ร.ร.ขนาดเล็กบ้านทุ่งโป่ง ฝ่านโยบายยุบร่วม! พิสูจน์ศักยภาพ "บวร" คณะสงฆ์ปานลำปาง

“กิจกรรมการเรียนรู้” ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ มีกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนที่นักเรียนสามารถเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต และในขณะเรียนรู้ไปก็สามารถสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครอบครัวไปพร้อมกันด้วย http://winne.ws/n27491

1.4 พัน ผู้เข้าชม
ร.ร.ขนาดเล็กบ้านทุ่งโป่ง ฝ่านโยบายยุบร่วม! พิสูจน์ศักยภาพ "บวร" คณะสงฆ์ปานลำปาง

         วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เพจ  Phramaha Boonchuay Doojai  ได้โพตส์ข้อความว่า โรงเรียนขนาดเล็ก: “ยุบ” ย่อมง่ายกว่า “พัฒนา” (2)

       กรณี “โรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง” พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเสนอให้มีการทบทวนนโยบายการ “ยุบ-รวม” โดยการนำของพระครูโสภณพัฒนวิกรม รองเจ้าคณะอำเภอเมืองปาน รับเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก อำเภอเมืองปาน มีพระมหาสมชาติ ชาตปญฺโญ เป็นเลขานุการ โดยมีทุนก้อนแรกในการดำเนินการจากเงินบริจาคในงานอุปสมบท ราว 100,000 บาท เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นเป็นค่าใช้จ่ายครูอัตราจ้าง ซึ่งก็คงสามารถช่วยได้เป็นเบื้องต้นเท่านั้น
“โรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง” จะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ จึงเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง “ท้าทาย” บรรดาผู้ซึ่งมีความเชื่อในแนวทาง “การพัฒนา” มากกว่าแนวทาง “การยุบ-รวม”

         กิจกรรม “ก้าวแรกธรรมยาตราและเสวนาเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก” ซึ่งร่วมจัดโดย เครือข่ายพระนักพัฒนาชมชนภาคเหนือ (คพชน.) สถาบันธรรมาภิวัฒน์ มูลนิธิโพธิยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตนอกที่ตั้งจังหวัดลำปาง นับเป็นกิจกรรมเริ่มต้นที่มีพลังไม่น้อย เช่น

          “สานสัมพันธ์ภาคีเครือข่าย” ทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน กลายเป็นเครือข่ายทั้ง โรงเรียน กลุ่มองค์กร ชมรม ผู้นำ ผู้ปกครอง นักเรียน พระสงฆ์ สถาบันอุดมศึกษา สถาบันศาสนา และอื่น ๆ อีกมากมาย

           “การทบทวน ‘ทุน’ ในชุมชน” ทั้ง >ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม >สถานที่ที่มีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่ สนามเด็กเล่น สนามฟุตบอล ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชนได้ >บุคลากร ทั้งผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง พระสงฆ์ ที่พร้อมรวมพลังในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน จะมีปัญหาก็เฉพาะครูที่เหลือเพียงหนึ่งอัตราเท่านั้น >ภูมิปัญญาการทำเกษตรกรรม ทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติ จักสาน ที่ควรได้รับการสืบทอด >ประเพณีวัฒนธรรม ที่เกี่ยวพันกับวัดวาพระศาสนา

             “จุดประกาย ‘เป้าหมาย’ การพัฒนาการศึกษา” โดยพุ่งเป้าไปที่การพัฒนา “คุณภาพของเด็กและเยาวชน” ในชุมชนเป็นสำคัญ จากการมุ่งที่ “ความรู้” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความรู้จากภายนอกชุมชน มาสู่ที่เกี่ยวกับ “ชีวิตและชุมชน” โดยมี “ชุมชน” ทำหน้าที “Co-learning Space” ด้วยการพัฒนา “หลักสูตรสมรรถนะ” ที่เรียกได้ว่าการเรียนรู้ “เรื่องของชุมชน” โดย “คนในชุมชน”ครู

          “คณะกรรมการสถานศึกษา” เป็นคณะบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยให้โรงเรียนยังคงดำรงอยู่ หรือ ถูกยุบ-รวม หากคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เข้ามาเพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบ กรณี “โรงเรียนบ้านสามขา” อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ที่มีร้อยตรีชัย วงศ์ตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษา น่าจะเป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้ยิ่ง เพราะสามารถทำโรงเรียนที่มีนักเรียนเหลือเพียงยี่สิบกว่าคน จนบัดนี้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นกว่าเก้าสิบคน

          “ครูและบุคลากรทางการศึกษา” ที่ปัจจุบันถูกจำกัดลงภายใต้นโยบายยุบ-รวม โดยหากมีผู้บริหารหรือครูเกษียณอายุราชการไป ก็จะไม่อนุมัติอัตรากลับคืนมา จำเป็นต้องจ้างครูอัตราจ้างโดยชุมชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอาเอง ชุมชนจำต้องดิ้นรนขวนขวายระดมทุนกันตามยถากรรม นอกจากนี้แล้ว ยังมีแนวทางที่น่าสนใจที่ทำได้ผลมาแล้วที่ “โรงเรียนบ้านสามขา” อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง คือ การพัฒนา “ครูบุญธรรม” ขึ้นในชุมชน ให้เด็กนักเรียนไปเรียนรู้สาระเฉพาะด้านจากผู้รู้ในชุมชน ในฐานะใหม่ คือ “ครูบุญธรรม” ที่นอกจากจะสอนหนังสือเด็กแล้ว ยังต้องเลี้ยงอาหารมื้อเย็นแก่เด็ก รวมถึงไปส่งเด็กกลับบ้านด้วย เป็นดั่ง “พ่อ-แม่บุญธรรม” นั่นเอง

           “การยุบ-รวมห้องเรียน” ก็เป็นอีกแนวทางที่สำคัญ ในภาวะที่โรงเรียนขาดแคลนครู โดยอาจให้นักเรียนช่วงชั้นเดียวกันเรียนห้องเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เหลือห้องเรียนเพียง 3 ห้องเป็นอย่างมาก คือ ห้องอนุบาล ห้องช่วงชั้นที่หนึ่ง และห้องช่วงชั้นที่สอง ซึ่งคุณครูประจำการจะต้องทำงานหนักมากขึ้นอีกนิด แต่หากชุมชนมีระบบ “ครูบุญธรรม” เข้ามาเสริมอีกชั้นหนึ่ง ก็จะสามารถนำพาโรงเรียนข้ามพ้นวิกฤตไปได้

          “กองทุนพัฒนาโรงเรียน” ที่เป็นเงินออม ไม่นำมาใช้จ่าย แต่ปล่อยให้สมาชิกในชุมชนกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก แล้วนำรายได้ดอกเบี้ยมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างครูอัตราจ้าง และใช้จ่ายยามจำเป็น หากกองทุนมีเงินเพิ่มขึ้นก็จะสามารถหารายได้ได้มากยิ่งขึ้น

          “กิจกรรมการเรียนรู้” ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ มีกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนที่นักเรียนสามารถเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต และในขณะเรียนรู้ไปก็สามารถสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครอบครัวไปพร้อมกันด้วย เช่น การเลี้ยงไก่ การทำเกษตร การทำปุ๋ยอินทรีย์จากใบไม้ การทำถ่านชาโคล เป็นต้น

          “การขอรับการช่วยเหลือ” จากหน่วยงาน องค์กร ภาคีต่าง ๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาคราชการส่วนกลางและท้องถิ่น ภาคการศาสนา ภาคประชาสัมคม เช่น วัสดุอุปกรณ์ พาหนะ และอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้เห็นความขาดแคลนที่ชัดเจน

            ก้าวแรกผ่านไป พระมหาสุชาติ ชาตปญฺโญ และคณะ จะสืบสานด้วยก้าวที่สอง ก้าวที่สาม ก้าวที่สี่ ก้าวที่ห้า ... ด้วยกิจกรรมการเดิน “ธรรมยาตราเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก” จากโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ผ่านเส้นทางลงใต้สู่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฏร์ธานี สถานที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งบ่มเพาะชีวิตวิถีธรรมและเรียนรู้แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อ “ต่อหางสุนัข” ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ รวมถึงเรียนรู้การปรับตัวของโรงเรียนขนาดเล็กตลอดเส้นทาง แล้วนำกลับมาเป็นต้นทุนในการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง ต่อไป

            พร้อมกันนี้ ก็เปิดรับบริจาคจากผู้ใจบุญตลอดเส้นทางธรรมยาตรา เปิดโอกาสให้ร่วมสมทบกองทุนพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก อำเภอเมืองปาน ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาสามารถสมทบทุนได้ที่บัญชี “โครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กอำเภอเมืองปาน” ธนาคารกรุงไทย สาขาประตูชัย จังหวัดลำปาง เลขที่บัญชี 536-3-03425-5 ครับ

           “ผมไม่อยากให้โรงเรียนถูกยุบ เพราะผมรักโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง” > เด็กชายธนดล มาลาศรี ตัวแทนนักเรียนชาย

             “หนูรักโรงเรียน โรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน ไม่อยากไปเรียนไกล ๆ จึงไม่อยากให้ยุบโรงเรียนของหนู” > เด็กหญิงธนัชชา ยอดมานะ

ที่มา https://www.banmuang.co.th/

แชร์