มารู้จักโคเลสเตอรอลกันเถอะ

คุณก้สามารถคำนวนไขมันLDL และ โคเลสเตอรอลด้วยตัวคุณเองได้ เพียงทำตามสูตรนี้(สมการ) และวิธีการกำจัดโคเลสเตอรอล http://winne.ws/n8570

1.6 พัน ผู้เข้าชม

เมื่อพูดถึงโคเลสเตอรอล(cholesterol) ผู้อ่านหลายท่านมักจะนึกถึงสารประเภทไขมันนี้ในแง่ของการเป็นผู้ร้ายที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยแต่ในความเป็นจริงโคเลสเตอรอล  เป็นสารประเภทไขมันที่พบได้ในทุกเซลล์ของร่างกายและเป็นสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์ฮอร์โมนวิตามิน D หรือสารช่วยย่อยอาหารเช่น น้ำดี เป็นต้น ซึ่งบทบาทของโคเลสเตอรอลดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อกระบวนการทำงานของร่างกายและการดำรงชีวิตของมนุษย์ดังนั้นการมีโคเลสเตอรอลในร่างกายจึงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป

 เพียงแต่หากร่างกายมีระดับโคเลสเตอรอลที่สูงเกินไปโดยเฉพาะระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจะทำให้เกิดการสะสมของโคเลสเตอรอลที่หลอดเลือดต่างๆเช่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือสมอง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตามแขน-ขา เป็นต้นและเมื่อมีการสะสมของโคเลสเตอรอลมากขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นตะกรันไขมันที่ผนังหลอดเลือด (atherosclerotic plaque) ดังรูปที่ 1 ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดเหล่านั้นเกิดการตีบแคบหรืออุดตันและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดได้

มารู้จักโคเลสเตอรอลกันเถอะpharmacy.mahidol.ac.th

ชนิดของโคเลสเตอรอลและสารประเภทไขมันที่สำคัญในร่างกายมนุษย์มีอะไรบ้าง?

 โคเลสเตอรอลเป็นสารที่ไม่ละลายในน้ำเลือดดังนั้นการไหลเวียนของโคเลสเตอรอลไปยังอวัยวะหรือส่วนต่างๆของร่างกายจำเป็นต้องอาศัยสารชื่อ “ไลโพโปรตีน” (lipoprotein) ซึ่ง lipoprotein ในร่างกายมีอย่างน้อย 6 ชนิดขึ้นกับขนาด ลักษณะและหน้าที่ในการขนส่งสารประเภทไขมัน แต่ชนิดที่ควรทราบได้แก่

Low-density lipoprotein (LDL) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการขนส่งโคเลสเตอรอลและสารประเภทไขมันอื่นๆในร่างกาย การมีระดับ LDL ในเลือดที่สูงแสดงให้เห็นถึงการมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดที่สูงและสัมพันธ์กับการเกิดโรคที่คุ้นหูกันดีได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheralarterial disease) ดังนั้น LDL ในบางครั้งจึงถูกเรียกว่าเป็น “ไขมันชนิดเลว"

High-density lipoprotein (HDL) มีหน้าที่ในการขนส่งโคเลสเตอรอลจากกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆกลับไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกายทำให้ปริมาณโคเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดลง ด้วยเหตุนี้เอง HDLจึงมักได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไขมันชนิดดี”นอกจากนี้ข้อมูลจากการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าหากร่างกายมีระดับ HDL ที่ต่ำจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน 

นอกจาก LDL และ HDL cholesterol แล้ว ในร่างกายยังมีสารประเภทไขมันอีกหนึ่งชนิดเรียกว่า “ไตรกลีเซอไรด์”(triglycerideซึ่งร่างกายมนุษย์ใช้เป็นแหล่งพลังงานและเป็นหนึ่งในรูปแบบการเก็บสะสมไขมันส่วนเกินจากอาหารที่รับประทานเข้าไปการมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดเช่นเดียวกับการมีระดับLDL cholesterol ที่สูง

-ระดับโคเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกาย(total cholesterol หรือ TC) เป็นผลรวมของปริมาณ LDL, HDL และ ไตรกลีเซอไรด์”  ซึ่งแสดงเป็นสูตรได้ดังนี้

มารู้จักโคเลสเตอรอลกันเถอะpharmacy.mahidol.ac.th

ดังนั้นหากผู้อ่านทราบค่าtotal cholesterol, HDL และ ไตรกลีเซอไรด์ก็สามารถคำนวณค่า LDL ได้ด้วยตนเอง    เช่น  สมมุติท่านมีระดับ total cholesterol เท่ากับ225 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL)ระดับ HDL เท่ากับ 55 mg/dL และระดับ ไตรกลีเซอไรด์ เท่ากับ 140 mg/dL เมื่อคำนวณโดยใช้สูตรข้างต้นจะพบว่าท่านมีระดับLDL เท่ากับ 142 mg/dL เป็นต้น

 จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการมีระดับLDL cholesterol หรือไตรกลีเซอไรด์ที่สูง และการมีระดับ HDL cholesterol ที่ต่ำมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดดังนั้นจึงเป็นที่มาของความพยายามในการลดระดับสารประเภทไขมันข้างต้นเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าว 

การลดระดับโคเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอร์ไรด์เป้าหมายโดยทั่วไปเป็นอย่างไร?

ตามปกติแหล่งที่มาของโคเลสเตอรอลในร่างกายมาจากการสังเคราะห์ในร่างกายที่ตับและอาหารที่รับประทานเข้าไปดังนั้นหากต้องการลดระดับโคเลสเตรอลในเลือดมักทำได้โดยวิธีการ เช่น

1.การควบคุมอาหารโดยเลี่ยงหรือจำกัดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

2.การเพิ่มการเผาผลาญและการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย

3.การใช้ยาเพื่อลดการดูดซึมโคเลสเตรอลจากอาหารหรือยาที่เพิ่มการขนส่งโคเลสเตอรอลหรือไตรกรีเซอไรด์ออกจากกระแสเลือด เป็นต้น

การลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดหรือการรักษาภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมักจะมีการตั้งระดับโคเลสเตอรอลเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไปตามความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดของแต่ละบุคคลนอกจากนี้ชนิดของโคเลสเตอรอลที่เป็นเป้าหมายหลักยังอาจมีความแตกต่างกันไปตามประเภทยาลดระดับไขมันในเลือดที่ใช้เช่น หากมีการใช้ยากลุ่ม statin (สะ-แต-ติน)เช่น simvastatin atorvastatin rosuvastatin pitavastatin หรือ pravastatin และยากลุ่มยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลเช่น ezetimibe มักจะมีการใช้ LDLcholesterol เป็นเป้าหมายหลักของการรักษาแต่หากมีการใช้ยาในกลุ่ม fibrates (ไฟ-เบรด)เช่น fenofibrate หรือ gemfibrozilระดับไตรกลีเซอไรด์มักจะถูกใช้เป็นเป้าหมายของการรักษาเป็นต้น แต่อย่างไรก็ดียังมีการใช้โคเลสเตอรอลชนิดอื่นๆเป็นเป้าหมายในการรักษาร่วมด้วยได้เช่นกัน ดังนั้นหากผู้อ่านเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการรักษาภาวะโคเลสเตรอลในเลือดสูงควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับเป้าหมายของการลดระดับโคเลสเตอรอลในครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง 

สำหรับการตรวจระดับโคเลสเตอรอลในเลือดมักจะทำภายหลังการงดรับประทานอาหารอย่างน้อย12 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดความถูกต้องของการวัดระดับสารประเภทไขมันเหล่านี้ โดยเฉพาะระดับไตรกลีเซอไรด์

ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความจำเป็นในการลดระดับเมื่อไหร่?

การคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาหรือลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดเนื่องจากหากมีการตรวจพบได้เร็วจะเป็นการช่วยให้การเริ่มการรักษามีความเหมาะสมซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดได้มากแต่ปัญหาที่มักพบคือการละเลยไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างเหมาะสม

จากแนวทางการในดูแลผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงในปัจจุบันมีคำแนะนำเกี่ยวกับผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองได้แก่

ผู้ชาย อายุ >35 ปี

ผู้ชาย อายุ 20– 35 ปีที่มีโรคหัวใจหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

ความดันโลหิตสูง

คนในครอบครัวหรือเครือญาติลำดับติดกันเป็นโรคหัวใจมาก่อน

ผู้ชายเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี

ผู้หญิงเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี

มีประวัติหลอดเลือดแข็ง(atherosclerosis)

สูบบุหรี่

เป็นโรคเบาหวาน

มีภาวะน้ำหนักเกิน (overweight)หรือภาวะอ้วน (obesity)

ไม่ออกกำลังกาย

ผู้หญิง อายุ ?20 ปีที่มีโรคหัวใจหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

นอกจากนี้ในกรณีที่ยังไม่เคยเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดมาก่อนการตรวจคัดกรองควรทำซ้ำทุกๆ5 ปีแต่อย่างไรก็ดีความถี่ในการตรวจคัดกรองซ้ำอาจมีความถี่มากกว่านี้ได้ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ที่พิจารณาความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

สรุป  โคเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย แต่การมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดที่สูงสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสมอง และหลอดเลือดแดงส่วนปลายเป้าหมายของการลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดและชนิดของโคเลสเตอรอลเป้าหมายนั้นขึ้นกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดของแต่ละบุคคลการตรวจคัดกรองผู้ที่อาจมีภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงจะช่วยให้เกิดการดูแลตนเองที่เหมาะสมและทันท่วงทีเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด

ขอบคุณผู้ค้นคว้าและเรียบเรียง อาจารย์ ดร.ภก. ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์  ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

 ที่มา http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/349/ไขมันในเลือดสูง/

เอกสารอ้างอิง

Tulenko TN, Sumner AE. The physiology of lipoproteins. JNucl Cardiol 2002;9(6):638-49.

Helfand M, Carson S. Screening for Lipid Disorders inAdults: Selective Update of 2001 US Preventive Services Task Force Review.Agency for Healthcare Research and Quality; Rockland, MD 2008.

Catapano AL, Graham I, De Backer G, Wiklund O, Chapman MJ,Drexel H, et al. 2016 ESC/EAS Guidelines for the Management of Dyslipidaemias:The Task Force for the Management of Dyslipidaemias of the European Society ofCardiology (ESC) and European Atherosclerosis Society (EAS) Developed with thespecial contribution of the European Assocciation for Cardiovascular Prevention& Rehabilitation (EACPR). Eur Heart J 2016; pii: ehw272.

แชร์