WHO มีหลักฐานบ่งชี้โอกาสแพร่เชื้อโควิด 19 จากละอองแขวนลอยในอากาศ

องค์การอนามัยโลกช่องทางหลักสำหรับการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ฝอยละอองที่ออกจากปากและจมูกจากการไอจามของผู้มีเชื้อ ทำให้องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเราควรรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร http://winne.ws/n27255

1.8 พัน ผู้เข้าชม
WHO มีหลักฐานบ่งชี้โอกาสแพร่เชื้อโควิด 19 จากละอองแขวนลอยในอากาศ

        แต่เมื่อต้นสัปดาห์นี้นักวิทยาศาสตร์กว่า 230 คนใน 32 ประเทศเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกทบทวนข้อมูลเรื่องการแพร่กระจายเชื้อใหม่ โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ชี้ว่าละอองแขวนลอยขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า aerosol ซึ่งสามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่า คืออาจจะนานถึง 3 ชั่วโมงได้นั้นเป็นโอกาสหรือช่องทางการแพร่เชื้อได้เช่นกัน และวันนี้องค์การอนามัยโลกก็แถลงว่ามีหลักฐานที่บ่งชี้เรื่องการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ทางไอละอองขนาดเล็กที่ว่านี้และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อตีความอยู่

         อาจารย์โดนัลด์ มิลตัน ผู้สอนวิชาสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมรี่แลนด์กล่าวกับ CNN ว่าจนถึงขณะนี้หน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ทั้งองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐไม่อยากพูดถึงโอกาสการแพร่เชื้อผ่านทาง aerosol หรือละอองที่แขวนตัวในอากาศเพราะเกรงว่าจะทำให้ผู้คนตื่นตระหนก แต่ก็เตือนว่าวัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับโรคโควิด-19 ขณะนี้คือความรู้และการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อให้ทุกคนรู้วิธีป้องกันตัวเอง

       ส่วนน.พ. วิลเลียม ชาร์ปเนอร์ผู้สอนวิชาโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์ป้องกันที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลด์เปรียบเทียบว่าฝอยละออง หรือ droplet ที่กระจายจากการไอจามหรือการสนทนาอาจทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ในระยะ 3 ถึง 6 ฟุตติดเชื้อได้ ซึ่งก็เปรียบเสมือนช่องทางหลักแบบถนนไฮเวย์ แต่ขณะเดียวกัน aerosol หรือละอองแขวนลอยที่ออกมาพร้อมกันและสามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่าก็สามารถทำให้ผู้ที่อยู่ในระยะห่างออกไปได้รับเชื้อเช่นกัน

        ถึงแม้จะเปรียบเสมือนถนนซอยที่เล็กกว่าก็ตาม และอาจารย์ลินด์ซีย์ มาร์ ผู้สอนด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคก็ให้ตัวอย่างเปรียบเทียบว่าเชื้อไวรัสซึ่งแพร่กระจายจากบุคคลนั้นเหมือนกับควันบุหรี่ คือถ้ายิ่งอยู่ใกล้โอกาสที่จะได้รับเชื้อผ่านทางฝอยละอองโดยตรงก็มีสูง แต่สำหรับผู้ที่อยู่ห่างออกไปเราก็ยังมีโอกาสสัมผัสกับละอองแขวนลอยซึ่งล่องลอยไปในอากาศและอยู่ได้เป็นเวลานานตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงถึง 3 ชั่วโมงได้เช่นกัน

           ทางด้านอาจารย์อีริน โบรเมจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีวะวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ก็ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าความชื้นในระดับ 40 ถึง 60% จะมีผลต่อความอยู่รอดและการแพร่กระจายไวรัสนี้ได้ กล่าวคือถ้าความชื้นอยู่ต่ำกว่าระดับ 40% ละอองแขวนลอย aerosol จะสามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้นและไปได้ไกลขึ้นแต่ที่ระดับความชื้นเกิน 60% ถึงแม้จะทำให้ droplet หรือละอองฝอยของไวรัสซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามีน้ำหนักมากขึ้นและตกสู่พื้นได้เร็วขึ้นก็ตาม แต่ความชื้นจะช่วยให้ไวรัสนี้มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นและมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้นเช่นกัน

         โดยสรุปก็คือถึงแม้องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐจะยังไม่เปลี่ยนคำแนะนำเรื่องแนวทางปฎิบัติตนเกี่ยวกับโควิด-19 ในขณะนี้ก็ตาม แต่การสวมหน้ากากอยู่เสมอ การรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร การหลีกเลี่ยงสถานที่ๆ มีผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งการล้างมือเป็นประจำยังเป็นข้อควรปฏิบัติอยู่ และหน้ากาก N 95 หากสามารถหาได้ก็จะช่วยป้องกันละอองแขวนลอยขนาดเล็กนี้ได้ นอกจากนั้นการใช้ไส้กรองประเภท HEPA สำหรับเครื่องกรองอากาศในบ้านและการเปิดให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทจากภายนอกก็ล้วนเป็นมาตรการป้องกันที่เราสามารถทำได้ในขณะที่โลกยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดโรคโควิด-19

ที่มา https://www.voathai.com/

แชร์