อย่าบอกให้เราสู้ ๆ... "โรคซึมเศร้า" ขอแค่เข้าใจและไม่ซ้ำเติมกันก็พอ

ทางที่ดีคือการอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจหรือชี้แนะข้อดีให้ผู้ป่วยเห็นข้อดีในตัวเอง หรือสิ่งที่ผู้ป่วยทำได้ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง http://winne.ws/n28616

454 ผู้เข้าชม
อย่าบอกให้เราสู้ ๆ... "โรคซึมเศร้า" ขอแค่เข้าใจและไม่ซ้ำเติมกันก็พอ

       โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่าง ๆ รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไร ๆ อีกแล้ว แต่ขอให้มั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้น

ในขณะที่คุณกำลังซึมเศร้าอยู่นั้น มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

      1. แค่ “เศร้า” ไม่ได้แปลว่า “อ่อนแอ” การที่เราป่วยเป็น “โรค” ไม่ได้แปลว่าเรา “อ่อนแอ” เพราะใคร ๆ ก็ป่วยได้ เราจึงไม่ควรโทษหรือตำหนิตัวเองที่เราซึมเศร้า เพราะจะยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่ลง และหมดกำลังใจในการรักษา เพราะวงการแพทย์ค้นพบแล้วว่าโรคซึมเศร้า รักษาได้อย่างแน่นอน

      2. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้

      3. ทำกิจกรรมที่ชอบ เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่น ไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว

     4. ตั้งเป้าหมายไม่ยากเกินอย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง

      5. ดูแลตัวเองให้ดี กินให้พอ นอนให้พอ เพราะคนซึมเศร้ามักกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำให้สภาพร่างกายอ่อนเพลีย และอารมณ์จะแย่ตาม แต่ระวังอย่ากินหรือนอนมากไป เพราะอาจทำให้อารมณ์แย่ลงได้เช่นเดียวกัน

     สำหรับผู้ที่ต้องอยู่เคียงข้างหรือดูแลผู้ป่วย การพยายามทำความเข้าใจ จะเป็นผลดีกว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดและสภาวะอารมณ์ของผู้ป่วย การบอกให้ผู้ป่วยสู้ ๆ หรือให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดีนั้น ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น แต่กลับยิ่งซ้ำเติมให้ผู้ป่วยท้อแท้

      ทางที่ดีคือการอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจหรือชี้แนะข้อดีให้ผู้ป่วยเห็นข้อดีในตัวเอง หรือสิ่งที่ผู้ป่วยทำได้ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง


ที่มา www.chiangmainews.co.th

แชร์