พบคัมภีร์ใบลานตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรี

พบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่สมัยอยุธยา อักษรธรรมล้านนา และคัมภีร์ตำนานรอยพระพุทธบาทเป็นอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยเหนือ บ่งบอกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานตามวัดต่างๆใน จ.สระบุรี http://winne.ws/n3320

2.5 พัน ผู้เข้าชม
พบคัมภีร์ใบลานตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรี

นายพิบูลย์ ชุมพลไพศาล อาจารย์ประจำวิชาพุทธศาสนาเถรวาท มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ในฐานะเลขานุการสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้นายบุญเลิศ เสนานนท์ อดีตหัวหน้ากลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาตินายกสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณพร้อมคณะ จะลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ดเพื่อดูงานของสถาบันศิลปและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ซึ่งได้สำรวจเอกสารโบราณในพื้นที่ภาคอีสาน และทำบัญชีรายชื่อไว้หลายแสนผูก ขณะเดียวกันจะลงพื้นที่วัดที่กรมศิลปากรเคยสำรวจเอกสารโบราณไว้แล้ว เพื่อศึกษาฐานข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเอกสารโบราณ ทั้งนี้เอกสารโบราณที่พบในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นคัมภีร์ใบลาน จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลีไทย และมีบางส่วนผสมภาษาท้องถิ่นของอีสานหรือภาษาลาวปะปนอยู่ ส่วนเนื้อหาที่จารึกในคัมภีร์ใบลานส่วนมากเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นพระไตรปิฏก บทสวดมนต์ และตำรายา

นายบุญเลิศกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงพื้นที่สำรวจเอกสารโบราณของวัดใน จ.สระบุรี และจ.นครสวรรค์ โดยสมัยที่เป็นเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เคยสำรวจคัมภีร์ใบลานที่วัดท่าช้างเหนือจ.สระบุรี และได้ลงทะเบียนไว้แล้ว พบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่สมัยอยุธยา คือคัมภีร์พระปาฏิโมกข์ อักษรธรรมล้านนา หรืออักษรไทยวน ภาษาบาลีข้อความที่จารไว้ตอนท้ายเรื่องเป็นจุลศักราช 1002 ตรงกับ พ.ศ.2183 สันนิษฐานว่าวัดท่าช้างเหนือมีตั้งแต่สมัยอยุธยา นอกจากนี้ ยังพบคัมภีร์ตำนานรอยพระพุทธบาทเป็นอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยเหนือ บ่งบอกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานตามวัดต่างๆใน จ.สระบุรี และสอดคล้องกับรอยพระพุทธบาทจำลองที่ประดิษฐานอยู่ที่พระมณฑปในวัดท่าช้างเหนือด้วย อย่างไรก็ตาม คัมภีร์เหล่านั้นถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของวัด แต่ยังไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวในคัมภีร์ใบลานมาก่อน

“ส่วนการลงพื้นที่ ตามวัดสำคัญใน จ.นครสวรรค์ พบคัมภีร์ใบลานพอสมควรเตรียมจัดทำบัญชีรายชื่อ และถ่ายภาพเก็บไว้ โดยในวัดเขาแก้วซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมากพบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ที่จารึกด้วยอักษรขอมภาษาบาลีไทย ที่จารไว้เมื่อ พ.ศ.2158มีอายุกว่า 401 ปี อยู่ในสมัยพระเจ้าปราสาททองนอกจากนี้ ยังพบคัมภีร์ใบลานที่จารึกเรื่องอื่นๆ กว่า 7,000 ผูกสมาคมฯ จึงได้สำรวจ และทำบัญชีรายชื่อไว้หมดแล้ว อยู่ในขั้นตอนถ่ายภาพเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้สืบค้นทางออนไลน์”นายบุญเลิศ กล่าว

ที่มา: มติชน / 10 พ.ค. 2559

แชร์