู้ลาภอันประเสริฐคือได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย

           5. ทำให้ได้ฟังธรรมอันประเสริฐคือได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า

           6. ทำให้ได้รู้พระสัทธรรม คือได้ศึกษาธรรมะ

           7. ทำให้ได้การเห็นอันประเสริฐคือได้เห็นพระรัตนตรัย  

           8. ทำให้ได้การศึกษาอันประเสริฐ  คือได้ศึกษาศีลสมาธิ ปัญญา

           9. ทำให้ได้การบำรุงอันประเสริฐ  คือได้บำรุงพระพุทธศาสนา

          10. ทำให้ได้การระลึกอันประเสริฐ คือใจระลึกผูกพันอยู่กับพระรัตนตรัย

          11. ทำให้ได้นิสัยไม่ประมาทโดยดูตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

          12. ทำให้ได้ที่พึ่งอันสูงสุด  คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

          13. ทำให้ได้อริยทรัพย์  คือหนทางสู่นิพพาน

                                                                 ฯลฯ

ขอบคุณธรรมะจากเว็บ http://www.kalyanamitra.org

แชร์