"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

ประเพณีแซนโฎนตา ประเพณีงานบุญบูชาบรรพบุรุษที่ยึดถือมายาวนานของชาวสุรินทร์ จัดอย่างยิ่งใหญ่ http://winne.ws/n25072

2.5 พัน ผู้เข้าชม

     สุรินทร์-เริ่มแล้ว งานบุญ วันสารทของชาวสุรินทร์ พื้นเมือง ดั่งเดิม เรียกว่าวันแซนโฎนตา ขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ ยิ่งใหญ่ประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษที่ยึดถือมายาวนาน ชาวสุรินทร์ ในช่วงเทศกาลงานบุญลูกหลานชาวสุรินทร์ ทำงานอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาบ้านเพื่อร่วมงานบุญประเพณี ที่ยึดถือมายาวนานและถือว่าศักดิ์สิทธิ์

"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

     เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 เวลา 17.00 น. ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้มีการจัดงานประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ (แซน-โดน-ตา)ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นการจัดงานก่อนวันจริง (คือ วันแซนโฎนตา ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 หรือวันสารทเดือน 10 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม ที่ชาวสุรินทร์จะได้พร้อมกันไหว้แซนโฏนตา)

     เนื่องจากในวันแซนโฏนตา 8 ต.ค.61 โดยส่วนใหญ่ประชาชนชาว จ.สุรินทร์ มักจะจัดงานประเพณีที่บ้านของตนเอง และกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นในวันนี้ โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์(อบจ.สุรินทร์) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและบรรพบุรุษ อีกทั้งทำให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักในอีกทางหนึ่งผ่านการจัดกิจกรรมประเพณีของท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยภายในงานมีขบวนแห่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ซึ่งหาชมที่ไหนไม่ได้ และ 1 ปี จัดมีเพียงครั้งเดียว คือขบวนแห่แซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ และขบวนแห่กระเชอโฎนตา (กระ-เชอ-โดน-ตา)และเครื่องจูนโฎนตา (จูน-โดน-ตา เครื่องเซ่นไหว้ ) อย่างยาวเหยียด ขบวนแห่เริมจากบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ไปตามถนนสายต่างๆในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ของประชาชนและสถาบันการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ มีทั้งขบวนช้าง 9 เชือก ขบวนร่ายรำศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และอื่นๆอีกมากมาย

"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

     นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ณ บริเวณพิธีอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง สำหรับกิจกรรม การจูนโฎนตา ซึ่งจะเป็นการนำเครื่องจูน หรือเครื่องเซ่นไหว้ มาส่ง หรือมาจูนหรือมอบให้ ต่อ นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์และหัวหน้าส่วนราชการและผู้อาวุโสของจังหวัดสุรินทร์

"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

     ก่อนที่ จะร่วมพิธีกรรม “การแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ” ด้วยเครื่องแซนโฎนตาที่ยิ่งใหญ่ตระการตาต่อหน้าพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง โดยมี นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธี กล่าวคำ บูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ณ บริเวณปะรำพิธีอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง

"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

     จากนั้น เวลา 18.30 น. มีกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง “ตำนานแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ”มีการแสดงประกอบด้วย 5 องก์ ดังนี้ องก์ที่ 1 สุรินทร์ถิ่นอารยธรรม องก์ที่ 2 เชียงปุม ปฐมบทพ่อเมืองสุรินทร์ องก์ที่ 3 วิถีเราชาวสุรินทร์ องก์ที่ 4 ตำนานแซนโฎนตา รำลึกบูชาบรรพบุรุษ องก์ที่ 5 พสกนิกรไทยใต้ร่มพระบารมี อีกด้วย

"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

     สำหรับประวัติความเป็นมา จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วยประชากร 3 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาติพันธุ์เขมร ชาติพันธุ์ลาว และชาติพันธุ์กวยหรือกูย ปัจจุบันทุกกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน รวมถึงมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่กันและกันมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน ส่งผลให้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มเป็นไปในลักษณะของการพยายามรักษาความเป็นตัวตน และยังปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอื่นที่เห็นว่ามีคุณค่าได้อย่างกลมกลืน เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการพัฒนาบนพื้นฐานของทุนทางวัฒนธรรม นอกจากนี้วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญและสะท้อนสายสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่อีกหนึ่งกิจกรรมคือ งานประเพณีแซนโฎนตา ประเพณีท้องถิ่นที่ได้ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและช่วยกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนในจังหวัดระหว่างเครือญาติ และช่วยให้ระลึกนึกถึงกันระหว่างคนในครอบครัวกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นอย่างอบอุ่นและแน่นแฟ้น และยังถือว่าเป็นวันรวมญาติซึ่งทุกคนจะหยุดภาระหน้าที่การงานทั้งหมดและนัดหมายไปรวมกัน ณ บ้านที่เป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว

"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

    โดยเฉพาะบ้านของผู้ที่อาวุโสที่สุดของครอบครัว พร้อมกับเตรียมอาหาร เช่น ไก่ เนื้อ หมู ปลา ข้าวสาร ข้าวสวย ผลไม้ ขนมกระยาสารท และข้าวต้มหางยาวใส่กระเชอโฎนตา รวมทั้งอาหารคาวหวานที่ร่วมกันปรุง เพื่อเตรียมเซ่นไหว้บรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีแซนโฎนตา นอกจากจะเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ยังเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษที่มีจุดมุ่งหมายให้ลูกหลานได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ และยังได้มีโอกาสได้พบปะญาติมิตรเพื่อสร้าง ปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างพี่น้องในตระกูลเดียวกัน ซึ่งก็ยังคงได้รับการปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมากระทั่งถึงปัจจุบัน เพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสแสดงความระลึกนึกถึงอดีตเจ้าเมืองและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับผ่านพิธี“แซน” ได้กราบไหว้บูชาผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะตัวแทนของประชาชนชาวสุรินทร์ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้สร้างคุณูปการด้านต่างๆ ผ่านพิธี “จูน” รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่สร้างบุญให้ชาวสุรินทร์ได้สืบต่อพระพุทธศาสนาร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง โดยสร้างสรรค์และออกแบบงานประเพณีดังกล่าวให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่รวมกลุ่มคน และยังเป็นพื้นที่ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไปพร้อมกัน อีกด้วย

"ประเพณีแซนโฎนตา" งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวสุรินทร์

ขอบคุณภาพ/ข่าว : banmuang

แชร์