โศกนาฏกรรมสู่วิบากกรรม!!!จากนิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"

ด้วยอารมณ์ชั่ววูบทำให้กระทำการมาตุฆาตมารดา เพียงแค่ว่า ก่องข้าวที่แม่เอามาส่งนั้นดูเหมือนจะน้อยไป แต่เมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวไม่หมดจึงได้สติสำนึกผิดที่ฆ่าแม่ตนเอง จึงสร้างธาตุก่องข้าวน้อย ขึ้นมา เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำ http://winne.ws/n11075

3.7 พัน ผู้เข้าชม
โศกนาฏกรรมสู่วิบากกรรม!!!จากนิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"

        "นิทาน”เป็นเรื่องที่เล่ากันมาจากบรรพบุรุษเพื่อใช้อบรมสั่งสอนบุตรหลาน หรือเพื่อความบันเทิงเริงใจเนื่องจากในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีเช่นในปัจจุบันเนื้อเรื่องที่เล่าอาจเป็นเรื่องที่เกิดจากประสบการณ์หรือจินตนาการของผู้เล่าเอง มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่แต่งขึ้นโดยประเด็นสำคัญก็คือ จุดมุ่งหมายในการให้คติสอนใจส่งเสริมการประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรมข้อต่างๆ เช่น นิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่ให้คติสอนใจเรื่องของการมีสติและความกตัญญูต่อบิดามารดา และความโกรธจนขาดสติที่นำพาสู่หายนะอันใหญ่หลวง

       โดยใจความสำคัญอย่างย่อของนิทานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ที่ถูกเล่าสืบต่อกันมามีดังนี้        หนุ่มชาวนาชื่อทอง(บางแห่งก็ไม่กล่าวถึงชื่อ) ทองออกไปทำนาตั้งแต่เช้าจนสาย แต่แม่ก็ยัง ไม่มาส่งข้าวสักที ทองหิวข้าวจนตาลายด้วยอารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำการมาตุฆาตมารดา ด้วยสาเหตุเพียงแค่ว่า ก่องข้าวที่แม่เอามาส่งนั้นดูเหมือนจะน้อยไป ไม่น่าจะพอกิน แต่เมื่อทองกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดทองจึงได้สติสำนึกผิดที่ฆ่าแม่ตนเอง จึงสร้างธาตุก่องข้าวน้อย ขึ้นมา เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำสาระสำคัญข้างต้นได้รับการเล่าขาน ด้วยบทประพันธ์ในลักษณะบทร้อยแก้ว ซึ่งมีการบรรยายเรื่องราวและมีบทบทสนทนาระหว่างตัวละครด้วย โดยการใช้บทสนทนาง่ายๆ เป็นภาษาอีสาน แต่บทสนทนาและรายละเอียดปลีกย่อยจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่นบ้างก็ว่า ทองใช้ผานไถตีแม่จนตาย บ้างก็ว่าใช้แอก๒ตีแม่บ้างก็ว่า ทองกระชากก่องข้าวแล้วแม่ล้มหัวฟาดพื้นตายเป็นต้น 

ซึ่งรายละเอียดของนิทานมีดังนี

             กาลครั้งหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมาณ บ้านตาดทอง เมื่อช่วงฤดูฝนมาเยือน ผู้คนก็เริ่มเตรียมตัวทำาไร่ทำนา เช่นเดียวกับครอบครัวของ “ทอง” ชายหนุ่มกำพร้าพ่ออาศัยอยู่กับแม่สองคน (บางแห่งก็ไม่ปรากฏชื่อนี้ เพียงแค่บอกว่า เป็นชายคนหนึ่งเท่านั้น) ซึ่งทองก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกับครอบครัวอื่นๆ

              กระทั่งวันหนึ่งที่ทองไถนาอยู่นานจนตะวันสายโด่งเขารู้สึกเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ทั้งยังหิวข้าวมากกว่าทุกๆ วัน เพราะปกติแล้วแม่จะมาส่งข้าวเร็วกว่านี้ แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติ ทองจึงหยุดไถนาและมาพักเหนื่อยอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยให้เจ้าทุยกินหญ้าไป

             สายตาของทองก็เหม่อมองไปทางบ้าน รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันก็ขึ้นสูง แดดก็ยิ่งร้อน ทำให้ความหิวกระหายของทองยิ่งทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ 

             หลังจากเหม่อมองทางอยู่นาน พอทองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนาพร้อมก่องข้าวน้อยๆ ห้อยต่องแต่งอยู่ที่ไม้คาน เขาก็รู้สึกไม่พอใจที่แม่มาช้า อีกทั้งก่องข้าวที่นำมาดูเหมือนจะกินไม่อิ่ม ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน ทองคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่ จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า

“อีแม่มัวไปทำอะไรอยู่จึงมาส่งข้าวให้ข้ากินช้านักก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อยๆ ข้าจะกินอิ่มหรือ” 

              ผู้เป็นแม่ก็เอ่ยปากตอบลูกว่า “ถึงก่องข้าวจะน้อยก็น้อยต้อนแต้นแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน” (ถึงแม้ก่องข้าวจะเล็กๆ อย่างนี้แต่ข้างในก่องข้าวนั้นอัดแน่นนะลูกลองกินดูก่อน) 

              แต่ด้วยความหิว ความเหน็ดเหนื่อย บวกกับความโมโหจนหูอื้อตาลาย ทองจึงไม่ยอมฟังเสียงใดๆ กระทั่งเกิดบันดาลโทสะอย่างแรง คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลงแล้วก็เดินไปกินข้าว (เหตุการณ์นี้มีการเล่าแตกต่างกันหลายแบบ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)

              เมื่อกินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวก็ยังไม่หมด ด้วยความที่แม่อัดข้าวมาแน่นก่องข้าวน้อย ทองจึงรู้สึกผิดชอบชั่วดีเมื่อคิดได้ดังนี้จึงรีบวิ่งไปดูอาการของแม่และเข้าสวมกอดแม่แต่อนิจจา แม่ได้สิ้นใจไปเสียแล้ว

              ทองร้องไห้สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ เขาไม่รู้จะทำประการใดดีจึงเข้าไปกราบ นมัสการสมภารวัด แล้วเล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด สมภารก็เลยสอนว่า

 “การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้นเป็นบาปหนัก เป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจีตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อรวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง”

              เมื่อทองปลงศพแม่แล้ว เขาก็ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านให้มาช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ และมีคนเรียกขานชื่อว่า “ธาตุก่องข้าวน้อย” บ้างก็ว่า “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จนตราบทุกวันนี้

๑. ธาตุก่องข้าวน้อย บ้านตาดทอง

๒. ธาตุก่องข้าวน้อย บ้านสะเดา

๓. รูปปั้นของทองและแม่ภายในบริเวณธาตุก่องข้าวน้อย บ้านสะเดา

โศกนาฏกรรมสู่วิบากกรรม!!!จากนิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"

จากเรื่องเล่าสู่โบราณสถาน

              เบื้องต้นนั้นเป็นเรื่องราวที่เล่าต่อๆ กันมา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากปรากฏธาตุก่องข้าวน้อยอยู่๒ แห่งใกล้กัน  และต่างก็อ้างถึงตำนานนิทานเรื่องเดียวกัน

              ธาตุแห่งแรกตั้งอยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง   อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร (คาดว่า ตัวเอกที่ชื่อ ทอง นั้นตั้งให้เข้ากันกับชื่อสถานที่) เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๕ ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป   คือ มีลักษณะเป็นก่องข้าวองค์ธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๒ เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ ๑ เมตร ช่วงกลางขององค์ธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้ง     สี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน

              ส่วนยอดรอบนอกของธาตุก่องข้าวน้อยจะมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด ๕ คูณ ๕ เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังธาตุยังมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงนำ้ พระและปิดทอง นอกจากนี้ที่บริเวณบ้านตาดทองทางกรมศิลปากรก็ได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก็ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียงด้วย

              แต่ถัดไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตรนั้นก็มีธาตุก่องข้าวน้อยอยู่เช่นกัน ธาตุนี้อยู่ที่บ้านสะเดา ตำบลตาดทองเหมือนกัน เป็นเจดีย์แบบล้านช้างในลักษณะกู่อิฐมากกว่าสร้างขนาดเท่ากับ   พระธาตุบริวารของพระธาตุที่บ้านตาดทองเจดีย์แห่งนี้มีรูปทรงแปดเหลี่ยมมีฐานเอวขัน คือ  ฐานบัวปากพานหรือปากขัน ตรงกลางเป็นหน้ากระดานคอดเล็ก 

โศกนาฏกรรมสู่วิบากกรรม!!!จากนิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"

ตำนานและการเรียนรู้

              นอกจากเรื่องเล่าในลักษณะปากต่อปากแล้วนิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ยังมีการนำเสนอในรูปแบบอื่นๆเช่น หมอลำ เทศน์แหล่ และภาพยนตร์ เป็นต้น โดยรูปแบบดังกล่าวส่งผลให้เกิดการต่อเติมเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบที่จะนำเสนอไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มบทกลอนบทสนทนา การบรรยายต่างๆ ทำให้เรื่องเล่าเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่มีหลากหลายในปัจจุบัน

              แต่อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องเล่าในนิทานก่องข้าวน้อยนั้น มุ่งเน้นไปที่การมีสติ สอนให้คนมีความยับยั้งในอารมณ์ หากขาดสติยั้งคิดจะทำให้เกิดการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ดังเช่นในนิทาน เมื่อเสียแม่ไป แม้จะสร้างธาตุใหญ่โตและสำนึกผิดตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ แม่ที่ตายไปแล้วก็ไม่อาจฟื้นคืน ซึ่งนอกจากคติเตือนใจแล้ว เรายังได้ เห็นถึงภาพความเป็นอยู่ของผู้คนชาวอีสานในสมัยก่อนจากการบรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพของ  ตัวละครสำคัญของเรื่อง

              ตราบจนทุกวันนี้ก็ยังมีผู้มากราบไหว้ธาตุก่องข้าวน้อยทั้งสองแห่งไม่ขาดสาย เพื่อขอขมาลาโทษเสมือนเป็นการไถ่บาปที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ บางคนเมื่อมีลูกแล้วถึงได้รับรู้ว่าแม่มีบุญคุณมากสุดเหลือคณานับ เพราะเพิ่งประจักษ์กับตัวว่า การเลี้ยงดูลูกนั้นยากหนักหนาขนาดไหน บ้างก็มากราบไหว้เพื่อรำลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็มี แม้จะเป็นเรื่องเล่าที่ผ่านมาเนิ่นนาน แต่ก็ยังสามารถเป็นคติเตือนใจลูกหลานได้ตราบจนปัจจุบัน


แชร์