"ปัญหา" แก้ได้ด้วยวิธีใดรึครับ

เมื่อคนเรามีปัญหา จะมีหลักธรรมประการใดบ้าง ที่จะยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้หมดสิ้นไป โดยที่หลวงพ่อคิดว่าเป็นหลักธรรมที่จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีที่สุด http://winne.ws/n21193

802 ผู้เข้าชม
"ปัญหา" แก้ได้ด้วยวิธีใดรึครับ

ปัญหากับการแก้ไข

ถาม : เมื่อคนเรามีปัญหา จะมีหลักธรรมประการใดบ้าง ที่จะยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้หมดสิ้นไป โดยที่หลวงพ่อคิดว่าเป็นหลักธรรมที่จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีที่สุด ขอให้อธิบายโดยละเอียดด้วยครับ ?

 หลวงพ่อตอบ : เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็ตาม ขอให้ทราบไว้เลยว่าปัญหาต่างๆ เหล่านั้น โดยทั่วไปมักจะมีสาเหตุมาจาก

      ๑. เราผิดศีลไว้ในปัจจุบัน 

      ๒. เกิดจากการผิดศีลของเราในอดีต

      ๓. ความเป็นคนประมาทไม่รอบคอบ 

      ทั้ง ๓ ประเด็นนี้ เป็นประเด็นใหญ่ อาจจะมีประเด็นย่อยอีกก็ไม่มากนัก แต่จะเกิดจากประเด็นไหนก็ตาม ปัญหาเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว จะแก้ไขได้หรือไม่ อย่าเพิ่งไปคิด ให้คิดว่าเราจะไม่สร้างปัญหาต่อ

      เพราะฉะนั้น ศีลเราต้องแน่นเปรี๊ยะเลย ถ้ายังต้องทำมาหากินเป็นผู้ครองเรือนอยู่ ศีลจะต้องไม่ให้พลาด ถ้าเป็นพระภิกษุศีล ๒๒๗ จะต้องรักษาไว้ให้ดีเยี่ยม

       ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาเป็นแม่ชีศีล ๘ ของตัวต้องรักษาให้ดีเยี่ยมเสียก่อน คือมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมาก็ตาม ให้เช็คดูศีลของเราก่อนว่าดีแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ดีก็ไปทำให้ครบบริบูรณ์เสีย

      ถึงคราวจะแก้ปัญหาอะไรให้สำเร็จตลอดรอดฝั่ง ต้องปรับตัวของเราให้มีมาตรฐานก่อน 

     ไม่อย่างนั้นอุดรูนี้ก็จะไปรั่วรูโน้น อุดรูโน้นก็จะไปรั่วรูต่อๆ ไป แต่ว่าถ้าทันทีที่มีปัญหาเกิดขึ้น เรารีบปรับระดับความประพฤติของเราเสียก่อน

      การแก้ปัญหาต่างๆ จะง่ายเข้าเมื่อเรามีศีล ๕ ครบบริบูรณ์ดี 

     จากนั้นก็ดูหลักหรือวิธีการแก้เป็นกรณีๆ ไป เช่น ถ้าเป็นเรื่องของทรัพย์สมบัติ หรือเรื่องของผลประโยชน์จะต้องแก้ด้วยทาน 

       แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สมบัติ เป็นเรื่องของการกินใจกัน หรือความเข้าใจผิดกัน อย่างนี้ต้องแก้ที่ตัวเราเอง คือต้องฝึกตัวให้เป็นคนมีสัมมาคารวะ และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย 

       บางครั้งอาจจะต้องไปกราบกรานขอขมาลาโทษเขา มันก็ต้องยอมเพื่อให้ปัญหามันยุติ 

        ดูต่อไปอีก บางเรื่องเกิดเพราะความประมาทของเราเองไปล่วงเกินเขา ไปทำของเขาเสียหาย ในกรณีอย่างนี้ก็แก้ไข โดยชดใช้เขาไปตามสมควร

       แต่อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องเมื่อเป็นปัญหาขึ้นมาแล้วต้องหยุด อย่าเพิ่งไปทำอะไร นั่งสมาธิให้ใจสงบเสียก่อน เพื่อดูให้ถ่องแท้ว่าเป็นเรื่องอะไร แล้วสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร

       ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็อย่าเพิ่งไปลงมือแก้ไข ถ้าแน่ใจให้รีบแก้ไขทันที เวลาแก้ไขก็ทำด้วยความใจเย็น เรื่องบางอย่างแก้ไขไม่ได้ ได้แต่รอเวลา ก็ต้องอดทนไป

"ปัญหา" แก้ได้ด้วยวิธีใดรึครับ

 

 อย่างไรก็ตาม มีบทสวดอยู่บทหนึ่ง พระท่านสวดให้ฟังทุกวันอาทิตย์เลย พอถวายสังฆทานเสร็จ พระท่านจะสวดมนต์ ๒-๓ บท มีบทหนึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า "พาหุง" เราจึงเรียกกันง่ายๆว่าบทพาหุงคงจำได้

       บทพาหุงนี้กล่าวถึงวิธีแก้ปัญหา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาใช้มี ๘ ตอน แต่มี ๗ วิธี 

      คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเผชิญกับปัญหามากกว่าพวกเรา แต่พระองค์ก็สามารถแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปเป็นเปลาะๆ  ปัญหาใหญ่ๆ ที่พระองค์ทรงแก้ไขมา จนกระทั่งโบราณาอาจารย์ท่านต้องบันทึกไว้เป็นหลักฐาน คือ

       ๑. เมื่อทรงผจญกับพญามาร ที่ยกทัพมารังควานในวันจะตรัสรู้ พระองค์ทรงแก้ไขปัญหานี้ด้วยกำลังบารมี ๓๐ ทัศ ที่ได้อธิษฐานเอาทานบารมีที่ทรงสั่งสมการให้ทาน และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลมานับภพนับชาติไม่ถ้วนให้มาช่วย 

       ในกรณีอย่างพวกเรา ถ้าเจอปัญหาบางอย่างเจออุปสรรคหนักๆ บางทีก็ต้องแก้ด้วยการให้ทรัพย์สมบัติเหมือนกัน คือให้ทาน

        ๒. เมื่อทรงผจญกับอาฬวกยักษ์ พูดง่ายๆ เมื่อผจญกับคนมักโกรธ พระองค์ทรงแก้ด้วยขันติ คือความอดทน ยักษ์จะเอาอย่างไร จะยื่นข้อเสนออย่างไร ถ้าทนได้ทน ทนทำไป 

       จนในที่สุด ยักษ์ต้องยอมจำนน ลดทิฐิความกระด้างของตน มันคงคิดในใจว่า "แหม..พระองค์นี้ทนจริงๆ เราแกล้งซะแทบแย่ ยังทนเราได้อีก" เห็นใจกันแล้ว จึงได้คุยกันรู้เรื่อง 

      ผจญกับคนมักโกรธทำได้อย่างเดียว คือทน ทนแล้วค่อยไปหาช่องทางแก้ไขเอาข้างหน้า 

      ๓. เมื่อพระองค์ทรงเผชิญกับช้างตกมัน พูดง่ายๆ เอาชนะพวกบ้าดีเดือด พระองค์ก็ทรงแก้ด้วยการแผ่เมตตา เมื่อได้ซาบซึ้งในความเมตตาแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันได้เอง 

       ๔. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับองคุลีมาล ในกรณีนี้องคุลีมาลวิ่งไล่จะฆ่า พระองค์ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ ผสมกับเทศนาโวหาร 

      สำหรับพวกเรา ยังไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์เหมือนพระพุทธองค์ เจอนักฆ่าเข้าก็คงต้องอาศัยตำรวจ เอากฎหมายมาช่วยจัดการแทน

       ๕. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับการถูกใส่ร้าย ต่อหน้าคนจำนวนมาก วันนั้นพระองค์ทรงนั่งเทศน์อยู่ดีๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมากลางศาลา ใส่ความพระองค์ว่า ทำให้นางท้อง 

       ผู้หญิงคนนี้เป็นคนสวยประจำเมืองสาวัตถี ขณะที่ผู้คนจำนวนมากเขากำลังฟังเทศน์เพลินๆ แกลุกขึ้นกลางศาลาเลย " พระพุทธเจ้าข้า พระองค์น่ะ ดีแต่เทศน์สอนคนอื่นเท่านั้นแหละ ลูกเราในท้องนี้ไม่เหลียวแลเลย ทำอย่างไรล่ะ จะคลอดอยู่แล้ว "

        ในกรณีถูกใส่ร้ายเรื่องผู้หญิงนี้ พระองค์ทรงใช้ความสงบนิ่งเป็นการแก้ปัญหา 

     เรื่องบางเรื่องที่พระภิกษุก็ดี ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ดี ถ้าถูกกล่าวหาแล้วต้องเงียบ อย่าไปเถียง แต่ว่าให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ๒ เรื่องนี้คือ สติกับสตางค์

       เรื่องสตรี เมื่อเวลาพระภิกษุถูกกล่าวหาเรื่องผู้หญิงหรือเป็นผู้ใหญ่ถูกกล่าวหาเรื่องผู้หญิง คนทั่วไปมักจะเชื่อว่าผิดจริงไปแล้วตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์

        เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือเงียบรอวันเวลาพิสูจน์ความจริงกันในวันข้างหน้า

           เพราะไม่ช้าก็เร็วความจริงต้องปรากฏแน่นอน  

    เรื่องสตางค์ เป็นพระถูกใส่ความเรื่องโกงเงิน ก็ไม่รู้ว่าจะไปเถียงเขาอย่างไร เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ปุบปับโดนข้อหาคอรัปชั่นจะเถียงก็ยาก ก็ได้แต่เงียบ 

       แต่เงียบในที่นี้ ไม่ใช่เงียบยอมจำนน แต่เงียบตั้งหลัก ในพระพุทธศาสนาใช้คำว่าไม่สู้เงียบไว้ก่อน แต่ไม่หนี 

      ไม่สู้ ในที่นี้หมายถึงไม่ใส่ความเข้าหากัน

       ไม่หนี คืออย่าไปยอมแพ้อย่าไปยอมรับ

        แต่ว่าให้ทำความดีตามหน้าที่เรื่อยไป ระเบียบวินัยมีเท่าไหร่นำมาใช้ให้หมด งานมันจะช้าบ้างก็ต้องยอม ถ้าอย่างนี้เดี๋ยวก็ชนะ

         ๖. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับคนพูดกลับกลอก ประเภทนักโต้วาที ก็ทรงใช้ปัญญา แก้สถานการณ์เฉพาะหน้ากันไป

        ๗. ครั้งนี้ไม่ใช่พระองค์กระทำเอง แต่โปรดให้พระโมคคัลลาไปแทน ไปปราบสัตว์ที่มีพิษร้าย และเป็นสัมมาทิฏฐิ คือพญานาคชื่อนันโทปนันทะ ครั้งนี้ก็ต้องใช้อิทธิปาฏิหาริย์เหมือนกัน 

       ๘. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับพวกมิจฉาทิฏฐิ คือไปเจอท้าวพกาพรหมที่เป็นมิจฉาทิฐิจัดเข้าครั้งนี้ พระองค์ทรงใช้ปัญญาแก้ไขสถานการณ์อีกครั้ง 

         แต่เป็นปัญญาเบื้องสูงในพระพุทธศาสนา เพราะสู้กับระดับพระพรหม

    พวกเราเจออุปสรรคอะไรก็ไม่เกินนี้หรอก วิธีแก้ไขก็ถือหลักการตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็แล้วกัน 

       แต่ก่อนอื่นเลยให้สำรวจศีลของตัวเอง แล้วปรับปรุงศีล ปรับปรุงความประพฤติของเราให้ดีก่อน เมื่อศีลดี ความประพฤติดีแล้ว อย่างอื่นก็จะดีตามมา ถ้าศีลยังไม่ดี ยังใช้ไม่ได้หรอกนะ

Cr. Line@Life&Soul

แชร์