สิทธิมนุษยชนกับศาสนาในสังคมไทย ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ มนุษย์เกิดมามีอิสระเสรี พึงปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง

โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : สิทธิมนุษยชน มีบัญญัติ ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี และเท่าเทียมกัน" http://winne.ws/n10808

1.6 พัน ผู้เข้าชม
สิทธิมนุษยชนกับศาสนาในสังคมไทย ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ มนุษย์เกิดมามีอิสระเสรี พึงปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้องแหล่งภาพจาก ศาสนวิทยา

สิทธิมนุษยชนกับศาสนาและสังคมไทย

        เนื่องจากคำว่า "สิทธิมนุษยชน" เป็นคำใหม่ จึงไม่ปรากฏอยู่ในภาษา ของหลักธรรมในศาสนาต่าง ๆ แต่

        ความหมายอันลึกซึ้งของสิทธิมนุษยชน มีอยู่ในทุกศาสนา ซึ่งเห็นว่าชีวิตมนุษย์มีคุณค่า ดังนั้น จึงมีบัญญัติ ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ ถือว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะต่างก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจกฎธรรมชาติเดียวกัน ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม 

       นอกจากนั้น ในทัศนะของพระพุทธศาสนา มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมสูงสุด อันเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน และมีผลทำให้เข้าถึงชีวิตที่มีอิสรภาพและมีความสุข ด้วยเหตุนี้ จะเอาวรรณะที่ต่างกัน มาเป็นเครื่องจำกัดศักยภาพมิได้ เพราะวรรณะทุกวรรณะต่างเสมอกันโดยกรรม คือ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว 

ข้อความส่วนหนึ่งจากร่างพระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘)

        นอกจากพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาอิสลาม คริสต์ศาสนา ก็มีหลักธรรมเรื่องคุณค่าของชีวิตมนุษย์ และศักยภาพในการพัฒนาตนเอง จนบรรลุถึงธรรมอันสูงสุด การมีอิสรภาพ และการมีความสุข ซึ่งปรากฏอยู่ในศาสนาต่าง ๆ แท้จริงแล้ว เป็นรากฐานของแนวคิด ด้านสิทธิมนุษยชน ที่เน้นถึงสิทธิของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเท่าเทียมกันมาแต่กำเนิด 

สิทธิมนุษยชนกับศาสนาในสังคมไทย ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ มนุษย์เกิดมามีอิสระเสรี พึงปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง

ดังปรากฏในข้อ ๑ ของปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี และเท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนต่างได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผล และมโนธรรม และพึงปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง" ดังนั้น "สิทธิมนุษยชน" จึงมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในศาสนา วัฒนธรรม และสังคมไทย มาเป็นเวลานานแล้ว และมีก่อนการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชนด้วย 

       การเลิกทาสในประเทศไทย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ยืนยันถึงคุณค่าที่เท่าเทียมกันของชีวิตทุกชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน 

        ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๔ ที่ประกาศว่า "บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใด ๆ มิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ในทุกรูปแบบ"

สิทธิมนุษยชนกับศาสนาในสังคมไทย ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ มนุษย์เกิดมามีอิสระเสรี พึงปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง

การบังคับใช้กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

        หลังจากที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ในระดับนานาชาติอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ก็ได้มีการแปลเจตนา และขยายข้อความ ของหลักการของปฏิญญาสากลฯ ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยการร่างเป็นกติการะหว่างประเทศ ที่มีผลบังคับทางกฎหมายขึ้น ๒ ฉบับ คือ 

       1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) และ 

        2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights)โดยสหประชาชาติได้มีมติรับรอง กติการะหว่างประเทศ ทั้ง ๒ ฉบับ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ และเมื่อกติการะหว่างประเทศทั้ง ๒ ฉบับ มีผลบังคับใช้ ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ประเทศต่าง ๆ ได้เข้าเป็นภาคีจนถึงปัจจุบันนับได้ ๑๓๔ ประเทศ สำหรับในกรณีของประเทศไทย ได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศทั้ง ๒ ฉบับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ และ พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามลำดับ 

ประเทศไทยไม่กีดกันการเผยแผ่คำสอนของศาสนาอื่น ๆ ทั้งยังให้คนไทยมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา

       นอกจากกติการะหว่างประเทศ ๒ ฉบับ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังมีอนุสัญญา (Convention) ที่เกี่ยวกับรายละเอียดของสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีผลบังคับ ให้ประเทศภาคีของอนุสัญญาต้องปฏิบัติ เช่น 

        - อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) 

        - อนุสัญญาว่าด้วย การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women) และ

        - อนุสัญญาว่าด้วย การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) 

สิทธิมนุษยชนกับศาสนาในสังคมไทย ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ มนุษย์เกิดมามีอิสระเสรี พึงปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้องแหล่งภาพจาก วัดพระธรรมกาย

 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) หลังจากที่สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรอง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ 

         จุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ คือ เด็กเป็นผู้ที่จะต้องได้รับการดูแลและปกป้อง ทั้งยังเน้นถึงความสำคัญของชีวิต และครอบครัวของเด็กด้วย 

       ส่วนอนุสัญญาว่าด้วย การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) และมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ จุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้คือ ความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง และเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกปฏิบัติในรูปแบบของการบังคับให้แต่งงาน ความรุนแรงในครอบครัว โอกาสในการศึกษา การดูแลด้านสาธารณสุข ตลอดจนการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

อ้างอิงข้อมูลจาก : 

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาท                                                สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว                               

แชร์