แนะนำ วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้า ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างถูกวิธี

สถาบันโรคผิวหนัง แนะ ให้หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำมากๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูท เมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอและทาครีมบำรุงผิว http://winne.ws/n28206

587 ผู้เข้าชม
แนะนำ วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้า ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างถูกวิธี

        แนะนำ วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้า ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างถูกวิธี


        นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากการระคายเคือง มีลักษณะโรคหลายชนิด ทั้งการอักเสบ ระคายเคืองและติดเชื้อ  ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาความถี่ที่โดนน้ำ ผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ เซลล์ผิวหนังจะอุ้มน้ำบวมและเปื่อยฉีกขาดได้  โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสี  เช่น ง่ามนิ้วเท้า พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคคือบริเวณที่มีน้ำขัง 

        อาการของโรคแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ช่วง 1-3 วันแรก ผิวหนังเปื่อยเมื่อแช่น้ำ   ผิวหนังแดงคัน แสบ ผิวหนังระคายเคืองและลอกบางๆ ระยะที่ 2 ช่วง 3-10 วัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย  ติดเชื้อรา ผิวหนังจะเปื่อยมีรอยฉีกขาด มีอาการแดง บวม ปวดเจ็บ มีหนอง หรือน้ำเหลืองซึม เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่มากกว่าเชื้อรา ช่วงที่ 3 ช่วง 10-20 วัน ถ้าแช่น้ำต่อเนื่อง ผิวหนังแดง คันมีขุยขาว เปียก เหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาว เป็นขุย หรือลอกบางเป็นสีแดง ผื่นเปียกเหม็น เป็นการติดเชื้อรา

        ด้านแพทย์หญิงมิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง  กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยน้ำกัดเท้าคือ หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำมากๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูท เมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่  เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอและทาครีมบำรุงผิว  ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์ ถ้ามีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนองเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์ ถ้าเท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่อง หรือนิ้วเท้าเกยหรือชิดกันมากอาจติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาว  ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค  เช่น เบตาดีน ระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจเกิดบาดแผลเป็นทางเข้าของเชื้อโรค ควรทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้าของเล็บทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้งถ้าอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม ระวังน้ำปนเปื้อนสารเคมี หากเท้ามีความผิดปกติควรรีบพบแพทย์  



ขอบคุณภาพและข้อมูลข่าว  :  สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

แชร์