ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง

คำถาม : จีวรของพระสงฆ์จะต้องเป็นสีเหลือง หรือสีกรักเสมอไปหรือไม่ ..เพราะว่ามีชาวต่างชาติสงสัยถามว่าทำไม พระสงฆ์ถึงต้องห่มตัวสีเหลืองด้วย http://winne.ws/n24997

2.6 พัน ผู้เข้าชม
ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง

        คำตอบ: ถ้าว่าไปแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาลสีจีวรของพระโดยทั่วไป จะไม่ค่อยสม่ำเสมอ สาเหตุที่เป็น เช่นนี้ก็เพราะว่าตั้งแต่สมัยพุทธกาลนั้น การย้อมสีจีวรพระท่านจะใช้พวกแก่นไม้ ยางไม้มาย้อมเมื่อใช้ยางจากผลไม้ จากแก่นไม้มาย้อม สีจึงไม่สม่ำเสมอ อย่าว่าแต่เป็นแก่นไม้ต่างประเภทกันเลยแม้แต่แก่นไม้ชนิดเดียวกัน สีก็ไม่สม่ำเสมอ  

     ตั้งแต่เด็ก ๆ สมัยประถม มัธยมอยู่ต่างจังหวัด หลวงพ่อเคยไปช่วยรุ่นน้า รุ่นอา เขาย้อม จีวรกันสมัยโน้นเขาใช้แก่นขนุนมาย้อม พวกแก่นขนุนสีมันจะออกเข้ม ๆ แต่ว่าบางต้น บางพันธุ์แม้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันก็มีสีเข้มจัดจนกระทั่งคล้ำ ในขณะที่ขนุนบางต้นบางพันธุ์ สีจะออก เหลือง ๆ คล้าย ๆ ดอกจำปา ความสม่ำเสมอของสีจากแก่นไม้มันไม่มี

     เพราะฉะนั้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลท่านจึงใช้คำว่าย้อมฝาดคือ ย้อมแล้วเป็นการรักษาคุณภาพของผ้าด้วย คือเมื่อย้อมแล้วทำให้ผ้านั้นไม่เปื่อยง่าย เพราะยางไม้บางประเภทมีคุณสมบัติเป็นยาคือ ทำให้เชื้อราไม่เจริญง่าย หรือบางประเภทก็ไม่ได้เป็นยาแต่ว่าสีเข้มก็เลยทำให้ดูแล้วไม่ค่อยเปื้อนยางไม้บางประเภทเมื่อย้อมแล้วก็ทำให้ผ้าไม่เก็บความชื้นวัตถุประสงค์ในการย้อมผ้าอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นสบง จีวรของพระตั้งแต่สมัยพุทธกาลสีอาจจะแตกจะต่างกันไปบ้าง ท่านก็ไม่เอามา เป็นอารมณ์จนเกินไป

       แต่อย่างไรก็ตามสีจีวรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากอำนาจบุญบารมีที่พระองค์สั่งสมมา สีจีวรของพระองค์จึงเหมือนกับเปลวเพลิง คือเหลือง ๆ ส้ม ๆ อาจจะอมแดงนิดหน่อย สีประเภทเหมือนเปลวเพลิงอย่างนั้นใครเห็นก็จับตา จับใจ แต่ว่าก็ไม่ได้สดใสเหมือนสีแดง สีชมพู หรืออะไรทำนองนั้นจับตา จับใจ แต่ว่าไม่ยั่วยุกามให้กำเริบ แต่ทำให้ผู้เห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น เพราะว่าไม่ได้อยู่ในลักษณะที่เป็นเครื่องตกแต่งเรามองกันตรงนี้

           พระอรหันต์บางรูปสีจีวรของท่านเหมือนอย่างสีของโครุ่นเราไปดูก็แล้วกันว่า โคไทยในท้องทุ่งก็มีสีออกน้ำตาลเข้มหรือบางตัวก็ค่อนข้างน้ำตาลอ่อน

      อย่างไรก็ตาม สรุปว่าสีจีวรนั้นในผืนหนึ่งต้องมีลักษณะดังนี้

            1. อย่ากระดำกระด่าง ถ้ากระดำกระด่างคงไม่งาม

           2.เวลานุ่งห่ม สบงที่นุ่ง จีวรที่ห่ม สังฆาฏีที่พาดไหล่ ควรจะต้องเป็นสีเดียวกันมีฉะนั้นไม่งาม แต่ถ้าเป็นสีเดียวกันและเป็นสีย้อมฝาดก็อนุโลมกันไปตั้งแต่โบราณก็เป็นมาอย่างนี้

     บัดนี้เราไม่ค่อยได้ใช้สีประเภทที่มาจากแก่นไม้กันแล้ว เพราะถ้าบวชทีหนึ่ง ไปเอาแก่นไม้มาทีหนึ่ง พระบวชมากเท่าไรสงสัยป่าคงหมดเร็วเท่านั้นเราจึงต้องใช้สีที่เขาสังเคราะห์ขึ้นมาแทน เมื่อเป็นอย่างนี้ก็อนุโลมกันพอสมควรว่า ให้มันใกล้กับสีของพวกยางไม้หรือแก่นไม้ที่โบราณมีอยู่ก็แล้วกัน ตามประเพณีนิยมในพื้นบ้านนั้น ๆ เช่น พระที่บวชอยู่ในประเทศศรีลังกาถ้าเราสังเกตเห็นสีเข้ม ๆ ค่อนข้างออกแดง แต่ก็อมสีเลือดหมู ก็คงแสดงว่าในสมัยโบราณประเทศ ศรีลังกาคงจะมีแก่นไม้สีนี้เยอะในปัจจุบันนี้ก็เลยถือเป็นสีนิยมของพื้นที่นั้นกันไปก็เป็นได้พระที่มาจากประเทศพม่าท่านก็มีสีจีวรของท่านที่ไม่ค่อยเหมือนกับพระไทยแต่ก็เป็นสีที่ย้อมมาจากแก่นไม้

      ในประเทศไทยเราเมื่อก่อนนี้พระธุดงค์ท่านก็ใช้พวกสีจากแก่นไม้ก็ไม่มีใครมาถือเป็นอารมณ์กันว่าทำไมคล้ำไป ส่วนพระที่อยู่ในเมืองท่านไม่รู้จะไปหาแก่นไม้ที่ไหนก็อาศัยสีย้อมที่มีอยู่ในท้องตลาด ดูสีที่พอสมควร คือ ไม่ใช่เหลืองอ๋อยไม่ใช่แดงแจ๊ด หรือไม่ใช่หวานจ๋อยแบบสีชมพู แต่เป็นสีที่พอสมควร คือถ้าเหลืองก็ให้ออกเป็นเหลืองทอง ถ้าอยากจะออกเดินธุดงค์ก็ใช้ สีมอ ๆ ลงมา เอาเป็นว่าใช้สีที่ออกไปในลักษณะผสมให้ใกล้เคียงกับสีของแก่นไม้ในสมัยโบราณอย่างนี้ก็พอสมควรเพราะว่าเมื่อสมัยโน้นก็ไม่ได้กำหนดสีที่ชัดเจนเอาไว้ เอาพอสมควรก็แล้วกัน

      เมื่อได้นุ่งได้ห่มแล้วจะสีอะไรก็ตามทีเมื่อไม่ผิดพระวินัยแล้ว ก็รีบไปศึกษาพระธรรมวินัย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้เคร่งครัด จะได้เป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยมส่วนญาติโยมได้เนื้อนาบุญอย่างท่านแล้ว ก็ให้หมั่นตักบาตรกับท่านด้วย ท่านจะได้อยู่กับเรา แล้วมาเทศน์ให้พวกเราฟังต่อไปนานๆ

 ขอบคุณธรรมะจากเว็บ http://www.kalyanamitra.org/th/

แชร์