พระราชพิธีสำคัญความหมายตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของ “ในหลวง” รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์

พระราชพิธีสำคัญ และความหมายตราสัญลักษณ์ต่างๆ ของ “ในหลวง” รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ http://winne.ws/n9445

8.6 พัน ผู้เข้าชม

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงเป็นพระมิ่งขวัญและศูนย์รวมความรักความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ ภายหลังจากที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 แล้ว ในสมัยรัชกาลของพระองค์มีพระราชพิธีสำคัญที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยสังเขปตามลำดับ ดังนี้

พระราชพิธีรัชดาภิเษก

          พุทธศักราช 2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 25 ปี 9 มิถุนายน 2514 รัฐบาลและปวงชนชาวไทย จึงพร้อมใจกันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานเฉลิมฉลองในมหามงคลสมัยนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาติบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาบรรจบครบ 25 ปี ในการนี้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 8 – 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2514 โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี

           ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีรัชดาภิเษก ๙ มิถุนายน ๒๕๑๔ มีลักษณะเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้ามีรัศมีแผ่โดยรอบตั้งอยู่บนวิมานเมฆ ระหว่างพระมหามงกุฎและพานมีตราอุณาโลมหรือเลข ๙ อันหมายถึง รัชกาลที่ ๙ ข้างพานมีราชสีห์และคชสีห์ค้ำจุนขนาบเศวตฉัตรซ้ายขวา ด้านล่างมีอักษร “รัชดาภิเษก ๙ มิถุนายน ๒๕๑๔ ที่ระลึกพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี”

พระราชพิธีสำคัญความหมายตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของ “ในหลวง” รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์

 

พระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ

           สืบเนื่องจากวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เจริญพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา และเป็นปีที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ สำนักพระราชวัง ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงกราบทูลกำหนดจัดงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองตามแบบครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบหมื่นวัน เมื่อพุทธศักราช 2438 ซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญพระกุศลเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นพระราชประเพณีสืบไปภายหน้า โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติ สมโภชพระราชลัญจกร สถาปนาพระอริยศักดิ์พระราชวงศ์ สถาปนาสมณศักดิ์พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

          โดยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาและพระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษโดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

       

พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

        พุทธศักราช 2531 นับเป็นมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี 22 วัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 ซึ่งเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเจ้า และนับจากวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 เป็นต้นไป ถือว่าพระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมฉลอง รวม 3วัน คือ วันที่ 2, 3 และวันที่ 5กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมงานพระราชกุศลรัชมังคลกับพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเป็นงานเดียวกัน เรียกว่า พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

           ตราสัญลักษณ์ งานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ออกแบบโดย นายสุนทร วิไล นายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) ประกอบด้วย พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ประดิษฐานอยู่กึ่งกลาง และมี เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี และฉลองพระบาทเชิงงอน ประกอบอยู่โดยรอบ พร้อมฉัตร ๗ ชั้น ประดับอยู่ซ้ายและขวา มีแพรแถบจารึกอักษรข้อความว่า “พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑”

พระราชพิธีสำคัญความหมายตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของ “ในหลวง” รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์

พระราชพิธีกาญจนาภิเษก

         พุทธศักราช 2539 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รัฐบาลและประชาชน จัดงานเฉลิมฉลอง พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” ชื่อการจัดงานว่า“งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี” กำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมฉลองระหว่างวันที่ 1มกราคม พุทธศักราช 2538 จนถึงวันที่ 31ธันวาคม พุทธศักราช 2539

         ตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ออกแบบโดย นางสาววิยะดา เจริญสุข (เป็นแบบตราที่ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์งานดังกล่าวโดยกรมศิลปากร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระบรมราชวินิจฉัยเพื่อแก้ไขปรับปรุงแบบตราเพิ่มเติม ก่อนพระราชทานพระบรมราชานุณาตให้ใช้ได้) ประกอบด้วย พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็นหลักสำคัญ มีตราพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ด้านบน เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีพานเครื่องสูง ๒ ชั้น ที่มักอยู่ในมโนภาพของผู้คนทั่วไป เมื่อนึกถึงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีช้าง ๒ เชือก เทินตราพระราชลัญจกร อยู่ภายใต้พระเศวตฉัตร

พระราชพิธีสำคัญความหมายตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของ “ในหลวง” รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์

พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

         พุทธศักราช 2549 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รัฐบาลและประชาชน จัดงานเฉลิมฉลอง พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปี” ชื่อการจัดงานว่า “งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี”กำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมฉลองระหว่างวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2548จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2549

ความหมายของตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

         อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ ขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทองบนพื้นสีน้ำเงินเจือทอง อันเป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์

          ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะ หมายความว่า เหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหาร ข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฏิบัติราชการอันสุจริตยิ่ง

            อนึ่ง อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. นี้ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎประพระอุณาโลม อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรีและพระแส้ขนหางจามรี ทอดสอดอยู่ในกงพระที่นั่งภัทรบิฐ  เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพระพัชนีฝักมะขามทอดสอดอยู่เบื้องขวาแห่งกงพระที่นั่งภัทรบิฐ อันประดิษฐานบนฐานเขียง ซึ่งทอดฉลองพระบาทประดิษฐานอยู่ เหล่านี้รวมเรียกว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยสิ่งอันแสดงความเป็นกษัตริย์ทั้ง ๕   คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ชัยศรี ๑ ธารพระกร ๑ พัดวาลวิชนีและพระแส้ ๑ ฉลองพระบาท ๑ หมายถึง ปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ถัดลงมาเป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทอง

            เขียนอักษรสีทอง ความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ ปลายแห่งแพรแถบผูกเป็นภาพกระบี่ เป็นวานรกายขาว มือถือก้านลายซุ้มอันเป็นกรอบลายของตราสัญลักษณ์อยู่ ด้านขวา ส่วนด้านซ้ายเป็นแพรแถบผูกเป็นภาพครุฑ เป็นครุฑหน้าขาวกายสีเสนปนทอง มือถือก้านลายกรอบแห่งตราสัญลักษณ์ พื้นภาพตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติทั้งหมดสีเขียวปนทอง อันหมายถึงสีอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงสีของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งผืนภูมิประเทศที่ทรงปกครองทำนุบำรุง อย่างหนักยิ่งมาตลอดระยะเวลาที่ครองสิริราชสมบัติมา

พระราชพิธีสำคัญความหมายตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของ “ในหลวง” รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์

ความหมายของตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี

          อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ขอบริมอักษรสีทองบนพื้นสีขาบเข้ม (น้ำเงินแก่) เป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายในกรอบลายทองปนนากมีลายเนื่องสีทองมากกว่า ๗๐ ดวง เป็นการถวายพระพร ให้ทรงสถิตดำรงในสิริราชสมบัติมากกว่าปีที่ ๗๐ ให้สถาพรโดยสวัสดีเป็นอเนกอนันต์ ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด .

            อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และกรอบลายทองปนนากนี้สถิตอยู่ภายใต้ พระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบพระอุณาโลมสีทอง แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้จามรีอยู่เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขาม อยู่เบื้องขวา มีฉลองพระบาททอดอยู่ที่ปลายพระแสงและธารพระกรนั้นเบื้องล่าง รวมเรียกว่าเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นนิมิตหมายแห่งการฉลองสิริราชสมบัติ ล่างลงมาเป็นแพรแถบสีหงชาด (ชมพู) ขลิบทอง เขียนอักษรสีทอง ความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ปลายด้านขวาของแพรแถบระบุ พ.ศ. ๒๔๘๙ อันเป็นปีที่ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปลายด้านซ้ายของแพรแถบระบุ พ.ศ. ๒๕๕๙ แสดง กาลเวลาที่ล่วงมา ๗๐ ปีตราบจนปัจจุบัน

พระราชพิธีสำคัญความหมายตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของ “ในหลวง” รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์

Source: http://www.lampang.go.th/king/symbol/http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9590000058413https://th.wikipedia.org/wiki/ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติ

cr. dichan.mthai.com

แชร์