'คาเฟ่แห่งความตาย' ช่วยบรรเทาความเศร้าโศกและความสูญเสียในยุคโคโรนาไวรัส

คาเฟ่แห่งความตายนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการ "แก้ไข" ปัญหาหรือค้นหาวิธีแก้ปัญหา แต่เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันซึ่งเป็นหนทางไปสู่การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยจำนวนคนที่พบปะกันจะอยู่ที่ประมาณ 30 คน http://winne.ws/n27378

1.9 พัน ผู้เข้าชม
'คาเฟ่แห่งความตาย' ช่วยบรรเทาความเศร้าโศกและความสูญเสียในยุคโคโรนาไวรัส

“Death Café” หรือคาเฟ่แห่งความตายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมในเรื่องของการคิดบวกเกี่ยวกับความตาย โดยการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้พูดคุยกันเกี่ยวกับความเศร้าโศก อาการเจ็บป่วย และการสูญเสียกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น

       คาเฟ่ดังกล่าวเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อปีพ.ศ. 2554 และในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่นี้ ผู้คนพูดคุยกันถึงเรื่องความตายกันอย่างแพร่หลายแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกและการเว้นระยะห่างทางสังคมได้เปิดบาดแผลที่เก่าแก่และยังไม่ได้รับการเยียวยาของคนบางคน

       หลายๆ คนที่เข้าร่วมคาเฟ่แห่งความตายเสมือนจริงนี้ต่างกำลังเผชิญกับความสูญเสียที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเนื่องจากโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความตายในเชิงเปรียบเทียบ เช่นความตายคือจุดสิ้นสุดของมิตรภาพ คือความรักที่แตกสลายการ คือการสูญเสียบ้านเกิด หรือการเจ็บป่วยที่เรื้อรัง

        Marissa Oliver หญิงสาวผู้ติดเชื้อโควิด-19 อายุ 35 ปี เธอรู้สึกเสียขวัญ หายใจลำบาก ต้องนอนอยู่บนเตียงถึง 14 ชั่วโมงในเวลาที่อาการกำเริบ เธอต้องรับมือกับความหวาดกลัวที่จะต้องตายด้วยโรคนี้ แต่ถึงกระนั้นการสนทนาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย ความหวาดกลัว และความวิตกกังวลของเธอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอเข้าร่วมคาเฟ่แห่งความตายผ่าน Zoom ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนแปลกหน้าที่พร้อมจะศึกษาเกี่ยวกับความตายและผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในขณะที่จิบชาและทานเค้กไปด้วย

       Oliver ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคมกล่าวว่าในคาเฟ่แห่งนี้ไม่มีใครแสดงอาการหวาดกลัว และตอนนี้ตัวเธอเองก็เขียนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่เธอต้องการจะทำให้สำเร็จเอาไว้

        ที่คาเฟ่เสมือนจริงแห่งนี้ชายวัย 33 ปีผู้หนึ่งเล่าว่าเขาไม่ยอมเก็บข้าวของของภรรยาเป็นเวลานานถึง 6 เดือนหลังจากที่เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ส่วนผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจเมื่อ 31 ปีก่อนเล่าถึงความสงบสุขของเธอกับการตัดสินใจที่จะไม่รับการปลูกถ่ายอีกต่อไปเนื่องจากหัวใจที่เธอรับบริจาคมาได้เสื่อมสภาพลง

          สำหรับ Jen Carl จากกรุงวอชิงตัน การเกิดโรคระบาดใหญ่นำภาพความทรงจำที่เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาเป็นเวลา 11 ปีตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก พ่อของเธอติดทั้งสุราและยาเสพติดและเสียชีวิตลงเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว เธอบอกว่าการแบ่งปันและรับฟังเรื่องราวของผู้อื่นในคาเฟ่แห่งความตายช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้น เธอรู้สึกสงบและโล่งใจเมื่อได้อยู่ในแวดวงที่ผู้คนกำลังพูดถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตจริงและไม่พยายามที่จะหลีกหนีจากความอึดอัด

         Jon Underwood นักสร้างเวบไซต์ชาวอังกฤษผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เปิดคาเฟ่แห่งความตายแห่งแรกขึ้นที่กรุงลอนดอน ในปีพ.ศ. 2554 โดยได้แรงบันดาลใจมากจาก “Café Mortel” หรือคาเฟ่มรณะของ Bernard Crettaz นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่เปิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 แนวคิดดังกล่าวแพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง และการพบปะกันตามร้านอาหาร คาเฟ่ บ้าน และสวนสาธารณะก็แพร่หลายออกไปตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ยุโรป อเมริกาเหนือ ไปจนถึงออสเตรเลีย ประเทศต่างๆ ในแถบแคริบเบียน และประเทศญี่ปุ่น

        Underwood เสียชีวิตอย่างกะทันหันอันเป็นผลมาจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนในปีพ.ศ. 2560 แต่ภรรยาของเขาและญาติคนอื่นๆ ยังคงดูแลเวบไซต์ Deathcafe.com ที่บรรดาผู้จัดจะมาโพสต์ข้อความเชิญชวนให้มารวมตัวกันอยู่ต่อไป

        อย่างไรก็ตาม “Death Café” หรือคาเฟ่แห่งความตายนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการ "แก้ไข" ปัญหาหรือค้นหาวิธีแก้ปัญหา แต่เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันซึ่งเป็นหนทางไปสู่การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยจำนวนคนที่พบปะกันจะอยู่ที่ประมาณ 30 คนและพบปะกันเดือนละครั้ง ซึ่งคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสูญเสียแต่เลือกที่จะพูดคุยในเรื่องนี้ก็สามารถเข้าร่วมการพบปะประจำเดือนได้เช่นเดียวกัน

         Nancy Gershman นักจิตอายุรเวทผู้เชี่ยวชาญด้านความเศร้าโศกและการสูญเสียกล่าวว่าคาเฟ่แห่งความตายเป็นสถานที่ๆ คนแปลกหน้าพบปะกันเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย ซึ่งไม่สามารถนำพาไปได้ทุกที่ ไม่สามารถนำกลับไปพูดคุยที่บ้าน กับเพื่อนร่วมงาน หรือกับเพื่อนสนิทได้

ที่มา 

https://www.voathai.com/

แชร์