"โรคโมยาโมย่า" เกิดได้น้อยแต่ไม่ควรมองข้าม

"โรคโมยาโมย่า" เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ไม่บ่อยในคนไทย เกิดได้น้อยแต่ไม่ควรมองข้าม http://winne.ws/n25862

1.9 พัน ผู้เข้าชม

     สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผย “โรคโมยาโมย่า” เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ไม่บ่อยในคนไทย หากมีอาการปวดศีรษะ ชัก หมดสติ และมีภาวะเลือดออกในสมองจะทำให้เกิดอัตราการตายสูง

"โรคโมยาโมย่า"  เกิดได้น้อยแต่ไม่ควรมองข้าม

     นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคโมยาโมย่า เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ไม่บ่อยและพบได้น้อยในคนไทย มีรายงานพบโรคนี้ในคนญี่ปุ่น โดยเกิดในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2 เท่า ช่วงอายุตั้งแต่ 6 ขวบ จนถึง 70 ปี พบมากในเด็กช่วงอายุ 10 ปีแรก 

     ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง อาจมีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ชัก หมดสติ ความจำลดลงหรือหลงลืม มีการเคลื่อนไหวแขนขาผิดปกติจากหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือเกิดจากมีเลือดออกในสมอง ถ้ามีเลือดออกในสมองจะมีอัตราการตายสูง โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเลือดที่ออก และมีโอกาสเกิดอาการของโรคซ้ำหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนหนึ่งมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

"โรคโมยาโมย่า"  เกิดได้น้อยแต่ไม่ควรมองข้าม

     แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคโมยาโมย่า เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น แปลว่ากลุ่มควัน ซึ่งจากการเอกซเรย์ฉีดสีหลอดเลือดสมองแล้วเห็นภาพเป็นเหมือนกลุ่มควัน 

     โดยสาเหตุมาจากการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดชั้นในของหลอดเลือดแดงคาโรติดส่วนปลายในสมองทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นหลอดเลือดสำคัญที่ลำเลียงเลือดเข้าไปเลี้ยงสมองมีการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดชั้นกลาง จนทำให้เกิดการตีบและอุดตันในที่สุด 


     สำหรับการรักษาโรคโมยาโมย่า มี 3 วิธีหลัก คือ 

1.การผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเนื้อสมองที่มีหลอดเลือดตีบตัน 2.การรักษาโดยใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคและต้องระวังภาวะเลือดออกในสมอง ไม่ควรรักษาด้วยยาป้องกันลิ่มเลือดแข็งตัวเพราะจะทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ และการรักษาด้วยยาต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาและการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์ 

3.การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูความพิการ 


     ทั้งนี้หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาการอ่อนแรงหรือชาอย่างเฉียบพลันที่ใบหน้า แขนหรือขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย พูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก ตาลาย มองเห็นภาพซ้อน  เดินเซ ทรงตัวลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยให้อาการลุกลาม โอกาสที่สมองจะขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมองจะมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้


ที่มา : กรมการแพทย์ 

แชร์