อภินิหาร "หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร"
จริยาวัตรซึ่งลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านจนถึงบั้นปลายชีวิตได้บันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ภูไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางธุดงค์ http://winne.ws/n14234
พระครูธรรมานุกูล นามเดิมชื่อว่า (ภู จนฺทเกสโร) เกิดที่หมู่บ้านตำบลวังหิน อำเภอเมืองจังหวัดตาก ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓
พระครูธรรมานุกูล นามเดิมชื่อว่า ภู เกิดที่หมู่บ้านตำบลวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดตาก ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ ตรงกับปีขาลโดยบิดามีนามว่า นายคง โยมมารดามีนามว่า นางอยู่ พออายุได้ ๙ขวบ บิดามารดาได้พาไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าคอย ได้ศึกษาเล่าเรียกอักขระสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทย กับท่านอาจารย์ วัดท่าแคจนกระทั่งอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ พัทธสีมา วัดท่าคอย โดยมี พระอาจารย์อ้น วัดท่าคอย เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มา วัดน้ำหัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายานามทางพระว่า "จนฺทสโร"
ท่านได้มรณภาพลงเมื่อ วันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ตรงกับวันขึ้น๑๓ ค่ำเดือน ๖ ปีระกา เวลา ๐๑.๑๕ น. รวมสิริอายุได้ ๑๐๔ ปี ๘๓ พรรษานับว่าท่านได้ยกเป็นพระครูกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓จนถึงวันมรณภาพเป็นเวลา ๑๓ ปี
จากบันทึก จริยาวัตร ของหลวงปู่ภู
จริยาวัตรซึ่งลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านจนถึงบั้นปลายชีวิตได้บันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ภูไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางธุดงค์และการสร้างอิทธิวัตถุมงคลต่างๆ ของท่านไว้สมบูรณ์ที่สุดผมจะขอนำมากล่าวไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ท่าน ณ ที่นี้
การถือธุดงค์เป็นกิจวัตร
สมัยที่หลวงปู่ยังแข็งแรงดีท่านจะถือธุดงค์วัตรมาโดยตลอด พอออกพรรษาท่านจะออกรุกขมูลมิได้ขาดท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังเสมอว่า
ได้ร่วมเดินธุดงค์ไปกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)เป็นบางครั้งบางคราว
บางทีท่านออกธุดงค์ก็มีพระภิกษุติดตามด้วยท่านได้เล่าให้ฟังว่า ถึงเรื่องแปลกๆที่ด้ออกรุกขมูลไปตามป่าเขามากมายหลายเรื่องซึ่งล้วนแล้วแต่ตื่นเต้นน่าอ่านมาก
ผจญจระเข้
ในสมัยที่เดินธุดงค์มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านได้ปักกลดพักอยู่ใกล้บึงใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้บริเวณนั้นมี
หมู่บ้านเล็กๆ ที่ชาวบ้านปลูกอาศัยอยู่ ๒-๓ หลัง ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยงวันอากาศร้อนอบอ้าว ท่านจึงได้ผลัดผ้า-อาบ และลงสรงน้ำในบึงใหญ่
พอดีชาวบ้านแถบนั้นเห็นเข้าจึงได้ร้องตะโกนบอกท่านว่า "หลวงตาอย่าลงไป มีจระเข้ดุ"
แต่ท่านมิได้สนใจ ในคำร้องเตือนของชาวบ้านท่านกลับเดินลงสรงน้ำในบึงอย่างสบายใจ
ในขณะที่กำลังสรงน้ำอยู่นั้นท่านได้แลเห็นพรายน้ำเป็นฟองขึ้นเบื้องหน้ามากมายผิดปกติ
เมื่อได้เพ็งแลไปจึงได้เห็นหัวจระเข้โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำห่างจากตัวท่านประมาณ ๓ วา
พร้อมกันนั้นเจ้าจระเข้ยักษ์มันหันหัวมุ่งตรงรี่มาหาท่าน แต่ท่านก็มิได้แสดงกิริยาหวาดวิตกแต่ประการใดไม่
กลับยืนสงบตั้งจิตอธิษฐานเจริญภาวนาจนจระเข้ว่ายมาถึงตัวท่าน
พร้อมกับเอาปากมาดุนที่สีข้างของท่านทั้งด้านซ้ายและด้านขวาข้างละ ๓ ครั้ง แล้วก็ว่ายออกไป มิได้ทำร้ายท่าน
เรื่องนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์ต่อชาวบ้านที่ยืนดูอยู่บนฝั่งเมื่อท่านขึ้นจากน้ำชาวบ้านต่างบอกสมัครพรรคพวกเข้าไปกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก และได้ขอของดีจากท่านคือ ตะกรุด ท่านได้บอกกับลูกศิษย์ว่าในขณะที่เผชิญกับจระเข้ท่านได้เจริญภาวนา อรหัง เท่านั้น
เสือเลียศีรษะ
ท่านได้เล่าให้ฟังคราวที่เดินธุดงค์รอนแรมไปในป่าใหญ่เพียงองค์เดียวในขณะที่เดินอยู่กลางป่าขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายมากแล้ว พร้อมกับร่างกายเหนื่อยล้า อ่อนเพลียมากเพราะท่านออกเดินทางตั้งแต่เช้ายังมิได้หยุดพักเลย พอเห็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมทางเกวียนร่มรื่นดีจึงได้หยุดพักอยู่โคนต้นไม้นั้น บังเอิญเกิดเคลิ้มหลับไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้ปักกลดเพราะคิดว่าจะนั่งพักสักครู่พอหายเหนื่อยก็จะเดินทางต่อไป
ในขณะที่กำลังหลับเพลินอยู่นั้นก็มาสดุ้งตื่นอีกครั้ง เมื่อรู้สึกว่ามีอะไรมาเลียอยู่บนศีรษะของท่าน
ท่านจึงได้ผงกศีรษะขึ้นพร้อมกับหันหลังไปดูก็เห็นเสือลายพาดกลอนขนาดใหญ่ยาวประมาณ ๘ ศอก
ยืนผงาดอยู่แต่มิได้ทำร้ายประการใดพอเจ้าเสือลายพาดกลอน มันรู้ว่าสิ่งที่มันเลียอยู่นั้นรู้สึกตัวตื่นขึ้น
มันกลับเดินเลยไปเสียมิได้ทำร้าย ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังพร้อมกับหัวเราะหึ หึ ว่า
ตอนเสือมันเดินผ่านไปได้ยินเสียงข้อเท้าของมันดังเผาะๆ ในเวลาเดิน
ผจญงูยักษ์
เนื่องจากการเดินธุดงค์ของท่านออกจะแปลกสักหน่อย ตรงที่ไม่ค่อยเลือกเวลา เพราะว่าส่วนมากพระภิกษุองค์อื่นๆมักจะเดินกันตอนกลางวัน ก่อนตะวันตกดินถึงจะหาสถานที่ปักกลด ส่วนหลวงปู่ภู ท่านมิได้เดินเฉพาะกลางวันเท่านั้นตอนกลางคืนท่านก็ออกเดินด้วย เพราะท่านเชื่อมั่นในตัวเองอีกทั้งวิชาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมา ท่านก็ถือว่า สามารถคุ้มกายท่านได้
มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านได้ออกเดินธุดงค์ในเวลากลางคืนโดยอาศัยแสงจันทร์ เป็นเครื่องส่องนำทาง แต่ก็ไม่สว่างมากนักพอจะมองเห็นบ้างทั้งนี้ เพื่อจะมุ่งหน้าไปถึงหมู่บ้านตอนเช้า เพื่อรับบิณฑบาตการเดินทางกลางป่าดงดิบรกรุงรังไปด้วยแมกไม้นานาชนิดอีกทั้งเถาวัลย์ระแกะระกะเต็มไปหมด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อท่านนัก
ในขณะที่ท่านกำลังเดินผ่านสถานที่แห่งหนึ่งก็ได้ยินเสียงซู่ๆและเสียงใบไม้ดังกรอบแกลบคล้ายเสียงสัตว์เลื้อยคลานผ่านท่านก็หยุดเดินเพื่อดูให้แน่ว่าเป็นเสียงอะไร
พอท่านหยุดเดินเจ้างูยักษ์ก็โผล่หัวออกมาจากดงไม้ตัวโตเท่าโคนขาและตรงเข้ารัดลำตัวของท่านโดยรอบ
ท่านตั้งสติยืนตรงพร้อมกับเอากลดยันไว้มิได้ล้มลงเจ้างูยักษ์ยันพยายามจะฉกกัดใบหน้าของท่าน
แต่ท่านได้สติยืนนิ่งทำสมาธิจิตเจริญภาวนาอยู่ครู่หนึ่ง เจ้างูใหญ่ตัวนั้นมันก็คลายจากการรัดร่างของท่านแล้วเลื้อยเข้าป่ารกไปมิได้ทำอันตรายแก่ท่าน
ท่านออกบิณฑบาตทุกวัน ซึ่งถือเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์ที่พึงปฏิบัติทั้งๆที่ท่านไม่จำเป็นจะต้องออกก็ได้ เพราะเจ้าฟ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์พินิจได้จัดอาหารมาถวายทุกวันแต่ท่านก็ได้บอกว่า การออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นกิจของสงฆ์
ถึงแม้ตอนท่านชราภาพ ท่านก็มิได้ขาดจากการลงทำวัตร เว้นแต่ท่านอาพาธหนักจนลุกไม่ไหวท่านก็เจริญวิปัสสนาโดยการนอนภาวนา ซึ่งในพระธรรมวินัยได้กล่าวไว้เรื่องวิปัสสนากรรมฐานการปฏิบัติด้วยอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอนก็ปฏิบัติได้ เป็นต้น
ท่านเคยเปิดก้นให้ลูกศิษย์ดู พร้อมกับถามลักษณะก้นของกูเป็นอย่างไรลูกศิษย์ก็ตอบว่า ก้นหลวงปู่ด้านเหมือนกับก้นของลิงหรือเสน ท่านจึงได้บอกว่า "ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ได้ดีแล้วจะดีเมื่อไหร่ คนที่เป็นอาจารย์เขา "จริง"อย่างเดียวไม่พอต้อง "จัง" ด้วย คือ ต้องทั้งจริงและจังควบคู่กันไป(ต้องรู้แจ้งแทงตลอด)
ทดสอบหมอ
มีอยู่คราวหนึ่งขณะนั้นท่านอารมณ์ดี จึงได้พูดกับศิษย์ว่า "เขาว่ามึงเป็นหมอหรือ"ศิษย์คนนั้นเป็นนายแพทย์ได้ตอบท่านว่า "พอมีความรู้"ท่านก็ถามต่อไปว่า"มึงตรวจลมกูได้ไหม" ศิษย์ก็ตอบว่า "ได้"
ท่านจึงนอนลงพิงหมอนขวานแล้วบอกให้ศิษย์ตรวจลมหมอคนนั้นได้เอามือจับชีพจรด้ายซ้ายแต่ไม่พบ
เพื่อจับเหนือสะดือก็ไม่พบจนเวลาล่วงไปประมาณ ๒๐ นาทีก็ยังตรวจไม่พบ
ท่านจึงสะบัดมือพร้อมกับพูดว่า "ยังไงมึงตรวจลมกูได้ไหม" ศิษย์ก็ตอบว่าตรวจไม่พบ ท่านจึงบอกว่า"ยังงั้นมึงก็หมอลากข้างนี่แหละเขาเรียกว่า ลมกองละเอียด เขาทำให้เดินตามผิวหนังเท่านั้นมันยากหรือง่ายวะ"
หลวงปู่ภูมีเมตตาสูง
แม้แต่สัตว์ทุกชนิดยังไม่เกรงกลัวแต่ละตัวเชื่องมาก ในสมัยท่านมีชีวิตอยู่ จะมีอีกาบินมาเกาะต้นพิกุลตอนเช้าพอท่านฉันจังหันเสร็จ มันก็จะบินมาเกาที่หน้าต่างกุฏิ
ท่านจะปั้นข้าวสุกเสกแล้วยื่นให้มันกินพอมันคาบข้าวสุกปั้นก้อนนั้น ท่านจะเอามือตบหัวมันเบาๆ แล้วมันก็จะบินออกไป เป็นเช่นนั้นอยู่ประจำ
ที่กุฏิของท่านจะมีไก่วัดมาอยู่บริเวณหน้ากุฏิท่านจำนวนมาก วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินมาหน้ากุฏิ ยืนดูลูกไก่ที่เพิ่งออกจากไข่ใหม่ๆท่านให้ศิษย์เอาข้าวสารมา ๑ กำมือ พร้อมกับโปรยให้ลูกไก่กินและยืนดูอยู่สักครู่แล้วจึงออกเดินพร้อมกับพูดว่า
"กูไปละนะ กุ๊กๆ"ลูกไก่กลับวิ่งตามท่าน
ท่านเห็นดังนั้นจึงพูดว่า"เจ้ามาตามกูทำไมไปอยู่กับแม่มึง" ลูกไก่ถึงได้วิ่งกลับไปอยู่กับแม่ไก่
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-poo/lp-poo-hist.htm
ได้อ่านชีวประวัติของท่านแล้ว เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นบุตรพระพุทธเจ้า ความเมตตา กรุณา ต่อสัตว์โลก ความกล้าหาญเกิดขึ้นจากการได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด การปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่พึงกระทำสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกท่าน
จะเห็นว่าคุณธรรม และคุณวิเศษ ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา สามารถทำอะไรที่เหนือมนุษย์ ท่านเหล่านี้จะไม่อวดอ้างว่าตนมีคุณวิเศษ แต่ผู้ใกล้ชิดเท่านั้นจะทราบ
คนทั่วไปจะไม่ทราบเลยว่าพระสงฆ์ท่านใดมีคุณธรรมคุณวิเศษ หากไปล่วงเกินท่านด้วยกาย วาจา ใจ เข้า ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ของท่าน ที่ไม่คิดร้ายกับใคร และมีเมตตาต่อสัตว์โลกทุกชีวิต จะมีผลมากต่อชีวิตในอนาคต ทั้งโลกนี้และโลกหน้า หาความเจริญได้ยาก